ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น” ที่ “A” และเพิ่มอันดับหุ้นกู้เป็น “A” จาก “A-”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 4, 2010 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทเป็นระดับ “A” จาก “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาเช่าโรงงานและคลังสินค้า และผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัท ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกด้วย ส่วนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้นั้นมีสาเหตุมาจากสัดส่วนหนี้เงินกู้มีประกันของบริษัทลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับชำระหนี้คืนของผู้ถือหุ้นกู้เมื่อเทียบกับเจ้าหนี้เงินกู้ที่มีประกัน แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าได้ต่อไป การฟื้นตัวที่มั่นคงในภาคอุตสาหกรรมหลักและการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกน่าจะเป็นแรงผลักดันให้ความต้องการเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้ามีเพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น เป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศ โดยก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าตั้งแต่ปี 2548 โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 มีโรงงานให้เช่าจำนวน 125 โรง และมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 22 แห่ง รวมเป็นพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 433,820 ตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลัก ๆ ของประเทศ รายได้ของบริษัทมาจากค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้าในสัดส่วน 25% ในขณะที่รายได้หลัก (65%) มาจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทเข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ โดยบริษัทมีรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจีสติคส์ (TLOGIS) ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2548 ถึง 2552 ณ เดือนพฤษภาคม 2553 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทยังคงเป็น บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (21.4%) กลุ่มผู้บริหารของบริษัท (10.6%) กองทุนเพื่อการร่วมลงทุน (5.9%) และกลุ่มซิตี้เรียลตี้ (5.4%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากการมีทีมงานก่อสร้างเป็นของตนเอง จากรายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่า ณ เดือนมีนาคม 2553 บริษัทและ TFUND มีส่วนแบ่งทางการตลาดของพื้นที่โรงงานให้เช่ารวม 71.2% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นเป็นอย่างมาก โดยคู่แข่งสำคัญประกอบด้วย บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (10.1%) บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (7.6%) บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (5.7%) รวมทั้ง บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมจำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล 1 (5.5%) ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในปี 2552 บริษัทมีรายได้ค่าเช่ารวมลดลงเล็กน้อยในระดับ 0.3% เป็น 809 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้จากการให้เช่าคลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นสามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงจากการให้เช่าโรงงาน ซึ่งส่งผลให้รายได้ค่าเช่ารวมในปี 2552 เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ส่วนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 บริษัทมีรายได้ค่าเช่ารวมเพิ่มขึ้น 5.5% เป็น 205 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการเช่ารวมปรับตัวดีขึ้นเป็น 79.8% ณ เดือนมีนาคม 2553 จาก 73.0% ณ เดือนธันวาคม 2552 ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของความต้องการเช่าพื้นที่โรงงาน นอกจากนี้ ในปี 2553 บริษัทยังวางแผนขายโรงงานให้เช่าพื้นที่รวม 90,000 ตร.ม. มูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาทให้แก่ TFUND ด้วย เนื่องจากผู้เช่าของบริษัทประมาณ 70% เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ดังนั้นจึงคาดว่าความต้องการพื้นที่โรงงานให้เช่าของบริษัทน่าจะเริ่มปรับตามการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของอุตสาหกรรมดังกล่าว ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 39.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิตก็เพิ่มขึ้นเป็น 71.8% จาก 61.6% ในปี 2552 นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ระดับ 86.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตยานยนต์ก็เพิ่มขึ้นเป็น 70.6% จาก 53.3% ในปี 2552 ทั้งนี้ กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยกระตุ้นความต้องการเช่าโรงงานและคลังสินค้าในไตรมาสถัด ๆ ไป ทริสเรทติ้งกล่าว บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (TICON) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A อันดับเครดิตตราสารหนี้: TCON109A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 เพิ่มเป็น A จาก A- TICON115A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 เพิ่มเป็น A จาก A- TICON118A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 เพิ่มเป็น A จาก A- TICON128A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 เพิ่มเป็น A จาก A- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ