กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--กนป.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง(กนป.)ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะอนุกรรมการ กนป. ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ กล่าวว่า ขณะนี้มักจะมีความเข้าใจผิดว่า อาชีวศึกษาจะเป็นสาขาช่างอย่างเดียว แต่ที่จริงแล้ว อาชีวศึกษา ประกอบด้วย ผู้เรียนสายช่างกับผู้เรียนสายบริการหรือพาณิชยศาสตร์ ข้อมูลในปัจจุบันผู้เรียนสายบริการมีมากกว่าร้อยละ 50 และสัดส่วนอาชีวะสายช่างระหว่างรัฐกับเอกชนเป็น 70 : 30 ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ในจำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษา 1 ล้านคน เป็นผู้เรียนภาครัฐร้อยละ 70 หรือประมาณ 700,000 คน ภาคเอกชน ร้อยละ 30 ประมาณ 300,000 คน ในจำนวนผู้เรียนภาครัฐจะเป็นอาชีวศึกษาสาขาช่างร้อยละ 50 หรือประมาณ 350,000 คน ส่วนภาคเอกชน มีผู้เรียนอาชีวศึกษาสาขาช่าง ร้อยละ 30 หรือประมาณ 90,000 คน ดังนั้น ผู้เรียนอาชีวศึกษาสาขาช่าง รวมทั้งประเทศมีประมาณ 450,000 คน
ด้าน รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขยายสัดส่วนของผู้เรียนอาชีพกับสายสามัญจาก ร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 50 และในที่สุดให้ถึงร้อยละ 60 ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหลายประการ ได้แก่ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน ให้มองนักเรียนสายอาชีวศึกษาเป็นการศึกษาที่มีคุณค่ามีศักดิ์ศรีตอบสนองการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปกครอง ให้เห็นความสำคัญของการเรียนสายอาชีพ นอกจากนี้ต้องสนับสนุนให้นักเรียนมัธยมศึกษาคุ้นเคยกับการเรียนสายอาชีพด้วยการจัดหลักสูตรทางเลือกให้นักเรียน ต้องแก้ปัญหานักเรียนสายอาชีวะออกกลางคันให้ตรงจุดเพื่ออนาคตความก้าวหน้าของผู้เรียน
“จะต้องเร่งผลิตและพัฒนาครูสายอาชีวศึกษาซึ่งปัจจุบันขาดแคลนอยู่ประมาณ 15,000 คน และใช้ครูช่างอัตราจ้างมาช่วยในการเรียนการสอน แต่ก็ยังไม่เพียงพอและครูเหล่านี้ส่วนหนึ่ง “ล้าสมัย” ควรใช้วิธีการคัดเลือกผู้จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ว่างงานอยู่เกือบ 10,000 คน มาสนับสนุนเป็นครูสายช่างตามสาขาถนัด ขณะเดียวกันต้องมีการให้ทุนการศึกษาและมีระบบความก้าวหน้าในอาชีพที่แตกต่างไปจากเดิม ยกระดับคุณภาพครู “ล้าสมัย” โดยใช้สถาบันฝึกอบรมของอาชีวศึกษาที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ หรือร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นและส่วนกลางช่วยพัฒนาครูช่าง การเพิ่มจำนวนครูช่างเป็นเรื่องเร่งด่วนเนื่องจากการเพิ่มนักศึกษาอีก 500,000 คน ต้องการครูช่างเพิ่ม 20,000 คน ใน 4-5 ปีข้างหน้า” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว