กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
TMC จับมือ เทคโนโลยีราชมงคล ร่วมพัฒนางานซ่อมบำรุงเครื่องจักร มุ่งสร้างหลังบ้านอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อขับเคลื่อนศักยภาพการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือใน “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรอย่างเป็นระบบของอุตสาหกรรมไทย (Total Productivity Maintenance: TPM)” ระหว่างศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โดย ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดย รศ.ดวงสุดา เตโชติรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร เป็นผู้ให้การลงนาม
โดยการลงนามความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมในด้านงานบำรุงรักษาเครื่องจักรให้มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาอาจารย์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในเครือ ทั้ง 9 แห่งทั่วประเทศให้มีศักยภาพในการให้คำปรึกษาแนะนำงานบำรุงรักษาเครื่องจักรแก่ภาค อุตสาหกรรมได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยอาจารย์ นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญในด้านงานซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรในโครงการ TPM แล้ว จะเข้าไปขยาย การให้ความช่วยเหลือในด้านงานบำรุงรักษาเครื่องจักรแก่ภาคอุตสาหกรรมให้กับผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความแข็งแกร่งในงานบำรุงรักษาเครื่องจักร ได้แก่ การให้ความรู้ในงานซ่อมบำรุงเครื่องจักร การฝึกสอนให้ทราบถึงกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของเครื่องจักรอย่างถูกต้อง การแนะนำให้รู้จักชิ้นส่วนแต่ละชิ้นของเครื่องจักร ตลอดจนสามารถจัดทำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับโรงงานต่อไปได้
“การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตเครื่องจักรอันเปรียบเสมือนเป็นหลังบ้านที่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังขาดแคลนนั้น ทั้งที่ตามจริงแล้วเครื่องจักรเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญยิ่งที่จะผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้สามารถขับเคลื่อนศักยภาพการแข่งขัน ทั้งตลาดภายในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด และช่วยลดต้นทุนพร้อมเพิ่มผลผลิตได้”
ทั้งนี้ โครงการ TPM ริเริ่มจากการที่โครงการ ITAP ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ได้ให้การสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีแก่อุตสาหกรรมไทยในบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แล้วพบว่า มีบริษัทจำนวนมากที่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเลือกใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และเครื่องจักรไม่เหมาะสม ระบบการบริหารจัดการ การบริหาร การผลิต และการดูแลรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักรยังไม่ดีพอ การสูญเสียหรือใช้งานเครื่องจักรไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ปัญหาพื้นฐานที่มักถูกมองข้ามไป คือ งานบำรุงรักษาเครื่องจักร และจากกลไกการเข้าเยี่ยมและวินิจฉัยปัญหาที่โรงงาน ทำให้ทราบว่า บริษัทส่วนมากมักประสบปัญหางานบำรุงรักษาและการเพิ่มผลผลิต จากสาเหตุพื้นฐาน เช่น ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคนิคที่ถูกต้อง ไม่มีแผนกซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร หากแต่กรณีที่มีระบบที่มีอยู่ก็ยัง ไม่เหมาะสม รวมทั้งพนักงานไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนาความรู้และเทคนิค และขาดที่ปรึกษา ให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานแก่อุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงได้ริเริ่มโครงการ TPM ขึ้น สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความสนใจ เห็นความสำคัญ และมุ่งมั่นในการพัฒนางานซ่อมบำรุงเครื่องจักร สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โครงการ iTAP โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1367
เกี่ยวกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ Technology Management Center (TMC) จัดตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2548 ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภารกิจหลัก ที่สำคัญประกอบด้วย การจัดทำยุทธศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการสร้าง ความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์
อนึ่ง โครงการ iTAP เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบันมีเครือข่ายให้บริการอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการสนับสนุนการใช้ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเพื่อเข้าไปสำรวจและวิเคราะห์ความต้องการเบื้องต้น รวมทั้งเข้าไปจัดทำโครงการปรึกษาเชิงลึกเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและปรับปรุงการผลิต โดยมีกระบวนการทำงานที่ยืดหยุ่นสูงและมีบุคลากรที่เป็นหัวใจหลักในการดำเนินงาน คือ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี (Industrial Technology Advisor: ITA) จากเริ่มต้นเพียง 4 คน เพิ่มเป็น 35 คนในปัจจุบัน โดยได้ให้บริการแก่ SMEs ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 5,000 ราย
สอบถามเพิ่มเติม
งานประชาสัมพันธ์ TMC โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1478TMC
หรือคุณวีระวุฒิ (ไต๋) 081-454-5087, คุณชนานันท์ (ดี) 081-639-6122
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net