กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--ก.ไอซีที
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึง การประชุม Expert Group Meeting on Atmospheric Effects : Ka Band Rain Attenuation Modeling; and Ionospheric Modeling through Study of Radio Wave Propagation and Solar Activity ว่า กระทรวงไอซีที และสำนักงานเลขาธิการ Asia Pacific Space Cooperation Organization (APSCO) ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Expert Group Meeting on Atmospheric Effects : Ka Band Rain Attenuation Modeling; and Ionospheric Modeling through Study of Radio Wave Propagation and Solar Activity ขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2553 ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการ Project Proposal on Research on Atmospheric Effects
“ในการประชุมฯ ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากประเทศภาคีสมาชิก APSCO จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ จีน อิหร่าน มองโกเลีย ปากีสถาน เปรู และไทย ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมฝ่ายไทย นั้นประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงไอซีที สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยจะร่วมกันหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ Research on Atmospheric Effects ในด้านต่างๆ อาทิ วัตถุประสงค์และขอบเขตการดำเนินโครงการ การออกแบบและ แนวทางการดำเนินโครงการ ต้นทุนการดำเนินโครงการ การมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิก และการแบ่งปันผลประโยชน์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านเทคโนโลยีอวกาศ และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศในด้านต่างๆ ตลอดจนสามารถพัฒนาองค์ความรู้เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในอนาคตต่อไป” นายสือ กล่าว
สำหรับโครงการ Research on Atmospheric Effects นี้ เป็นโครงการที่เกิดจากการประชุมคณะมนตรีขององค์การ APSCO ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2552 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่ประชุมพิจารณาเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีศักยภาพ จึงได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นแกนนำเพื่อศึกษาความเป็นไปได้โครงการฯ นี้ ซึ่งกระทรวงไอซีทีในฐานะหน่วยงานประสานงานกิจกรรมภายใต้องค์การ APSCO ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีในด้านกิจการอวกาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงได้ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการ APSCO เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของประเทศภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญา APSCO เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว