กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาท่ามกลางสถานการณ์ความไม่ปกติของสังคมไทย ก่อนที่รัฐบาลจะมีนโยบายทำเรื่องปรองดองและเน้นสวัสดิการสังคมเป็นวาระแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ร่วมกับภาคีหลายองค์กรดำเนินกระบวนการที่เรียกว่า “ประชาเสวนา” โดยสุ่มตัวแทนประชาชนคนธรรมดามาพูดคุยกันเรื่องสวัสดิการสังคมของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า และเชื่อว่าการมีสวัสดิการที่เหมาะสมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้งในสังคมได้
“รัฐสวัสดิการ ถ้าทำได้จริง ก็ยินดีจ่ายภาษีเพิ่ม” นี่คือเสียงสะท้อนจากตัวแทนประชาชนในวงประชาเสวนาทั้ง 14 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ น่าน ลำพูน กำแพงเพชร ภาคกลาง ปทุมธานี สระบุรี ระยอง กาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สุรินทร์ ขอนแก่น หนองคาย เลย ภาคใต้ ชุมพร กระบี่ สงขลา โดยมีการจัดลำดับความสำคัญสวัสดิการ 6 ประเภทที่ควรทำคือ การศึกษา การรักษาพยาบาล การพัฒนาทักษะแรงงาน สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ สวัสดิการสำหรับผู้ว่างงาน และสวัสดิการสำหรับผู้ด้อยโอกาส พร้อมเหตุผลประกอบ ผู้รับผิดชอบ และเงินที่ใช้ เป็นแนวทางการจัดสวัสดิการสังคมอย่างครบวงจรในสายตาประชาชน
น.ส.สุวรรณา ตุลยวศินพงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 โจทย์ใหญ่ คือ อยากรู้ว่าสวัสดิการสังคมในอีก 10 ปีข้างหน้าของคนไทยควรเป็นอย่างไร โดยใช้เครื่องมือของกระบวนการประชาเสวนา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเคยใช้ในการทำ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ หัวใจสำคัญของกระบวนการประชาเสวนา ประการแรกคือ การสุ่มหากลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนประชากรจังหวัดละ 50 คน กระจายตามโครงสร้างประชากรจริงทั้งในด้าน อายุ เพศ การศึกษา และอาชีพ ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นตัวแทน “ชาวบ้านธรรมดา” จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ในจังหวัดเดียวกันแต่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ประการที่สอง เป็นข้อแตกต่างของกระบวนการประชาเสวนาเมื่อเปรียบเทียบกับการสอบถามทัศนคติหรือการทำโพลทั่วไปคือ ต้องมีการให้ข้อมูลพื้นฐานที่ “ไม่มีอคติลำเอียง” ก่อนการเสวนา เช่น ในการเสวนาครั้งนี้ได้มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สวัสดิการที่คนไทยได้รับในปัจจุบัน และตัวอย่างการจัดสวัสดิการในประเทศต่างๆ โดยเลือกมา 3 แบบ คือ การจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย สวัสดิการที่จัดให้เฉพาะกลุ่มคนจน เช่นในสหรัฐอเมริกา และการจัดสวัสดิการให้ตามกลุ่มอาชีพ เช่น ประเทศเยอรมัน นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอทั้งข้อดีและข้อด้อยของระบบสวัสดิการดังกล่าวโดยให้น้ำหนักเท่าๆ กัน
เมื่อตัวแทนประชาชนได้รับข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเสวนาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการให้ตัวแทนประชาชนได้ใช้เวลาคิดไตร่ตรองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเสวนากลุ่มย่อย กลุ่มละ 10-12 คน โดยมีวิทยากรกระบวนการช่วยดำเนินการให้ตัวแทนประชาชนเกิดการแสดงความคิดเห็นในกลุ่มย่อยอย่างเท่าเทียมกัน เริ่มจากให้ผู้เข้าร่วมเสวนาเลือกว่าอยากจะพูดคุยสวัสดิการประเภทไหนก่อน โดยมีโจทย์ของการพูดคุยในแต่ละสวัสดิการคือ ทำไมต้องการสวัสดิการนั้น ใครเป็นคนทำ ทำอย่างไร ใช้เงินจากไหน เมื่อจบการเสวนาในกลุ่มย่อยแล้ว ทุกกลุ่มก็จะนำข้อสรุปมาเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้ง
ผลจากกระบวนการเสวนานี้ พบว่า ตัวแทนประชาชนให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการด้านการศึกษาให้ประชาชนทุกคนมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานของชีวิต และจะนำมาซึ่งโอกาสในด้านต่างๆ ที่จะทำให้มีชีวิตที่ดี ทั้งงาน สุขภาพ และมีเงินออมดูแลตัวเองเมื่อสูงวัยไม่ต้องพึ่งคนอื่นมากนัก ดังนั้น ถ้าการศึกษาดีก็จะมีผลต่อสวัสดิการอื่นๆ
“สิ่งที่น่าประทับใจคือ ชาวบ้านเลือกการศึกษามาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเห็นความสำคัญของการศึกษาว่าจะทำให้หลุดพ้นความยากจนได้ สมัยนี้ถ้าไม่จบปริญญาตรีก็หางานลำบาก หรือถ้าได้งานก็ไม่ดีเป็นลูกจ้างรายวัน สวัสดิการไม่ดี ฯลฯ นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านเขาเห็นและเป็นสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวัน และยังมองว่าเรื่องการศึกษาไม่ได้แค่เรื่องงบประมาณที่จัดให้ครอบคลุมทุกปี แต่เป็นเรื่องคุณภาพมาตรฐานของการศึกษาด้วยที่ต้องเท่ากัน ด้วยจึงแก้ปัญหาได้ ”
ทั้งนี้ตัวแทนประชาชนได้สะท้อนความต้องการโดยปรับปรุงจากปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ อยากให้รัฐเข้ามาดูแลให้ทุกคนมีการศึกษาพื้นฐานตั้งแต่ระดับอนุบาล — ม.6 สวัสดิการการศึกษาต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลักในการศึกษา เช่น ค่าเทอม ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ โดยผู้ปกครองออกเองบางส่วน ส่วนการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ยังมีความเห็นแตกต่างทั้งที่คิดว่าควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า กับกลุ่มที่เห็นว่าควรให้เฉพาะกลุ่มยากจนแต่เรียนดี อาจให้เฉพาะสาขาที่ขาดแคลน เช่น แพทย์ พยาบาล ฯลฯ เพื่อไม่ให้เด็กจบปริญญาตรีมาแล้วตกงาน เป็นปัญหาว่างงาน
อันดับสองคือ การรักษาพยาบาล เป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญของชีวิตเช่นเดียวกับการศึกษา รัฐควรเน้นเรื่องคุณภาพการรักษาพยาบาล ให้มีมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ดีและเพียงพอ พัฒนาแพทย์แผนไทยให้ความรู้แก่ชุมชนเพื่อที่ประชาชนจะดูแลกันเองได้ในกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง เช่น การออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้เป็นความร่วมมือกันของคนในชุมชนที่หลายอย่างประชาชนทำและดูแลกันเองได้ โดยไม่ต้องใช้เงินมาก
สำหรับสวัสดิการเรื่องอื่นๆ ซึ่งตัวแทนประชาชนให้ความสำคัญรองลงมาตามลำดับคือ การพัฒนาทักษะแรงงาน สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และผู้ด้อยโอกาส สาเหตุที่สวัสดิการเหล่านี้ถูกจัดลำดับรองลงมาเพราะตัวแทนประชาชนเห็นว่า หากรัฐบริหารจัดการสวัสดิการเรื่องการศึกษาและการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้มีปัญหาด้านอื่นๆน้อยลง และไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปแก้ไข โดยอันดับสาม การพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นสวัสดิการที่จัดให้คนวัยทำงาน ควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ปรับปรุงการจัดฝึกพัฒนาฝีมืออาชีพต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ การฝึกอาชีพบางอย่างอาจต้องทำเรื่องของการหาตลาดให้ด้วย เช่น การแปรรูปอาหารต่าง ๆ อันดับสี่ สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ควรปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า และควรมีมาตรการเสริมโดยส่งเสริมการออมในวัยทำงานให้มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมความอบอุ่นของครอบครัว ความกตัญญู การดูแลกันในชุมชน โดยมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ให้คนว่างงานในหมู่บ้านมาอบรมการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งก็เท่ากับแก้ปัญหาการว่างงานไปด้วย เป็นต้น
อันดับที่ห้า สวัสดิการสำหรับผู้ว่างงาน ควรมีการจัดระบบให้คนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมมีโอกาสเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น โดยรัฐเข้ามาร่วมสมทบจ่ายให้เช่นเดียวกับแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนอันดับสุดท้าย สวัสดิการสังคมสำหรับผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการ ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนไม่มากและหากทำสวัสดิการข้างต้นได้ดี ครอบครัวร่วมกับชุมชน ก็สามารถช่วยเหลือ ดูแลคนพิการเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ควรมีการดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น กลุ่มพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็ควรมีการจัดศูนย์รับเลี้ยงเด็กในชุมชน เพื่อช่วยให้พ่อแม่สามารถออกไปทำงานเลี้ยงดูครอบครัวได้
น.ส.สุวรรณา กล่าวต่ออีกว่า เมื่อถามว่าสวัสดิการเหล่านี้ใครจะเป็นคนทำ และใช้เงินจากไหน ตัวแทนประชาชนที่ร่วมเสวนาเสนอว่า งานบางส่วนที่มาจากนโยบายส่วนกลาง รัฐบาลกลางก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น ในเรื่องหลักสูตรการศึกษา การรักษาพยาบาล แต่คนลงมือปฏิบัติอยากให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีความใกล้ชิดประชาชนและเข้าใจความต้องการของท้องถิ่นดีกว่ารัฐบาลกลาง เงินที่ใช้ในการจัดสวัสดิการก็มาจากภาษี และมีหลายอย่างที่ให้ชุมชนจัดการได้เอง เช่น การทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ศูนย์เลี้ยงเด็ก ฯลฯ เป็นเรื่องของคนในชุมชนดูแลกัน นอกจากงประมาณที่เก็บจากภาษีแล้ว ก็ควรจะมีการออมในชุมชน และงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสมทบในการจัดสวัสดิการด้วย
นอกจากนี้ ในการเสวนายังเปิดให้ตัวแทนประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จาก 7% เป็น 10% เพื่อนำภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้นมาจัดสวัสดิการทั้ง 6 ประเภท ตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าหากรัฐสามารถจัดสวัสดิการทั้ง 6 ประเภทได้อย่างมีคุณภาพตามที่ประชาชนต้องการจริง พวกเขายินดีจ่ายภาษีเพิ่ม แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการรั่วไหลของงบประมาณหรือทุจริตคอรัปชั่น แต่ตัวแทนประชาชนบางส่วนก็เห็นว่าควรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% เฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เหล้า บุหรี่ และภาษีคนรวย (ที่ดิน มรดก) อีกส่วนหนึ่งเสนอว่า หากรัฐสามารถจัดการจัดเก็บภาษีให้ครบทุกคน จัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพและไม่รั่วไหล ก็น่าจะมีเงินพอจะมาทำสวัสดิการเหล่านี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีเพิ่ม เป็นต้น
น.ส.สุวรรณา กล่าวว่า จะเห็นว่ากระบวนการประชาเสวนาที่ให้ข้อมูลและเปิดให้ประชาชนได้มีเวลาไตร่ตรองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเอง ช่วยให้รัฐได้รับทราบข้อมูลความต้องการที่แท้จริงจากประชาชนเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคม และเห็นถึงความยินดีร่วมมือหรือแม้แต่การจ่ายภาษีเพิ่ม หากสวัสดิการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริง โดยผลที่ได้จากการประชาเสวนาดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้ภาครัฐเพื่อใช้พิจารณาประกอบการจัดทำแผนการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชนตามที่รัฐบาลได้มีการกำหนดให้สังคมสวัสดิการเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการกำหนดเป้าหมายให้ภายในปี 2560 จะให้ประชาชนได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าต่อไป.