กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สศอ.
สศอ.เผยครึ่งปีแรกภาคอุตฯ เดินเครื่องผลิตคึกคัก หนุนดัชนีอุตฯ พุ่งพรวด 24% กำลังการผลิต 62.9% ผู้ประกอบการหลายสาขาเล็งลงทุนเพิ่ม รับทิศทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ครึ่งปีแรกปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.1% เมี่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ ไตรมาตรที่ 4 ปี 2552 ที่ขยายตัว 11.5% (MPI Q1/2553 ขยายตัว 31.0% Q2/2553 ขยายตัว 17.7%) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตภาพรวมเฉลี่ย 62.9% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวได้เป็นอย่างดี หลายสาขาอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับที่อาจจะต้องเพิ่มการลงทุนในเครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ มิฉะนั้นอุตสาหกรรมจะไม่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ทันกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าจากการขยายตัวดังกล่าว สศอ.จึงได้มีการปรับประมาณการ การขยายตัวของ MPI ในปี 2553 อยู่ที่15-16% ซึ่วเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากที่ได้ประมาณการไว้เมื่อต้นปี
ขณะที่ MPI มิถุนายน 2553 ขยายตัว 14.34% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.6% ซึ่งเป็นไปตามทิศการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมไทย เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไทยสามารถรับคำสั่งซื้อได้จากทั่วโลก สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ทันต่อเวลา จึงเป็นที่มั่นใจของประเทศคู่ค้า
นางสุทธินีย์ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีแรกถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ แม้จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองแต่ภาคอุตสาหกรรมไทยก็สามารถฝ่าวิกฤตไปได้ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เช่น ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ก็ขยายตัวอย่างน่าพอใจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อุตสาหกรรมรถยนต์ ในครึ่งปีแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตรถยนต์ 769,082 คัน เพิ่มขึ้น 97.66% ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในรถยนต์ทุกประเภท โดยจำหน่ายในประเทศ 356,692 คัน เพิ่มขึ้น 54.13% และการส่งออก 418,178 คัน เพิ่มขึ้น 78.11% ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของโลกและของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับตลาดภายในประเทศได้รับผลดีจากการที่ค่ายรถยนต์ต่างมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถยนต์ประหยัดพลังงานสำหรับตลาดส่งออกผู้ประกอบการมีการปรับแผนการผลิต เพื่อรองรับตลาดส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น
ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 830,000 คัน เพิ่มขึ้น 36.00% จำหน่ายในประเทศประมาณ 343,000 คัน เพิ่มขึ้น 8.05% และส่งออกประมาณ 481,000 คัน เพิ่มขึ้น 59.92% โดยทั้งปีคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.6 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 60.10% จำหน่ายในประเทศประมาณ 700,000 คัน เพิ่มขึ้น 27.53% และส่งออกประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้น 68.05%
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในครึ่งแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้น 36.55% โดยเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออกของอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ ได้แก่ HDD ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากความต้องการของตลาดสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัว และตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่สั่งนำเข้าสินค้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการขยายตัวที่สูง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากฐานตัวเลขสถิติการส่งออกของปีก่อนค่อนข้างต่ำ
ส่วนแนวโน้มการผลิตในช่วงที่เหลือของปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 9.07% สินค้าที่มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ HDD และ IC เนื่องจากคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศ และตลาดในประเทศมีการขยายตัว โดยผู้ประกอบการพยายามที่จะเสนอสินค้าที่มีความทันสมัยให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้ออย่างหลากหลาย
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ครึ่งแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม โดยเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 12.2% , 6.4% และ 6.4% ตามลำดับ เป็นผลจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าขยายตัวต่อเนื่องนับแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยบวกเกิดมาจากที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกสิ่งทอภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ของอาเซียน เพื่อจะส่งต่อไปในหลายประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งนำเข้าสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำจากประเทศไทยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว
ส่วนแนวโน้มของปี 2553 คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3-7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากและโรงงานรับคำสั่งซื้อไว้เต็มแทบทุกโรงงาน สำหรับตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป(อียู) เป็นตลาดที่มียอดคำสั่งซื้อลดลง ขณะที่อาเซียนและจีน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีนจะเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ในอนาคตโดยลดบทบาทลงจากคู่แข่งของไทยมาจำหน่ายสินค้าไทยในประเทศมากขึ้น เพราะมีกำลังซื้อสูงอยู่แล้ว ส่วนอาเซียนเป็นตลาดที่ไทยควรจะนำสินค้าที่เน้นการออกแบบและเป็นแบรนด์ของไทยไปจำหน่าย ส่วนตลาดญี่ปุ่นผู้ประกอบการต้องการสินค้านวัตกรรมและสินค้าคุณภาพดีแต่มีราคาถูกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าแฟชั่นจะเป็นตลาดที่เป็นที่ต้องการมากกว่า
นอกจากนี้ นางสุทธินีย์ ยังได้สรุปภาพรวมภาพรวม MPI เดือนมิถุนายน 2553 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้
ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 194.39 เพิ่มขึ้น 14.34% จากระดับ 170.01 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 200.74 เพิ่มขึ้น 21.34% จากระดับ 165.44 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 121.97 เพิ่มขึ้น 9.69% จากระดับ 111.20 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 141.88 เพิ่มขึ้น 14.42% จากระดับ 124.00 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 182.52 เพิ่มขึ้น 3.28% จากระดับ 176.73 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.66%
INDEX อัตราการขยายตัว %
Q4/2552 Q1/2553 Q2/2553 ครึ่งปีแรก ปี 2553f
ดัชผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 11.5 31.0 17.7 24.1 15.0-16.0
อัตราการใช้กำลังการผลิต 61.1 62.9 62.7 62.9 63.0-64.0
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต
Index 2552 2553
มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย.
ดัชนีผลผลิต 170.14 167.78 169.36 186.59 180.19 180.37 194.66 179.62 183.31 211.73 179.34 184.94 194.39
อุตสาหกรรม
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) % 6.6 -1.3 0.8 10.1 -3.3 0.03 8.0 -7.9 2.0 15.6 -15.6 2.8 5.07
อัตราการ -6.8 -9.0 -8.6 1.0 -0.5 7.5 30.7 29.1 31.1 32.6 23.0 15.9 14.34
เปลี่ยนแปลง (YOY) %
อัตราการใช้ 55.7 57.0 57.2 60.1 61.0 60.3 61.8 60.4 60.6 67.9 57.9 64.0 65.66
กำลังการผลิต %
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม