กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--กทม.
(16 พ.ค.50) เวลา 18.00 น. ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงมาตรการป้องกันอันตรายจากกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ ห้องเย็น ก๊าซแอมโมเนียสะสม ทินเนอร์สะสม วัตถุอันตราย และก๊าซหุงต้ม เป็นต้น เนื่องจากเกิดเหตุรั่วไหลของสารและวัตถุอันตรายติดต่อกัน 2 ครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลและป้องกันภัยที่เกิดขึ้นต่อประชาชนกรุงเทพฯ จึงได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักอนามัย สำนักการโยธา กรมโรงงานและอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน จัดประชุมร่วมกันเพื่อให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมถึงขอบเขตหน้าที่และความซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงานในการกำกับดูแล เพื่อจะหารือถึงแนวทางการปฏิบัติ การกำหนดมาตรการต่างๆ ตลอดจนการตรวจสอบ และการวางแผนเชิงวิชาการร่วมกัน
รองผู้ว่าฯ วัลลภ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้ประกอบการกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกว่า 1,500 รายในกทม.นั้น จะจัดให้มีการประชุมชี้แจงเพื่อให้ทราบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสถานประกอบการของตนหากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ รวมถึงการรับผิดทางแพ่งและทางอาญา นอกจากนี้ยังต้องสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการด้วย ทั้งนี้หน่วยงานที่ดูแลจะต้องเข้าไปให้คำแนะนำช่วยเหลือ รวมถึงมีแผนในการป้องกันอุบัติภัย และซักซ้อมแผนปฏิบัติการร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ สถานประกอบการ และชุมชนข้างเคียงหากเกิดอุบัติภัยขึ้น สำหรับวันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.50) สำนักอนามัย สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโรงงานและอุตสาหกรรม จะร่วมกันตรวจโรงงานทำน้ำแข็ง ห้องเย็น และกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอื่นๆ ถึงความเสี่ยง รวมถึงโครงสร้างของอาคารสถานประกอบการเพื่อประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและประมวลข้อมูลทั้งหมดนำเข้าที่ประชุมในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากตรวจพบว่าสถานประกอบการใดไม่ถูกต้องหรือเป็นภัยต่อประชาชนจะสั่งถอนใบอนุญาตประกอบกิจการทันที