จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า

ข่าวทั่วไป Monday August 2, 2010 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ และมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่หลงไปว่าอาการที่ตัวเองเป็นอยู่บ่อยๆ เป็นอาการของโรคที่ไม่ร้ายแรง เป็นเพราะมีกรดในกระเพาะมาก เป็นเพราะเพลียจากการหักโหมงาน กินยาขับลม ช่วยย่อย หรือพองานน้อยลงทุกอย่างก็จะดีไปเอง กว่าจะรู้ว่ามันเป็นอาการของโรคหัวใจ มันก็สายไปเสียแล้ว วิธีที่ดีที่สุดที่จะบอกให้ได้แน่นอนว่า อาการต่างๆ ที่น่าสงสัยนั้นเป็นอาการของโรคหัวใจหรือเปล่าก็คือการไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คให้แน่ วิธีการตรวจความผิดปกติของหัวใจทำได้หลายวิธี การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือที่เรียกว่า “EKG” เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจโดยจะมีรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจอาจเปลี่ยนแปลงไปตามความผิดปกติของหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจถือว่าเป็นการตรวจที่ง่าย และสะดวก ผู้รับการตรวจจะไม่เจ็บจากการตรวจ การตรวจทำได้โดยการวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจผ่านทางเอาสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่วางไว้ตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่บริเวณหน้าอก แขน และขา แล้วบันทึกกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้นลงบนกระดาษ ขั้นตอนการตรวจนี้ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที แต่บางที เราก็อาจจะไม่พบสิ่งผิดปกติในคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจบางชนิดได้ในการตรวจตามธรรมดา เนื่องจากถ้าหากหัวใจไม่ได้ทำงานหนักขึ้นการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจจะยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายต่อไป การบันทึกคลื่นไฟฟ้าชนิดติดตัว (Holter monitor) ในผู้ป่วยบางรายที่มารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วไม่พบความผิดปกติในขณะนั้น แต่ผู้ป่วยอาจจะยังมีอาการที่น่าสงสัยว่าหัวใจอาจมีความผิดปกติ แพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดติดตัว ซึ่งผู้รับการตรวจจะต้องนำเครื่องมือนี้พกติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทราบว่ากิจกรรมต่าง ๆ ใน 24 ชั่วโมง ของผู้รับการตรวจมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และเมื่อครบตามกำหนดเวลาจึงนำเทปที่บันทึกไว้มาแปรผล โดยเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ต่อไป วิธีนี้จะทำให้สามารถบันทึกคลื่นหัวใจของผู้ที่มารับการตรวจในช่วงเวลาต่างๆ กัน ในขณะที่มีกิจกรรมต่างๆ ตลอดวัน การตรวจสมรรถภาพหัวใจ (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจสมรรถภาพของหัวใจโดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เดินบนสายพานเลื่อนหรือปั่นจักรยาน เพื่อทดสอบว่าเมื่อหัวใจมีความต้องการในการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ออกกำลังกายและจะเกิดภาวะการขาดเลือดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากหากผู้ป่วยมีภาวะของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ ก็จะทำให้มีเลือดไปเลียงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ เมื่อต้องออกกำลังกาย และจะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป บางรายจะเกิดอาการเจ็บจุกแน่นหน้าอก และอาจเป็นอันตรายได้หากผู้ป่วยไม่ได้ทราบมาก่อนว่าเกิดจากโรคหัวใจ การตรวจเริ่มต้นด้วยการให้เดินบนสายพานโดยเริ่มจากช้าๆ แล้วเร่งความเร็วขึ้นจนได้ข้อมูลเพียงพอในการวินิจฉัย ใช้เวลาทดสอบประมาณ 30 นาที และควรงดอาหารก่อนการทดสอบประมาณ 1 — 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการจุกเสียด เวลาเดิน สวมเสื้อผ้า และรองเท้าที่สบายๆ การตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดใหญ่ด้วยเครื่อง ABI ตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดใหญ่ ช่วยบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติสามารถพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงรวมทั้งการบริการตรวจ ดัชนีการแข็งตัวของหลอดเลือด โดยใช้เครื่องวัด ABI (Ankle-Brachial Index) ซึ่งเป็นการวัดความผิดปกติของ หลอดเลือดด้วยการวัดแรงดันโลหิตตรงส่วนปลายขา เทียบสัดส่วนกับแรงดันโลหิตที่แขนข้างเดียวกัน ซึ่งเป็นการ บ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอัมพาต อัมพฤกษ์ได้ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) การตรวจหัวใจภายนอก โดยใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ช่วยในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง จะทำให้เห็นการเคลื่อนและการบีบตัวของหัวใจว่าปกติดีหรือไม่ ความเร็ว และความดันเลือดเป็นอย่างไร ตลอดจนตรวจดูความพิการของหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 20—30 นาที ทำให้ทราบถึงรูปร่างของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจ สามารถดูการเคลื่อนไหวของผนังหัวใจเปรียบเทียบกัน ทั้งขณะที่พักหรือนอนเฉยๆ กับขณะที่มีการออกกำลังกาย การตรวจวิธีนี้สามารถดูได้จากจอแสดงผล และบันทึกเก็บไว้เป็นรูปภาพได้ เพื่อการตรวจสอบต่อไปในอนาคตบางคนเรียกการตรวจวิธีนี้ว่า “ตรวจเอ็กโคหัวใจ” การตรวจด้วยเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้ในการตรวจ และแสดงภาพอวัยวะต่าง ๆ ได้ใกล้เคียง กับอวัยวะจริงมากที่สุดเพื่อช่วยวินิจฉัยโรค มีความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยโรค โดยการส่งผ่านคลื่นความถี่วิทยุไปยังผู้ป่วยอยู่ในอุโมงค์สนามแม่เหล็กแรงสูง ซึ่งไม่มีการใช้รังสีเอ๊กซ์ (X-Ray) หรือสารทึบรังสีประเภทไอโอดีนในการตรวจ MRI จะบอกความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ และสามารถใช้ดูเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจว่าอุดตันหรือไม่ การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ สำหรับผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือในการนอนนิ่ง ๆ ได้ดี นานประมาณ 30 — 90 นาที โดยขณะนอนตรวจต้องนอนนิ่ง ๆ และหายใจเป็นจังหวะตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ไม่เจ็บปวดขณะตรวจ การสวนตรวจหัวใจ(Coronary angiogram) แพทย์จะทำการตรวจหรือการฉีดสีโดยการใช้สายสวนขนาดเล็กผ่าศูนย์กลาง 2 มม. ใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดง อาจจะใส่จากบริเวณขาหนีบข้อพับแขนหรือข้อมือ ไปจนถึงจุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจทั้งซ้ายและขวา จากนั้นแพทย์จะใช้สารละลายทึบรังสีเอ็กซ์เรย์หรือที่เรียก “สี” ฉีดเข้าทางสายสวนนั้นไปที่หลอดเลือดโคโรนารี่ (ซึ่งก็คือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ) เพื่อตรวจสอบดูว่ามีการตีบแคบหรือตันของหลอดเลือดหรือไม่ ความรุนแรงมาก น้อย ขนาดไหน และที่ตำแหน่งใดบ้าง เกิดขึ้นที่เส้นเลือดกี่เส้น ล้วนเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที — 1 ชั่วโมง ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ 64 Slice เพื่อตรวจพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งสามารถตรวจหาปริมาณแคลเซียมหรือหินปูนที่เกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจ และสามารถตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ลักษณะทางกายภาพของหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจ ภาพที่ได้จะถูกประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ ชัดเจนและแม่นยำ ใช้เวลาตรวจเพียง 15-30 นาที ผู้รับการตรวจสามารถกลับบ้านได้ทันทีเมื่อทำการตรวจเสร็จ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ได้ http://www.ram-hosp.co.th/specialtyclinic_hearts.html (ตารางแพทย์) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2743-9999 โรงพยาบาลรามคำแหง
แท็ก โรคหัวใจ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ