กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--ปภ.
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเดือนมกราคม — พฤษภาคม ตั้งแต่ปี 2551 - 2553 เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาวของประเทศ โดยเน้นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะทำให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ดำเนินการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบก ในช่วงเดือนมกราคม — พฤษภาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 - 2553 เพื่อนำไปใช้การวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาวของประเทศ ซึ่งจากสถิติดังกล่าว พบว่า จำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางบกช่วงเดือนมกราคม — พฤษภาคม ปี 2551 เกิดขึ้น 37,612 ครั้ง ปี 2552 เกิดขึ้น 38,146 ครั้ง และในปี 2553 เกิดขึ้น 29,034 ครั้ง สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วง 5 เดือน ปี 2551 จำนวน 5,012 คน ปี 2552 จำนวน 5,208 คน และปี 2553 จำนวน 4,135 คน ส่วนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนช่วง 5 เดือน ปี 2551 จำนวน 30,577 ราย ปี 2552 จำนวน 29,227 ราย และในปี 2553 จำนวน 18,974 ราย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ อันดับแรก ขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด 4,974 ราย รองลงมา คือ ตัดหน้ากระชั้นชิด 4,274 ราย ยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ 16,594 คัน รองลงมา คือ รถยนต์ส่วนบุคคล 12,106 คัน ซึ่งจากสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบกในภาพรวม พบว่า สถิติคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ของเดือนมกราคม — พฤษภาคม ในปี 2553 มีแนวโน้มลดลงจากปี 2551 และ 2552 ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน องค์กรหลักของภาครัฐในการบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนระดับประเทศ ได้ดำเนินการลดอุบัติเหตุทางถนน โดยยึดแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2552 — 2555 เป็นหลักในการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก ๖ ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การปรับนโยบายให้เป็นนโยบายเร่งด่วนระดับชาติ ยุทธศาสตร์การสร้างเสถียรภาพในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์แผนนิติบัญญัติ ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนส่วนกลาง ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น และยุทธศาสตร์วิจัย พัฒนาและติดตามประเมินผลด้านความปลอดภัยทางถนน ประกอบกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
ด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจัง ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการวางแผน กำหนด และปรังปรุงมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับประเทศ
ทั้งในช่วงปกติ ช่วงเทศกาลสำคัญ และในระยะยาว รวมถึงจะได้ประสานให้จังหวัดนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา
ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละจังหวัด โดยจะมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย เพื่อควบคุม
พฤติกรรมเสี่ยงซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้เป็นรูปธรรม
เริ่มจากระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน และร่วมเป็นเจ้าภาพในการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น