กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ไทย-จีน ร่วมลงนามความร่วมมือศึกษางานวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล เตรียมติดตั้งทุ่นสมุทรศาสตร์ศึกษาทิศทางลม คาดผลทำนายปรากฏการณ์ลมมรสุมสามารถช่วยเกษตรกรและภาคเศรษฐกิจได้
นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ประชากรในประเทศภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งลมมรสุมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรกรรม การเปลี่ยนแปลงและการผันแปรของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อการก่อตัวของมรสุม ซึ่งส่งผลต่อความแห้งแล้ง ความชุ่มชื้นหรือแม้แต่ปัญหาน้ำท่วมของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค หากในปีที่ลมมรสุมเอื้ออำนวยก็จะทำให้ผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมดี ในขณะที่ปีที่แห้งแล้งหรือมีฝนมากกว่าที่ควรก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรรมอย่างมาก ซึ่งหมายถึงผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีการพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตรมากประเทศหนึ่งและท้ายที่สุดย่อมส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเช่นกัน ดังนั้นจึงมีการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อลักษณะของระบบมรสุมของเอเชียเพื่อจะสามารถทำนายลักษณะการเกิดมรสุมในแต่ละปีได้
ด้าน ดร.สมเกียรติ ขอเกียรติวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสมุทรศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมฯ ได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการขึ้นกับทาง First Institute of Oceanography (FIO) สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อศึกษาโครงการ “Monsoon Onset Over the Andaman Sea and Its Social Impact Study” โครงการดังกล่าวต้องอาศัยการติดตั้งทุ่นสมุทรศาสตร์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลแบบละเอียดและทันเหตุการณ์เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงของมรสุมในรอบปี และใช้ในการทดลองหาแนวทางพัฒนาโมเดลในการทำนายปรากฏการณ์เกี่ยวกับมรสุม อีกทั้งข้อมูลจากทุ่นจะนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องสภาพอากาศจากมรสุมที่มีผลต่อการดำรงชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
“ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดทุกเดือนพฤศจิกายน — เมษายน จะนำพาอากาศที่หนาวเย็นและแห้งแล้งมาสู่ภูมิภาค ในขณะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะนำพาฝนและความชุ่มฉ่ำมาสู่แผ่นดิน หากมีความรู้ ความเข้าใจในปรากฏการณ์ของมรสุม และทราบลักษณะลมล่วงหน้าจะช่วยนำไปสู่การบริหารจัดการทางด้านการเกษตร รับมือภัยพิบัติจากภัยแล้งและอุทกภัย เพื่อลดความเสียหายและความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อไป” นักวิชาการ ทช. กล่าว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249