กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--ธ.ทหารไทย
การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันมาเป็นระยะ 1 วันตามแผนปฏิรูปกรอบนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีผลบังคับใช้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบแรกในวันที่ 17 มกราคม 2550 ซึ่ง ณ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.90 เป็นอัตราที่สะท้อนการทำธุรกรรมในตลาดเงินและชี้นำอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ดังนั้น ฝ่ายวิจัย คาดว่า กนง. จะประกาศให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ในระดับเดิมที่ร้อยละ 5.0 ต่อไป แม้ว่าจะมีหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้
อัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2549 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.7 และ 2.3 ตามลำดับ และสำหรับในไตรมาสแรกของปี 2550 อัตราเงินเฟ้อน่าจะชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบเมื่อเทียบกับฐานที่สูงของปีก่อน อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันอาจผันผวนได้ หลังจากโอเปคประกาศลดกำลังการผลิตลงอีกครั้งเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2549 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550
เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลงในไตรมาสแรก จากเหตุการณ์การระเบิด 8 จุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจที่ดูสดใสขึ้นหลังปฏิรูปการปกครองเมื่อเดือนกันยายน 2549 เริ่มเผชิญกับปัจจัยลบใหม่ โดยส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้การลงทุนและการบริโภคขยายตัว ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่กนง.ให้น้ำหนักมากขึ้นในการประชุมรอบนี้
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯมีแนวโน้มทรงตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยตลาดแรงงานยังคงเติบโตค่อนข้างดี แม้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะชะลอลงมากก็ตาม
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น เป็นปัจจัยสนับสนุนให้กนง.สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ อย่างไรก็ตาม จากการออก มาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2549 ซึ่งประเมินว่ามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากการที่นักลงทุนมองว่าการลงทุนในประเทศไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น หรือมีต้นทุนค่าเสียโอกาสเพิ่มขึ้น ทำให้ลดสัดส่วนการลงทุนในไทย หรืออาจเปลี่ยนไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน และทำให้เงินลงทุนไหลเข้ามาน้อยลง การรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ แม้ว่าจะส่งผลดีต่อการบริโภคและการลงทุน แต่ก็ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯมีมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อปัญหาการเคลื่อนย้ายของเงินทุนให้มากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ การประชุมกนง.สำหรับไตรมาสแรกของปีนี้จะมีอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ กนง.จึงยังมีเวลาประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมาตรการต่างๆว่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากจนถึงขั้นที่ต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่น่ากดดัน กนง. ให้ต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมกราคม แม้จะมีประเด็นเรื่องเศรษฐกิจจะชะลอตัวก็ตาม ฝ่ายวิจัย จึงเชื่อว่าการที่กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ณ ระดับเดิมในการประชุมครั้งนี้ น่าจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า
สำหรับ อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะมีทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากไม่มีแรงกดดันจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กอปรกับคาดว่าความจำเป็นที่ต้องให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการขยายสินเชื่อยังคงมีอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายการควบคุมดูแลค่าเงินบาท รวมไปถึงการปรับปรุงพ.ร.บ.ธุรกิจของคนต่างด้าว อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องโดยรวมของประเทศให้ลดลงได้จากการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะต้องพึ่งแหล่งเงินทุนภายในประเทศมากขึ้น