กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สสวท.
จากการวิจัยและประเมินผลทางการศึกษาของโครงการ TIMSS, PISA และอีกหลายหน่วยงาน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและ นักเรียนไทยยังขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา
ดังนั้น สถาบันส่งเสริมการสอน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงได้พัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ หรือ ESS (Earth System Science) ขึ้นเป็นหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อช่วยยกระดับการศึกษาของนักเรียน ไทยด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ตลอดจนกระบวนการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาให้สูงขึ้น
หลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ เป็นหลักสูตรที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ ต่างๆ ของโลกในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ บรรยากาศ สิ่งปกคลุมดินและสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เข้าใจถึงรูปแบบความสัมพันธ์ ปรากฏการณ์ และแนวโน้มต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และมีผลต่อเนื่องมาถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ผ่านการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่าง นักเรียน ครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สสวท. ได้เดินทางไปติดตามผลโรงเรียนตามภูมิภาคต่างๆ ที่นำหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบไปใช้ โดยในส่วนของโรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำ จังหวัดระยอง นั้น คุณครูรุจิรา แฝงบุปผา เล่าถึง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่พบในชุมชนที่ตั้งของโรงเรียนว่า ชุมชนประสบปัญหามลพิษทางอากาศ เพราะเป็นชุมชนเมืองและมีโรงงงานอุตสาหกรรม น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้า และประชาชนมีการปล่อยสิ่งปฏิกูลลงสู่แหล่งน้ำ ป่าชายเลน มีการบุกรุกป่าโดยชาวบ้าน ทำให้ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตลดลง ซึ่งโรงเรียนได้ร่วมมือกับชุมชนและโรงงาน ในเรื่องของการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
โรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำได้ ใช้กระบวนการสืบเสาะหาความร้ โดยเริ่มจากการพานักเรียนออกไปเรียนร้สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น กระตุ้นให้นักเรียนศึกษาเรียนรู้และคิดวิเคราะห์โดยใช้คำถามเพื่อนำไปส่การเรียนร้ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆในสภาพแวดดล้อมธรรมชาติ ฝึกการใช้ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ใช้เครื่องมือตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ ความสำคัญ ปัญหา วิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่นของตน และได้ฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์
“สิ่งที่ประทับใจจากการนำหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบไปใช้ ทำให้ครูได้เห็นพัฒนาการของเด็กน้อย ๆ ที่เรียนค่อนข้างอ่อน แต่มีความสุขเมื่อได้ไปเรียนท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เป็นบ้านของนักเรียนเอง การออกไปเก็บข้อมูลและทำการศึกษาวิจัยภาคสนามนั้น ทุกคนเหนื่อย แต่ก็พยายามค่ะ” คุณครูรุจิรากล่าว
คุณครูรุจิรา ได้สรุปข้อคิดที่ได้จากการศึกษาความสัมพันธ์ของโลกทั้งระบบว่า เราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และการทิ้งขยะเพียงชิ้นเดียวของเรา ส่งผลกระทบถึงลูกหลานในอนาคต
ในส่วนของนักเรียนอย่าง เด็กชายเกษมศักดิ์ โฉมทอง (อาร์ม) ชั้น ป. 5/2 โรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำ ซึ่งบอกว่าชอบเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะได้ทดลองเรียนรู้นอกสถานที่ สนุกดี ได้ความรู้ โดยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบทำให้ตนเองสามารถเชื่อมโยงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตได้
เด็กหญิงปาริฉัตร ทิพย์ลม (กุ๊ก) ป. 5/2 โรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำ เล่าว่า ดีใจและสนุกสนาน ที่ได้เรียนรู้ ทดลองวิทยาศาสตร์ ทดสอบ หาคำตอบในสิ่งที่เราต้องการรู้ และได้ออกไปศึกษานอกสถานที่ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบทำให้เรานำไปใช้เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตในประจำวัน
เด็กหญิงสัญจิตา เดชพระ (ทราย) ป. 5/2 โรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำ เผยความรู้สึกว่า เรียนวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโลกทั้งระบบแล้วสนุก ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เช่น ปูก้ามดาบ หอยชนิดต่าง ๆ และศึกษาอื่น ๆ อีกหลายอย่าง
รูปแบบการจัดกิจกรรมในหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ จะส่งเสริมให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ เพื่อสืบเสาะหาความรู้ในสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น ทั้งดิน น้ำ อากาศ สิ่งปกคลุมดินและสิ่งมีชีวิตที่ ตนเองสนใจ โดยเน้นการสำรวจ การสังเกต การตั้งคำถามวิจัย การสืบค้นข้อมูล การตรวจวัด การ วิเคราะห์ การอภิปราย และสรุปผลเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบหลักของโลก (ดิน น้ำ อากาศ สิ่งปกคลุมดินและสิ่งมีชีวิต) และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนำไปสู่การวิจัยแบบนักวิทยาศาสตร์ สร้างความตระหนักช่วยกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งคอยเฝ้าระวังและแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ หลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ นี้เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 2 และ 3 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ซึ่งนักเรียนจะได้รับการพัฒนา องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนพัฒนา กระบวนการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล การคิดอย่างเป็นระบบและเป็นองค์รวม การ แก้ปัญหาและการตัดสินใจ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร และการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ จริงในชีวิตประจำวัน
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรดังกล่าว รวมทั้งดาวน์โหลด E-book และสื่อต่างๆ
ได้ที่เว็บไซต์ http://globethailand.ipst.ac.th/esscurriculum Email:globeproject@ipst.ac.th