กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัว ของผู้ประกันตน นอกจากค่าบริการทางการแพทย์อัตรา 1,284 บาท/คน/ปี ยังมีค่าภาระเสี่ยง ค่าอัตราการใช้บริการและอื่นๆ รวมแล้วเฉลี่ยถึง 2,131 บาท/คน/ปี
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันสปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม ในอัตรา 1,284 บาท/คน/ปี และมีการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้แก่สถานพยาบาลนอกเหนือจากเงินเหมาจ่ายดังกล่าว ซึ่งได้แก่ ค่าบริการทางการแพทย์ตามภาระเสี่ยงในอัตรา 211 บาท ค่าอัตราการใช้บริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนเฉลี่ยคนละ 55 บาท อีกทั้งยังมีค่ารักษาพยาบาล โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ค่ายาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อ HIV อีกด้วย
นอกจากนี้ กรณีอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน บริการทันตกรรม ค่าคลอดบุตร และ ค่ารักษาพยาบาลกรณีทุพพลภาพ ผู้ประกันตนสามารถเบิกได้จากสปส.โดยตรงต่างหาก นอกเหนือจากค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายที่สปส.จ่ายให้แก่สถานพยาบาล ส่วนค่ารักษาพยาบาลในการปลูกถ่ายไขกระดูก การเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา การปลูกถ่ายไต การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวร ค่ายาสำหรับผู้ป่วย โรคไตวายระยะสุดท้ายที่มีภาวะโลหิตจาง โรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายได้โดยตรงจากสปส.
เมื่อรวมทุกรายการแล้ว สปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนโดยเฉลี่ยคนละ 2,131 บาท/คน/ปี ในขณะที่ค่าเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพหัวละ 2,100 บาท ประกอบด้วยบริการผู้ป่วยนอก บริการผู้ป่วยใน บริการส่งเสริมป้องกัน บริการอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน บริการที่มีค่าใช้จ่ายสูง บริการการแพทย์ฉุกเฉิน งบฟื้นฟูสมรรถนะ งบลงทุนเพื่อการทดแทน ซึ่งค่าเหมาจ่ายรายหัวดังกล่าวจะต้องมีการหักค่าแรงบุคลากรของสถานพยาบาลรัฐด้วยโดยเมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา สปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เป็นเงิน 16,246 ล้านบาท และในปี 2549 มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยสปส.จ่ายไปเป็นเงิน 18,911 ล้านบาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th