กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สสวท.
โป่งก้อนเส้า....ชื่อนี้อาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าใดนัก แต่สำหรับนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อาจเคยไปเที่ยวที่สวนป่าเจ็ดคต — โป่งก้อนเส้า ตำบลท่ามะปราง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มาบ้างแล้ว ที่นั่นมีทั้งน้ำตก อ่างเก็บน้ำ และมีสัตว์ป่ามากมาย เช่น เก้ง กวาง หมูป่า กระต่าย ไก่ป่า และนกนานาชนิด จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ที่มีใจรักในการผจญภัย จะได้ใช้พื้นที่โครงการในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชีวิตสัตว์หลายชนิด
และที่สำคัญ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำ “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโป่งก้อนเส้า” ร่วมกับ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระบุรี เขต 2 โดยมีที่ทำการอยู่ที่โรงเรียนวัดโป่งก้อนเส้า
ทั้งนี้ สสวท. ได้มุ่งพัฒนาเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบริเวณป่าโป่งก้อนเส้าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม คณิตศาสตร์ ศิลปะ สังคม เป็นต้น มีการพัฒนาคู่มือและบทปฎิบัติการเดินศึกษาธรรมชาติในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อฝึกอบรมครูให้สามารถใช้ป่าเป็นแหล่งการเรียนการสอนในเชิงบูรณาการวิชาการต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืนและมีประสิทธิภาพ
ซึ่ง สสวท. ได้จัดทำคู่มือครูระดับประถมศึกษา (ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6) และระดับมัธยมศึกษา (ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3) รวมทั้งบทปฏิบัติการประกอบการเดินศึกษาธรรมชาติสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแล้วเสร็จพร้อมใช้งาน
จากการสำรวจเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าโป่งก้อนเส้า พบว่าสภาพป่าเป็นป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น และป่าเบญจพรรณ มีป่าปลูก (ต้นสัก) อยู่ในช่วงแรกของเส้นทางและมีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด สถานที่ตั้งของศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ อยู่กลางหุบเขาของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และป่าสงวนแห่งชาติมวกเหล็ก-ทับกวางแปลง 2 มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่เข้ามาใช้บริการ เช่น ศาลาเอนกประสงค์ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านพัก และห้องประชุม
นางดวงสมร คล่องสารา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโป่งก้อนเส้ามีฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ชัดเจน เป็นการเรียนรู้จากธรรมชาติจริง ๆ ซึ่งช่วงเวลาที่เยาวชนเข้าไปศึกษาแต่ครั้งจะได้พบความแตกต่างกัน เพราะแต่ละช่วงฤดูกาลป่าก็จะเปลี่ยนสภาพไป ครั้งนี้เราไปเจอแมลงชนิดหนึ่ง ไปครั้งหน้าอาจไม่เหมือนเดิม ได้สังเกตความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และได้เกิดความตระหนักว่าทำอย่างไรถึงจะรักษาธรรมชาติไว้ได้อย่างยั่งยืน จึงอยากให้โรงเรียนหรือผู้ปกครองลองพาบุตรหลานเข้าไปศึกษาเรียนรู้ที่นั่น ซึ่งหากติดต่อล่วงหน้าจะมีมัคคุเทศก์น้อย....นักเรียนจากโรงเรียนวัดโป่งก้อนเส้า เป็นผู้นำทางพาไปศึกษาเรียนรู้”
ในเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาตินั้น สสวท. ได้แบ่งระดับชั้นเดินป่าเป็น 2 ช่วงชั้น ได้แก่ ช่วงชั้นที่ 2 (ป. 4 — ป. 6) และช่วงชั้นที่ 3 (ม. 1 — ม. 3) ตามเส้นทางเดินมีจุดศึกษาไว้เป็นระยะ
จุดศึกษาธรรมชาติสำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 (ป. 4 — ป. 6) มีทั้งหมด 7 จุดศึกษา มหัศจรรย์พรรณไม้ป่า ภูมิปัญญาสัตว์ตัวน้อย ชีวิตนับร้อยใต้กองใบไม้ผุ หินสลายกลายเป็นดิน ถิ่นกล้วยป่า หลากหลายชีวิตในธารา และเส้นทางกลับบ้าน
จุดศึกษาธรรมชาติสำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 (ม. 1 — ม. 3) มีทั้งหมด 10 จุดศึกษา ได้แก่ มหัศจรรย์พรรณไม้ป่า ภูมิปัญญาสัตว์ตัวน้อย ชีวิตนับร้อยใต้กองใบไม้ผุ หินสลายกลายเป็นดิน ถิ่นกล้วยป่า หลากหลายชีวิตในธารา เนินพฤกษา กวางนวดกายา แคมป์ฟื้นฟูป่า และลานแผ่เมตตา
ตลอดเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติซึ่งมีความยาวทั้งหมด 673 เมตรนั้น แต่ละจุดศึกษาจะมีสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจแตกต่างกัน มีความหลากหลายของพืชและสัตว์ มีพืชสมุนไพรที่น่าสนใจมากมาย เช่น กวาวเครือ กลิ้งกลางดง ม้ากระทืบโรง เป็นต้น และยังมีดอกไม้ที่แปลกและสวยงาม เช่น ต้นเข้าพรรษา ซึ่งมีดอกสีขาวและจะบานสะพรั่งเฉพาะในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี นอกจากนี้ยังมีลำธารไหลผ่าน ทำให้ผู้ที่ได้เข้ามาศึกษาได้พบความรู้และความมหัศจรรย์มากมาย
สำหรับการเตรียมตัวเดินทางไปศึกษาธรรมชาติสำหรับครูนั้น ควรจะศึกษาคู่มือครูและบทปฏิบัติการเดินป่าที่ สสวท. จัดทำขึ้นไว้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือที่จะใช้ในการศึกษาสำรวจ
การเดินทางจากกรุงเทพมหานครหรือจากจังหวัดอื่น ๆ ก่อนที่จะเข้าไปถึงป่าเจ็ดคต-โป่งก้อนเส้า นั้น เด็ก ๆ ก็ยังได้ผ่านแหล่งเรียนรู้อีกมากมายที่ผู้ปกครองหรือคุณครูสามารถอธิบายให้เด็ก ๆ ฟังเพื่อเสริมความรู้ได้ เช่น ภูเขาหินปูน เหมืองหิน โรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหิน เป็นต้น เพราะทุกสถานที่ที่ผ่าน ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองและคุณครูว่าจะนำความรู้ที่ ผ่านหู ผ่านตา มาถ่ายทอดแก่เด็ก ๆ ให้จดจำและเข้าใจได้อย่างไร
โรงเรียนวัดโป่งก้อนเส้านั้นได้มีการประสานงานกับ สสวท. มาโดยตลอดและมีการส่งบุคลากรไปอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับโครงการ GLOBE มีการพัฒนาหลักสูตร 8 สาระให้เน้นที่สิ่งแวดล้อมศึกษา มีการจัดทำหลักสูตรส่วนท้องถิ่นและนำกิจกรรมของโครงการ GLOBE บูรณาการเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน
นอกจากนั้นโรงเรียนวัดโป่งก้อนเส้า ได้ใช้สถานที่แห่งนี้ ศึกษาวิจัยสิ่งแวดล้อมในโครงการ GLOBE ของสสวท. ด้วย อ. วัชรินทร์ เสนาะเสียง โรงเรียนวัดโป่งก้อนเส้า ซึ่งเป็นครูแกนนำของ สสวท. เล่าว่า “จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะค้นหา (Inquiry) ตามแนวทางของ สสวท. พบว่า เกิดผลกับ นักเรียนและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติละแวกนี้ เพราะปัจจุบันเด็ก ๆ ไม่ล่า ไม่ค้า ไม่กินสัตว์ป่า และต่อต้านการทำลายป่า จึงรู้สึกภูมิใจมากที่สามารถปลูกจิตสำนึกให้เด็ก ๆ ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติในท้องถิ่น ของเขา”
เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโป่งก้อนเส้า จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของห้องเรียนธรรมชาติที่ให้เด็กไทยเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็งด้วยทักษะทางวิทยาศาสตร์และเข้มข้นด้วยจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม
ภายหลังจากที่ สสวท. ได้จัดทำเส้นทางเดินป่า ฯ นี้แล้วเสร็จก็ได้มีนักเรียนจากโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้ามาใช้บริการเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติจำนวนมาก อาทิ โรงเรียนทับกวาง 5 โรงเรียนโคกกรุง มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ฯลฯ
ผู้ปกครองที่สนใจพาน้อง ๆ หนู ๆ ไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติ หรือไปพักแรม หรือสถานศึกษาใด ที่สนใจจะจัดกิจกรรมที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโป่งก้อนเส้าก็สามารถติดต่อสอบถามข้อมูล เบื้องต้น และนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร. 036-340132 หรือคลิกไปดูในเว็บไซต์ www.ipst.ac.th/pongkonsao ซึ่ง สสวท. ได้จัดเตรียมคู่มือครูและเอกสารประกอบการเดินป่าไว้ให้ดาวน์โหลดฟรีในเว็บไซต์ดังกล่าวด้วย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net