สยามกัมมาจลหนุนประกวดการ์ตูนไซไฟ ครั้งที่ 2

ข่าวทั่วไป Monday August 9, 2010 08:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ปัจจุบันการ์ตูนความรู้ได้รับความสนใจจากผู้อ่านในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มผู้ปกครองที่สนใจให้เด็กได้อ่านการ์ตูนที่มีสาระมากขึ้น เพราะตระหนักว่าการ์ตูนช่วยพัฒนาสมองและศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กได้ดี การพัฒนาการ์ตูนความรู้เพื่อการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเยาวชนจึงควรได้รับการส่งเสริม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงร่วมให้การสนับสนุนโครงการ “ประกวดการ์ตูนไซไฟไทยก้าวไกลสู่สากล ครั้งที่ 2” ในหัวข้อเรื่อง “ประเทศไทย พ.ศ.2600” ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)และเครือข่ายพันธมิตร จัดขึ้นต่อเนื่อง นางรัตนา กิติกร ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจล มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีพลังอยู่ในตัวมาก จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะช่วยสนับสนุนเปิดพื้นที่กิจกรรมดี ๆ ให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพและความรู้ความสามารถที่เขามีอยู่ ซึ่งการ์ตูนก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ใกล้ชิดเด็ก ๆ เพราะเด็กทุกคนชอบอ่านการ์ตูน หลายคนมีความสามารถในการวาดการ์ตูน หากผู้ใหญ่สนับสนุนไม่แน่ว่าความสามารถเล็ก ๆ ของเขาจะแปรเปลี่ยนเป็นความเชี่ยวชาญก็ได้ และไม่แน่ว่าต่อไปเขาจะกลายเป็นนักวาดการ์ตูนที่จะผลิตการ์ตูนความรู้ดี ๆ ออกมาสู่ตลาดนักอ่านกันมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่าการ์ตูนเป็นสื่อในกระบวนการพัฒนาศักยภาพทางสมองของเด็กได้ดี โดยเฉพาะการ์ตูนความรู้ เส้นทางของหนังสือการ์ตูนและนักวาดการ์ตูนจึงสำคัญเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ดังนั้นจากความสำเร็จของโครงการปีที่แล้วที่สามารถนำเรื่องการ์ตูนกับวิทยาศาสตร์ให้มาเป็นเรื่องเดียวกันและมีเยาวชนทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาที่มีความสามารถในการวาดการ์ตูนนำเนื้อหาวิทยาศาสตร์ใกล้ตัวมาผลิตเป็นการ์ตูนไซไฟ โดยมูลนิธิฯสนับสนุนรางวัลแก่ผู้เข้าประกวด ในครั้งนี้มูลนิธิจึงสนับสนุนต่อเนื่องในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับโครงการฯและเครือข่ายพันธมิตร ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน หัวหน้าโครงการ “ประกวดการ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากล ครั้งที่ 2” สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า อิทธิพลของการ์ตูนสามารถช่วยบ่มเพาะและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเห็นตัวอย่างที่ดีได้จากประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถฟื้นฟูและสร้างชาติภายหลังจากภาวะการแพ้สงครามโดยใช้การ์ตูนเป็นสื่อสร้างสรรค์ เช่น เรื่อง “เจ้าหนูอะตอม” หรือ Astro Boy เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนมีความมุมานะในการสร้างชาติ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เรื่องสั้นทางวิทยาศาสตร์หรือเรื่องไซไฟ เป็นสื่อที่ใช้จินตนาการและความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาสร้างเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและสื่อความรู้ได้เป็นอย่างดี การพัฒนาการ์ตูนไซไฟจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านของการส่งเสริมการสร้างจินตนาการบนหลักของเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ และการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนในการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆของการ์ตูนอย่างสมบูรณ์ จึงได้จัดโครงการประกวดการ์ตูนไซไฟไทยก้าวไกลสู่สากลขึ้น โดยมีความประสงค์ที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ในการสร้างสรรค์เรื่องราวและการวาดการ์ตูนที่ใช้จินตนาการที่มีพื้นฐานมาจากหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและนำความสามารถเหล่านี้พัฒนาไปสู่การจัดทำการ์ตูนเป็นรูปเล่มออกมาสู่ท้องตลาด และสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มาจากการ์ตูนนั้น ๆ รวมถึงสามารถต่อยอดไปสู่สากลอีกด้วย โดยปีนี้จัดการประกวดเป็นครั้งที่ 2 หลังจากปีที่ผ่านมาการจัดการประกวดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผลงานตีพิมพ์รวมเล่มการ์ตูนไซไฟ 10 เรื่อง ที่ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพ นอกจากนี้ในการเสวนา “การ์ตูนสร้างคนสร้างชาติ” ที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ คุณคิม จงสถิตย์วัฒนา จากสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค ผู้ผลิตและจำหน่ายการ์ตูนลำดับต้น ๆ ของเมืองไทย กล่าวว่า การ์ตูนเป็นสื่อการเรียนรู้สำคัญใกล้ตัวเด็กที่ปัจจุบันผู้ปกครองมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านการ์ตูนของเยาวชนมากขึ้นและเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกซื้อหนังสือการ์ตูนความรู้ให้บุตรหลานได้อ่าน เคยถามผู้ปกครองที่มาซื้อหนังสือการ์ตูนให้ลูก ได้รับคำตอบว่า เพราะหนังสือการ์ตูนทำให้ลูกสนใจการอ่านมากขึ้น การเรียนดีขึ้น และมองว่าควรสนับสนุนให้มีการกระจายหนังสือการ์ตูนความรู้ดี ๆ ไปสู่เยาวชนอย่างทั่วถึงเช่น ตามห้องสมุดต่าง ๆ โดยเฉพาะในชนบทซึ่งมีโอกาสเข้าถึงหนังสือได้น้อยกว่าในเมือง คุณตั้ม วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักเขียนการ์ตูนที่มีผลงานตีพิมพ์ไปถึงประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การเป็นนักเขียนการ์ตูนของตน ผลงานที่ทำเป็นการสะท้อนเรื่องราวในมุมมองของตนเอง เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพซึ่งทำให้เกิดความจดจำเข้าใจได้ง่าย และเพิ่มความน่าสนใจให้มากกว่าการเป็นเพียงภาพและการเล่าเรื่องด้วยการใช้ภาพการ์ตูนประกอบเสียงดนตรี เช่น เปียโน และกีตาร์ คล้ายกับเป็นการ์ตูนใบ้ และตนมองว่าเส้นทางนักวาดการ์ตูนในเมืองไทยยังก้าวหน้าได้อีกมาก รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นักวิจัยงานการ์ตูน กล่าวว่า จากข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าการ์ตูนช่วยพัฒนาสมอง ทำให้คนสนใจและมีโลกทัศน์ต่อการอ่านการ์ตูนที่ดีขึ้น การพูดถึงการ์ตูนในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องทันสมัย และการ์ตูนถูกใช้เป็นกระบวนการเพื่อการเรียนรู้เด็ก ในด้านการศึกษาอยากให้มีหลักสูตรการ์ตูนสร้างสรรค์อย่างจริงจัง เพราะเมื่อหวังให้มีบุคลากรผลิตการ์ตูนสร้างสรรค์ออกสู่ตลาดนักอ่านก็เป็นเรื่องที่ต้องทุนเสียแต่วันนี้จึงจะเกิด “การ์ตูนสร้างคนสร้างชาติ” ได้ในอนาคต ทั้งนี้สำหรับนักเรียนหรือนักศึกษาที่สนใจโครงการ “ประกวดการ์ตูนไซไฟไทยก้าวไกลสู่สากล ครั้งที่ 2” ในหัวข้อเรื่อง “ประเทศไทย พ.ศ.2600 สามารถติดตามรายละเอียดโครงการฯ และการส่งผลงานเข้าประกวดได้ที่เว็บไซต์ http://www.nstda.or.th/scificomic หรือสอบถามทางโทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ 1177 ,1179 และทางอีเมล์ paritat@nstda.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ