กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ
2 แพทย์ศิริราชพยาบาล ด้านไวรัสไข้หวัดนก และโรคไต คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น “นพ.ดร.ประเสริฐ เอื้อวรากุล” พบสารต้านไวรัสชนิดหนึ่งที่อยู่ในปอดของมนุษย์ ซึ่งไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ดื้อต่อสารนี้มากกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ส่วน “นพ.วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด” ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโปรตีโอมิกส์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เรื่องกลไกการเกิดโรคต่างๆ ได้แก่ โรคนิ่วในไต โรคไตชนิดอื่น เบาหวาน ไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคเมลิออยโดสิส โรคธาลัสซีเมีย ฯลฯ ซึ่งอาจนำมาสู่การค้นพบตัวบ่งชี้โรค (Biomarkers) ที่ทำให้การวินิจฉัยโรครวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
ศาสตราจารย์ นพ. ดร. ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาพยาธิกำเนิดของการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในมนุษย์ และกลไกการปรับตัวของไวรัสไข้หวัดนกให้เข้ากับมนุษย์ ซึ่งหากเกิดขึ้นในธรรมชาติก็จะเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดใหญ่ และเมื่อเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 งานวิจัยจึงขยายมาครอบคลุมไวรัสใหม่นี้ โดยเฉพาะการก่อโรคที่รุนแรงในผู้ป่วยบางรายที่เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต ซึ่งงานวิจัยที่กำลังดำเนินอยู่พบว่าภาวะการณ์ดังกล่าวอาจอยู่ที่สารต้านไวรัสชนิดหนึ่งที่อยู่ในปอดของมนุษย์ โดยพบว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ดื้อต่อสารนี้มากกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ซึ่งความเข้าใจนี้อาจนำไปสู่วิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ดีขึ้นในอนาคต
นพ.วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโปรตีโอมิกส์ระดับโลก ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านโปรตีโอมิกส์ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อเข้าใจถึงกลไกการเกิดโรคต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ โรคนิ่วในไต โรคไตชนิดอื่น เบาหวาน ไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคเมลิออยโดสิส โรคธาลัสซีเมีย โรคความจำเสื่อมอัลซไฮเมอร์ และโรคอื่นอีกหลายชนิดซึ่งพบบ่อยในประเทศไทย ซึ่งอาจนำมาสู่การค้นพบตัวบ่งชี้โรค (Biomarkers) ที่ทำให้การวินิจฉัยโรครวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น (ค้นพบโรคก่อนมีภาวะแทรกซ้อนหรือสายเกินแก้) ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนลดลง และท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การพัฒนาตัวยาและวัคซีนชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมในการรักษาและป้องกันโรค คาดว่าจะทำให้รัฐบาลสามารถลดค่าใช้จ่ายจากงบประมาณแผ่นดินทางด้านสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ลงได้จำนวนหนึ่ง และเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยและประชาชนชาวไทยโดยรวมในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บในอนาคต
ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปีนี้มี 6 ท่าน ดังนี้ 1.ดร. เครือวัลย์ จันทร์แก้ว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. ดร. ชนากานต์ พรมอุทัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. ดร. บรรจง บุญชม ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 4. ดร. วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผศ. 5. ดร. สอาด ริยะจันทร์ คณะวิทยาศาสตร์ หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ 6. ดร. อุรชา (รังสาดทอง) รักษ์ตานนท์ชัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ยันไม่เกิดสึนามิรุนแรงในเร็ววันนี้
ดร. เครือวัลย์ จันทร์แก้ว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาประวัติการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดสึนามิในพื้นที่ประเทศไทยและใกล้เคียงโดยอาศัยการศึกษาตะกอนและหลักฐานอื่นๆ ทางธรณีวิทยา โดยมุ่งเน้นให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ 2 ประการ คือ ความถี่ของการเกิด และความรุนแรง(ขนาด)ของแผ่นดินไหวและสึนามิเหล่านั้น โดยเริ่มทำงานวิจัยหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากแผ่นดินไหวมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่เชื่อกันว่าสามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่นี้ และไม่เคยมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 7.9 ริกเตอร์ในพื้นที่นี้มาก่อน ทำให้ไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดสึนามิที่มีผลกระทบใหญ่หลวงต่อประเทศไทย หลังจากได้รับการอบรมและออกภาคสนามเกี่ยวกับสึนามิโบราณในหลายประเทศ จึงได้เริ่มทำการศึกษาสึนามิโบราณในประเทศไทยอย่างจริงจังโดยหาหลักฐานทางธรณีวิทยาบริเวณชายฝั่งภูเก็ตและพังงา และค้นพบหลักฐานสึนามิโบราณในประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นแรกจากประเทศในแถบมหาสมุทรอินเดียที่ยืนยันว่าในอดีตมีสึนามิขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้มาแล้วหลายครั้ง ปัจจุบัน ยังคงทำการศึกษา
สึนามิโบราณในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าผลการศึกษาเบื้องต้นจะระบุว่าเหตุการณ์สึนามิที่มีความรุนแรงเท่ากับเหตุการณ์ปี 2547 จะไม่เกิดซ้ำอีกในเร็ววันนี้ แต่เนื่องด้วยประวัติการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในภูมิภาคนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจลึกซึ้ง ยังจำเป็นต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไปอีก และที่สำคัญคือ เหตุการณ์สึนามิที่มีความรุนแรงน้อยกว่าเหตุการณ์ปี 2547 แต่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วง 100-200 ปีข้างหน้านี้ จึงจำเป็นต้องศึกษาต่อไปเพื่อที่ประเทศไทยและประเทศโดยรอบมหาสมุทรอินเดียจะสามารถเตรียมการป้องกันบรรเทาผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์สึนามิเหล่านี้ได้ในอนาคต
วิจัยเพิ่มธาตุเหล็ก-สังกะสีในข้าว
ดร. ชนากานต์ พรมอุทัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทำงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวไทยด้วยการเพิ่มคุณภาพทางโภชนาการ โดยเน้นการเพิ่มปริมาณธาตุเหล็กและสังกะสีในข้าวที่ปกติจะมีปริมาณอยู่น้อยมาก เมื่อเติมทั้งสองธาตุในระหว่างกระบวนการนึ่งข้าว พบว่า กระบวนการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารด้วยวิธีนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถเพิ่มธาตุเหล็กและสังกะสีในข้าวสารได้ถึง 50 และ 4 เท่าตามลำดับ โดยธาตุที่เติมเข้าไปนี้สามารถคงอยู่ในข้าวได้ถึง 6 เดือน และสามารถคงอยู่ในข้าวสวยได้แม้ว่าจะผ่านการล้างน้ำมาแล้วหลายครั้งและผ่านกระบวนการหุงต้มก็ตาม นอกจากนี้ธาตุเหล็กที่อยู่ในเมล็ดข้าวยังได้รับการทดสอบแล้วว่ามีประโยชน์ทางโภชนาการสูงมากหลังจากการบริโภค และที่สำคัญคือ ข้าวที่เติมธาตุเหล็กและสังกะสีด้วยกระบวนการนี้ได้รับการยอมรับในการบริโภคของกลุ่มผู้บริโภคข้าวนึ่งเป็นอย่างดีหลังจากการทดสอบในกลุ่มผู้บริโภคข้าวนึ่งในประเทศบังคลาเทศ
สังเคราะห์สารในกลุ่มโลหะฟอสเฟตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดร. บรรจง บุญชม ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ศึกษาการสังเคราะห์สารในกลุ่มโลหะฟอสเฟต ซึ่งเป็นสารที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น เป็นสีเคลือบเซรามิก ตัวเร่งปฏิกิริยา สารเคลือบผิวโลหะกันการกัดกร่อน และเป็นปุ๋ยที่มีความสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารอย่างช้าๆ จึงนับได้ว่าเป็นสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งค้นหาวิธีการสังเคราะห์ที่ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่เป็นอันตราย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในขณะเตรียม ขณะนำไปใช้ และขณะเหลือจากการใช้งาน โดยเป็นนักวิจัยคนแรกที่นำทฤษฎีจลนพลศาสตร์และเทอร์โมไดนามิกส์ของการสลายตัวทางความร้อนแบบนอนไอโซเทอร์มัลมาอธิบายความเสถียรทางความร้อนของสารในวัฏภาคของแข็ง นอกจากนี้ ยังได้คิดค้นกระบวนการเตรียมสารด้วยเทคนิคใหม่ๆ ในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้สารที่ได้มีขนาดอนุภาคระดับนาโนเมตรและมีสัณฐานวิทยาที่แปลกใหม่ เช่น รูปร่างคล้ายดอกไม้ คล้ายต้นหญ้า และรูปร่างสี่เหลี่ยมด้านขนาน เป็นต้น ในอนาคตกำลังทำการทดสอบการนำสารโลหะฟอสเฟตที่เตรียมได้นี้ เพื่อไปใช้ประโยชน์ในด้านการเป็นสีเคลือบเซรามิก เป็นปุ๋ย และบางตัวได้นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น แคลเซียมฟอสเฟตรูปต่าง ๆ
พัฒนาระบบเอนไซม์ย่อยลิกโนเซลลูโลสเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ
ดร. วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติผู้มีส่วนสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการค้นหาและศึกษาเอนไซม์ที่มีความสำคัญทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเอนไซม์ในกลุ่มย่อยคาร์โบไฮเดรต รวมถึงเอนไซม์อื่นที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีชีวภาพจากแหล่งจุลินทรีย์ภายในประเทศ รวมทั้งทำการพัฒนางานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีเมตาจีโนมิกในประเทศ เพื่อการค้นหายีนที่กำหนดการสร้างเอนไซม์ที่มีศักยภาพทางอุตสาหกรรม และศึกษาโครงสร้างของกลุ่มประชากรจุลินทรีย์ที่เพาะเลี้ยงไม่ได้ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งส่งผลในการเพิ่มศักยภาพในการค้นหายีนที่สนใจโดยตรงจากสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องคัดแยกจุลินทรีย์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความสามารถในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจุลินทรีย์ในประเทศอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบเอนไซม์ในกลุ่มย่อยลิกโนเซลลูโลสที่มีประสิทธิภาพจากกลุ่มจุลินทรีย์ที่พัฒนาขึ้นในห้องปฏิบัติการ และเมตาจีโน มิกไลบรารีย์ รวมถึงการศึกษาการทำงานร่วมกันของเอนไซม์ในกลุ่มย่อยลิกโนเซลลูโลสเพื่อสร้างองค์ความรู้ในกระบวนการย่อยชีวมวลทางการเกษตร ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาระบบเอนไซม์ย่อยลิกโนเซลลูโลสที่มีประสิทธิภาพต่อชีวมวลภายในประเทศ เพื่อการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและสารเคมีจากชีวมวล ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความยั่งยืนและมีศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต
พัฒนายางชนิดใหม่ที่มีทนน้ำมัน ทนต่อโอโซนและต้านเชื้อแบคทีเรีย
ผศ. ดร. สอาด ริยะจันทร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำการศึกษาวิจัยการดัดแปรยางธรรมชาติร่วมกับพอลิเมอร์ชนิดอื่น โดยได้สร้างองค์ความรู้ในการพัฒนายางธรรมชาติชนิดใหม่จากน้ำยางธรรมชาติร่วมกับพอลิเมอร์ละลายน้ำ ทำให้ได้ยางชนิดใหม่ที่มีสมบัติทนน้ำมัน ทนต่อโอโซน ต้านเชื้อแบคทีเรีย และมีสมบัติเชิงกลที่ดี ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้แทนยางสังเคราะห์ได้ในอนาคต โดยได้นำความรู้พื้นฐานไปพัฒนาเทคนิคสำหรับการนำยางธรรมชาติชนิดใหม่ที่ดัดแปรนี้เพื่อเตรียมเป็นแคปซูลห่อหุ้มสารสกัดสะเดา และปุ๋ยยูเรีย ทำให้ได้แคปซูลของสารสกัดสะเดาและปุ๋ยยูเรียที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เนื่องจากแคปซูลที่ได้สามารถย่อยสลายตัวได้ในธรรมชาติ และมีต้นทุนการผลิตต่ำ
ศึกษาอนุภาคนาโนไขมัน 3 ชนิดใช้พัฒนาระบบนำส่งยา
ดร. อุรชา (รังสาดทอง) รักษ์ตานนท์ชัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ทำวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี โดยเตรียมและศึกษาสมบัติของอนุภาคนาโนชนิดไขมัน 3 ประเภท ได้แก่ อนุภาคนาโนจากไขมันแข็งและน้ำมัน หรือนาโนอิมัลชัน โดยอนุภาคนาโนดังกล่าวมีขนาดเล็กมาและจะกระจายตัวแขวนลอยอยู่ในน้ำแบบคอลลอยด์ ข้อดีของอนุภาคชนิดนี้คือสามารถบรรจุยาหรือสารออกฤทธิ์ที่ละลายน้ำได้น้อยหรือไม่สามารถละลายน้ำได้ (โดยมีต้นแบบ คือ แกมมา-ออริซานอล จากน้ำมันรำข้าว กรดอัลฟา-ไลโปอิก และน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรไทย) ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่พร้อมใช้ในรูปแบบของเหลว ในการศึกษาได้มุ่งเน้นการหาความสัมพันธ์ระหว่างชนิดของยาหรือสารออกฤทธิ์ที่บรรจุภายในอนุภาคนาโนรวมถึงโครงสร้างทางเคมีและความเข้มข้นของไขมันและน้ำมันที่เลือกใช้กับสมบัติของอนุภาคนาโน ได้แก่ การจัดเรียงตัวในระดับโมเลกุลสภาพเป็นผลึก การไหล ความสามารถในการกักเก็บยา การปลดปล่อยยา เสถียรภาพ และการออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน และฤทธิ์ในการไล่ยุง เป็นต้น องค์ความรู้พื้นฐานที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบนำส่งยาหรือสารออกฤทธิ์ชีวภาพสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตลอดจนเครื่องสำอาง อาหาร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมโทร.02-2701350-4