รมช. ศธ. กระตุ้นเด็กไทยรักเรียนวิทย์ ฝาก สสวท. เร่งขยายผลจับมืออุดมศึกษาปั้นครูเก่ง

ข่าวเทคโนโลยี Thursday May 3, 2007 10:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--สสวท.
รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ได้ให้นโยบายแก่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในโอกาสที่เดินทางมาเยี่ยมและพบปะผู้บริหาร สสวท. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสนั่น สุมิตร อาคารปฏิบัติการ สสวท. ว่า ปัจจุบันวัตถุดิบทั้งหลายไม่สำคัญเท่ากับความรู้ เพราะความรู้สามารถเพิ่มความมั่งคั่งของสังคมได้ ต่อให้ประเทศใดที่มีวัตถุดิบหรือทรัพยากรมากแต่มีความสามารถทางการผลิตต่ำก็ทำอะไรไม่ได้ ความสามารถทางการผลิตเหล่านี้มาจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนในเมืองไทยมีโอกาสทางการศึกษายังไม่เท่าเทียมกัน อุปกรณ์หรือทรัพยากรที่มีก็มีในเชิงปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ มาตรฐานของโลกต่ำลงเพราะเน้นปริมาณ ในส่วนของการจูงใจให้คนสนใจเรียนวิทยาศาสตร์นั้นส่วนหนึ่งก็คือค่าตอบแทนของคนที่จบวิทยาศาสตร์ในหน่วยงานของรัฐไม่ได้มากมายกว่าผู้ที่จบสาขาอื่นเท่าใดนัก อย่างเช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค่าตอบแทนในระดับเดียวกับอาจารย์สายอื่น ๆ
การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้คนรู้สาเหตุที่มาที่ไป มีความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อยากให้ สสวท. ช่วยผลักดันในเรื่องนี้ ให้เยาวชนและคนไทยใช้ความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างอย่างมีเหตุและผล คิดว่าสังคมควรจะดีกว่านี้เยอะ ซึ่งควรจะทำอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้สังคมไทยเราไม่ใช้ได้เหตุผลแต่ใช้อารมณ์ ความเชื่อ ความรู้สึก ตัดสินกันมากกว่า ซึ่งทำให้มีปัญหาสังคมอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ รมช. ศธ. ได้ฝากทิ้งท้ายให้ สสวท. จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ การให้โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมในการเป็นวิทยากรเพื่อขยายผลการอบรมครูให้แก่ สสวท. การเปิดพื้นที่เว็บบล็อกให้เยาวชนที่สนใจทางวิทยาศาสตร์มีพื้นที่แลกเปลี่ยนบทความ ความรู้และประสบการณ์ การใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีการศึกษาที่มีอยู่ให้คุ้มค่าโดยเฉพาะการอบรมครูทางไกล ETV และการใช้ทรัพยากรทางเทคโนโลยีการศึกษาของของกรมการศึกษานอกโรงเรียน รังสิตคลอง 6 อีกทั้งการสร้างเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์ที่มีฝีมือแบบล่าง สู่บนเพื่อให้ครูเก่ง ๆ ได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์และ ความรู้ และวิธีการสอนให้แก่เพื่อนครูด้วยกัน
“ปัญหาสำคัญของชาติในขณะนี้คือถ้านักเรียนสนใจเรียนวิทยาศาสตร์ ก็จะมีครูและนักวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น และเยาวชนก็จะมีความคิดที่เป็นเหตุผล สามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างเป็นกระบวนการ แต่ถ้าจะดึงดูดให้คนมาเรียนและประกอบอาชีพทางวิทยาศาสตร์ ก็ต้องสร้างแรงจูงใจ”
สินีนาฎ ทาบึงกาฬ
โทร. 0-2712-3604, 089-122-6513
โทรสาร 0-2392-3167

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ