กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--ปภ
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการรองรับแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553 — 2557 ในวันพุธที่4 สิงหาคม 2553 ณ ห้องภาณุรังษีบอลรูม โรงแรมรอยัลริเวอร์ เพื่อปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการฯ ให้มีความสมบูรณ์ รวมถึงเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการนำแผนปฏิบัติการฯ ไปดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดและแนวทางในการติดตามประเมินผลให้เป็นหลักเกณฑ์เดียวกัน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักด้านความปลอดภัย คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้จัดทำแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นแผนหลักในการดำเนินงานป้องกันอุบัติภัยของประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนฯ ดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 และมอบหมายให้ ปภ. เป็นผู้ประสานงานในการจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับแผนฯ ดังกล่าว ปภ. จึงได้ประสานให้ 134 หน่วยงานจัดทำแผนงาน โครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 - 2557 เพื่อให้การบริหารจัดการอุบัติภัยเป็นระบบ และมีมาตรฐานความปลอดภัยตามหลักสากล ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนฏิบัติการรองรับแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติพ.ศ.2553 — 2557 ในวันพุธที่ 4 สิงหาคม 2553 ณ ห้องภาณุรังษีบอลรูม โรงแรมรอยัลริเวอร์ เพื่อปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการฯ ให้มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติฯ รวมถึงเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการนำแผนปฏิบัติการฯ ไปบูรณาการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมกันกำหนดตัวชี้วัด ที่เป็นเครื่องมือบ่งบอกความสำเร็จของงาน และแนวทางในการติดตามประเมินผลให้เป็นหลักเกณฑ์เดียวกัน ทั้งนี้ ปภ. จะนำ ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เสนอคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 - 2557 ให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการเกิดอุบัติภัย และประชาชน มีความตระหนักด้านความปลอดภัย และมีวัฒนธรรมความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยฯ มีจุดเน้นสำคัญที่มุ่งเสริมสร้างการเรียนรู้ ความตระหนักและพฤติกรรมความปลอดภัยและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคมไทย โดยเน้นอุบัติภัย 4 ประเภทที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ อุบัติภัยทางจราจร อุบัติภัยจากการทำงาน อุบัติภัยในเคหสถาน และอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายและสารกัมมันตรังสี ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์หลัก 6 ด้าน ดังนี้ 1.ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการป้องกันอุบัติภัย 2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยี 3.ยุทธศาสตร์การเฝ้าระวังและเตือนภัย 4.ยุทธศาสตร์การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ 5.ยุทธศาสตร์การบังคับและปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ 6.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ ทั้งนี้ ปภ. จะบูรณาการกับทุกภาคส่วนแปลงร่างแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาคและประเทศ เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากอุบัติภัยอย่างมีประสิทธิภาพ