“กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ชวนคนไทย “รณรงค์ไทย ร่วมใจ ใช้ของแท้” สร้างจิตสำนึกไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ข่าวทั่วไป Monday August 2, 2010 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นับวันก็จะเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากเพลง หรือภาพยนตร์ ซีรีส์ต่างๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้อย่างง่ายๆ ทำให้บรรดาเจ้าของผลงาน หรือเจ้าของลิขสิทธ์ไม่เพียงแต่จะต้องสูญเสียรายได้ แต่ยังส่งผลกระทบให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานหมดกำลังใจอีกด้วย ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับชาติที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกัน “รณรงค์ไทย ร่วมใจ ใช้ของแท้” กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดงาน “รณรงค์ไทย ร่วมใจ ใช้ของแท้” ภายใต้โครงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ประจำปี 2553 ขึ้น เพื่อกระตุ้นปลูกจิตสำนึกให้คนไทยรู้จักหวงแหนในสิทธิของตนเอง และเคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ขาย และไม่ใช้สินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจัดขึ้น ณ พาร์คพารากอน ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในวันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม 2553 เวลา 16.00 — 22.00 น.โดยภายในงานจะประกอบ “โครงการส่งเสริมมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์” , งานเปิดตัวหนังสือ Creative KID เล่ม 2 และกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญา “IP IDOL” ชิงทุนการศึกษาจำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประกาศนียบัตร โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในงานครั้งนี้ พร้อมด้วย นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และนาวาตรี ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวรืแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA พร้อมปิดท้ายด้วยมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินอีกมากมาย อาทิ เชน — ธนา ลิมปยารยะ, หวาย — ปัญญริสา เธียรประสิทธิ์, 3.2.1 (กวิน - ป๊อปปี้ - ทีเจ), บอย AF 2 - พิษณุ นิ่มสกุล และ นัท AF 4 — ณัฐ ศักดาทร นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กำลังเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเห็นได้จากเพลง หรือภาพยนตร์ต่างๆ ที่สามารถ Copy แผ่น หรือดาวน์โหลดได้อย่างง่ายๆ และเหตุผลที่ทำให้มีการละเมิดในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากความ ก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการขาดจิตสำนึกของเยาวชนไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้บรรดาเจ้าของผลงานที่กว่าจะคิด และผลิตออกมา ไม่เพียงแต่จะสูญเสียรายได้มหาศาล ยังสูญเสียกำลังใจในการผลิตผลงานดีๆ อีกด้วย ซึ่งไม่เฉพาะเจ้าของผลงาน แต่ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัญหาระดับชาติ และด้วยเหตุผลนี้จึงเกิดเป็นงาน “รณรงค์ไทย ร่วมใจ ใช้ของแท้” ขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ประจำปี 2553 นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า โดยเนี้อหาภายในงาน “รณรงค์ไทย ร่วมใจ ใช้ของแท้” ในวันนี้ประกอบการเปิดตัวหนังสือ Creative KID เล่ม 2 การ์ตูนซีรี่ส์สอดแทรกความรู้เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งนำ “หนูแจ๋ว” ตัวการ์ตูนสุดฮิตในอดีตกลับมาสร้างสีสันอีกครั้ง ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและภาคส่วนต่างๆ เช่น เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม ซึ่งประกอบด้วยสมาคมการ์ตูนไทย สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก, สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่น และคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์, มูลนิธิฟื้นฟูเมือง, สมาคมเยาวชนกรุงเทพมหานคร และโครงการจัดตั้งสมาคมสื่อสร้างสรรค์พัฒนาสังคม โดยหนังสือจะไม่มีขาย ไม่มีวางจำหน่าย แต่มีไว้แจกฟรีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และอีกกิจกรรมภายในงานคือ กิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญา ในชื่อ “IP IDOL” ซึ่งในกิจกรรมนี้จะทำให้เด็กได้รับความรู้ในเรื่องของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันจะต้องเป็นนักเรียน และเยาวชน ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 หรือนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จัดแข่งขันขึ้นทั้งหมด 5 ครั้งใน ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อชิงทุนการศึกษาจำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประกาศนียบัตร โดยในครั้งนี้เป็นการแข่งขันครั้งที่ 4 เขตพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งผู้ชนะเลิศได้แก่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นาวาตรี ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวรืแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กล่าว ปัจจุบันบทบาทของซอฟต์แวร์ในภาคธุรกิจและบริการนั้นมีสูงขึ้นมากในปัจจุบัน แต่น่าเสียดายที่ขณะนี้ผู้ประกอบการวิชาชีพกฎหมายยังมีความรู้ ความเข้าใจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิตอลคอนเท้นท์น้อย ฉะนั้นการนำกฎหมายมาเพื่อส่งเสริมพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการนำมาใช้เพื่อคุ้มครอง และต่อยอดทางธุรกิจจะช่วยให้กลุ่มนักกฎหมายสามารถทำงานได้อย่างมีความรู้ความเข้าใจ อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ซึ่งคาดว่า “โครงการส่งเสริมมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์” นี้จะช่วยส่งเสริมให้ที่มีการนำกฏหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญานำมาใช้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และดิจิตอลคอนเท้นท์ สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ ขั้นตอนการขอจดทะเบียนคุ้มครองซอฟต์แวร์ได้อย่างดีขึ้น ส่วนนักร้องหนุ่มหล่ออารมณ์ดีสังกัด อาร์เอส หนุ่มเชน — ธนา ลิมปยารยะ (วงไนซ์ทูมีทยู) ซึ่งกำลังจะมีผลงานอัลบั้มเดียวในไม่ช้า กล่าวเพิ่มเติมว่า “เชนเชื่อว่ากิจกรรมนี้น่าจะช่วยให้หลายๆ คน ได้เห็นคุณค่าและเคารพในทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น เพราะปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นปัญหาใหญ่จริงๆ ครับ ในฐานะศิลปินเชนก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์ให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญในการเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น และเชนก็หวังว่าในอนาคตปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์คงจะลดลงไปเรื่อยๆ ครับ ถ้าทุกคนช่วยกันครับ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ