กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--สสวท.
ผู้แทนประเทศไทยเดินทางไปแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ วันที่ 15-22 กรกฎาคม 2550 ณ เมืองซัสคาทูน ประเทศแคนาดา เที่ยวบินวันเดินทางไป TG 676 วันที่ 13 ก.ค. 2550 เวลา 7.30 น.โดยมีผู้แทนประเทศไทย จำนวน 4 คน ได้แก่ นายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
นายธนวัชร จีระตระกูล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นายธนา ศรีทองคำ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นายบุญสม อุรานุกูล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
คณะอาจารย์ผู้ควบคุมทีม ได้แก่ หัวหน้าทีม ผศ.ดร.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองหัวหน้าทีม ผศ. ดร. ศุภจิตรา ชัชวาลย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยหัวหน้าทีม ผศ.ดร. ปิติวงษ์ ตันติโชดก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผศ. ดร. ธีรพงษ์ บัวบูชา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้จัดการทีม นางสาววนิดา ธนประโยชน์ศักดิ์ สสวท.
นายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน (ปิงปอง) เล่าถึงการเตรียมตัวก่อนไปแข่งว่า ได้รักษาร่างกายให้แข็งแรง ฝึกสมาธิ เตรียมเนื้อหาให้กว้าง ๆ เข้าใจธรรมชาติ รักษาระดับอารมณ์ สติของตนที่ขึ้น ๆ ลง ๆ โดยฝึกให้มัน “นิ่ง” ให้ได้ ใช้ชีวิตให้มีความสุข รางวัลที่ต้องการคือการชนะตัวเองให้ได้ เพราะด้วยสถานการณ์ที่ค่อนข้างเสี่ยงในการไปแข่งนี้ คือ ดีใจมาก หรือเสียใจไปเลย ผมจึงตั้งเป้าว่าจะต้องชนะตัวเอง ไม่หลงไปตามความรู้สึกให้มากนัก อีกอย่างหนึ่งก็คือ อยากได้เหรียญทองครับ
ปิงปองบอกว่า สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการโอลิมปิกวิชาการ คือ การแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือและพักผ่อนให้พอดี ในเวลาที่งานเยอะมาก จัดระเบียบความคิดของตัวเองให้เป็นวิทยาศาสตร์ และมีเหตุผลเป็นขั้นตอน ได้เพื่อนที่สนใจสาขาวิชาเดียวกัน และต่างสาขาบ้างบางคน มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้ตลอดเวลา ได้ฝึกตั้งคำถามและหาคำตอบคำถามนั้นให้ได้อย่างมีลู่ทาง รับรู้ความรู้สึกเครียด สนุก เบื่อ ดีใจทั้ง 4 รส และเรียนรู้ที่จะไม่หลงกับมันให้นานไปนัก ได้เนื้อหาทางวิชาการและแล็ปที่หาไม่ได้อีกแล้วในระดับ ม. ปลาย
นายธนวัชร จีระตระกูล (อาร์ต) เล่าว่า ชีววิทยา เป็นวิชาที่กว้างมาก ตนเองนั้นชอบทฤษฎีมากกว่าแล็ป หลายคนอาจคิดว่าชีววิทยาเป็นวิชาท่องจำ แต่จริง ๆ แล้วในหลาย ๆ สาขา เช่น physiology Molecular Biology เป็นเนื้อหาที่ใช้ความคิดมาก รู้สึกสนุกที่ได้คิดตาม นอกจากนี้อาจารย์หลาย ๆ ท่านจะพยายามสอนเกี่ยวกับงานวิจัยที่นำมาซึ่งทฤษฎี ทำให้รู้สึกว่าเราควรจะคิดให้ได้อย่างเขาบ้าง มันดูท้าทายดีครับ
สำหรับการเตรียมตัวนั้น เตรียมตัวอย่างไรก็คงไม่มีวันหมด คงจะอ่านให้มากที่สุดจนถึงวันแข่งขันครับ ไม่ชอบตั้งความหวังในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ผมคิดว่าแค่ทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด เต็มความสามารถ แม้จะได้รางวัลอะไรก็ตาม ก็ภูมิใจแล้วครับ ทางบ้าน แม่กับพ่อจะบอกเสมอว่าได้รางวัลอะไรแม่กับพ่อก็ภูมิใจ ส่วนทางโรงเรียนก็ให้กำลังใจตลอด ไม่เคยกดดันและคาดหวังอะไร
นายธนา ศรีทองคำ (แสตมป์) เล่าถึงเคล็ดลับการเรียนว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพยายามเรียนให้เข้าใจหลักการพื้นฐานต่าง ๆ เป็นอันดับแรก แล้วจึงศึกษารายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมในภายหลัง เช่น ส่วนที่ใช้ความจำ หรือความรู้ระดับที่ยากขึ้น ไม่ควรเรียนโดยใช้การท่องจำเป็นพื้นฐาน และต้องอ่านหนังสือทบทวนหลาย ๆ รอบจะช่วยได้มากช่วงเวลาก่อนออกเดินทาง ได้อ่านหนังสือเพิ่มเติมมาก ทั้งบทเรียนที่เคยเรียนในค่าย และศึกษาความรู้อื่น ๆ เพิ่มเติม สำหรับนำไปแข่ง ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับ biotechnology ที่ทันสมัย สัญญากับตัวเองไว้ว่าจะพยายามอย่างเต็มที่ ส่วนความมั่นใจยังไม่มั่นใจมากนัก เนื่องจากอ่านหนังสือได้ไม่มากพอ และแคนาดาน่าจะเป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาก จึงคาดเดาข้อสอบลำบาก
นายบุญสม อุรานุกูล (ฮิม) กล่าวว่า ระหว่างแล็ปกับทฤษฎี ชอบแล็ปมากกว่า เพราะรู้สึกสนุก และดีที่ได้แก้ปัญหา ได้พยายามที่จะคิดลงมือทำจริง ๆ จนได้ผลที่สามารถแสดงให้เห็นด้วยตาของเราได้ และเป็นการนำความรู้ที่ได้จากภาคบรรยายมาใช้เป็นเครื่องมือที่ประกอบการคิดวิเคราะห์จนหาคำตอบออกมาได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ความรู้ในภาคบรรยายแน่นมากขึ้นไปอีก การทำแล็ปนี้นับว่าเป็นการฝึกการคิดด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่นำไปสู่คำตอบ ซึ่งท้าทายมากกว่าการทำโจทย์ หรือข้อสอบในกระดาษเพียงเท่านั้น
ทุกคนที่บุกบั่นมาถึงจุดนี้ ถ้าไม่หวังเหรียญทองก็นับว่าแปลก หวังที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย รวมไปถึงตนเองและครอบครัว แต่ที่คิดเอาไว้ว่าจะต้องทำให้ได้นั้นคือการทำความรู้จักกับเพื่อนชาวต่างประเทศ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของนักเรียนไทย เป็นผู้แทนของประเทศไทยในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และวัฒนธรรมที่ดีของไทย อยากให้ทุกคนเป็นกำลังใจ และอำนวยพรให้พวกเราประสบความสำเร็จครับ