กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--TCELS
TCELS ร่วมกับ ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ร่วมรณรงค์ทดแทนบุญคุณแม่ด้วยการ ดูแลสุขภาพแม่ตามหลักอายุรวัฒน์ “น.พ.กฤษดา” ยก 6 สุขภาพแม่ต้องแก้ไข เพื่ออายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี
นายสุริยัน ปานเพ็ง รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า เนื่องจากเดือนสิงหาคมเป็นเดือนแห่งการรำลึกถึงพระคุณแม่ TCELS จึงร่วมกับศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เชิญชวนลูก ๆ ทุกคนทดแทนบุญคุณแม่ด้วยการดูแลสุขภาพแม่ตามหลักเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ เพื่อให้คุณแม่มีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี และเราถือว่าเดือนสิงหาคมเป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นเท่านั้น การดูแลเอาใจใส่คุณแม่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างยั่งยืน
น.พ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ กล่าวว่า โดยปกติของสตรีที่มีบุตรแล้วจะต้องผ่อนงานของตัวเองลง เพราะธาตุสตรีและธาตุหนุ่มสาวลดลงเป็นเหตุให้คุณแม่รู้สึกว่าตัวเองแก่ชัดเจนหลังหมดประจำเดือน ซึ่งในระยะนี้หน้าที่ของลูกคือต้องหมั่นดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิด โดยยึด 6 สุขภาพแม่ต้องแก้ไขดังนี้คือ 1. ธาตุสตรีที่หมดไป ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายเพราะเป็นช่วงที่เข้าสู่วัยทอง สิ่งที่จะช่วยได้คือการเสริมฮอร์โมนด้วยการออกกำลังายสไตล์อายุรวัฒน์ และการเพิ่มอาหารบำรุงธาตุสตรี อาทิ ปลาทะเล เต้าหู้ ถั่วเหลืองและธัญพืชทั้งหลาย
2. ไขข้อที่เริ่มเสื่อม จาการลดต่ำลงของฮอร์โมนผสานกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทำให้ข้อเสื่อมเร็ว ส่วนกระดูกที่พรุนนั้นต้องให้คุณแม่วัดมวลกระดูกเป็นระยะ โดยเฉพาะข้อมือ บั้นเอว และต้นขา 3. ความเสื่อมของนิทรา คือมีอาการนอนไม่หลับวิธีแก้คืออย่านอนกลางวัน 4. ตรวจหามะเร็ง โดยเฉพาะเนื้อร้ายแถวมดลูกและหน้าอกที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อได้เวลาธาตุสตรีแปรปรวน โดยลูกต้องพาแม่ไปเช็คเลือดและฮอร์โมนเพื่อที่จะได้รู้แต่เนิ่น 5. เก็งโรควัยทอง โดยต้องรู้ว่าโรคความดัน เบาหวานและน้ำตาลนั้นอาจขึ้นได้สูงเมื่อเข้าสู่วัยทอง และ 6. ต้องคอยดูยา มียาและอาหารเสริมสารพัดชนิดซึ่งบางครั้งก็อาจจะเป็นพิษกันเองเช่นน้ำมันปลากับแอสไพรินใช้ร่วมกันทำให้เลือดซึมออกได้ง่าย ดังนั้นเวลาไปพบแพทย์ขอให้นำยาที่ใช้ไปให้แพทย์ดูด้วย
น.พ.กฤษดา กล่าวว่า ในฐานะเป็นลูกเช่นเดียวกับคนอื่น ขอยกตัวอย่างที่ตัวเองเลือกวิธีดูแลคุณแม่ 4 วิธีคือ คือ 1. การตรวจหาค่าชีวเคมีในเลือด พวกไขมัน ตับ ไต เก๊าท์ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด 2. การตรวจหาความเสี่ยงโรค เช่น แนวโน้มการเกิดโรคหัวใจ เนื้องอก มะเร็ง 3. ตรวจหาเสี่ยงมะเร็ง ตรวจได้ทั้งจากเลือด อัลตร้าซาวน์ ส่องกล้องและเข้าอุโมงค์ 4. ตรวจฮอร์โมนและวิตามิน จะได้รู้ว่าอาหารเสริมและฮอร์โมนที่กินเข้าไปนั้นเกินหรือขาดอย่างไร เพราะกินสิ่งใดเสริมโดยที่ยังไม่รู้เราอาจจะกำลังเอาพิษใส่ไปในร่างกายก็ได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-6445499 tcels