ปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติได้ผลเกินเป้า ทช. สานต่อโครงการ ฯ พัฒนาต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Monday August 9, 2010 09:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--ทช. ผลโครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติ 720,000 ไร่ กรม ฯ ทะเลได้ผลเกินคาด เตรียมงานสำรวจ ศึกษาวิจัย ส่งเสริมอาชีพ ตั้งศูนย์เรียนรู้ สานต่อโครงการ ฯ นายชากรี รอดไฝ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ทช. ได้ดำเนินการโครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองแนวพระราชดำริและสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในการอนุรักษ์ป่าชายเลน รวมทั้งเพื่อรณรงค์ ส่งเสริมให้องค์กรทั้งในและต่างประเทศร่วมกันฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์และมีศักยภาพในการผลิตสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายปลูกป่าชายเลนในพื้นที่สำคัญเร่งด่วนเนื้อที่ 52,000 ไร่ พื้นที่ปลูกเสริมและปรับปรุงสภาพป่าชายเลนเนื้อที่ 368,000 ไร่ และการจัดทำเขตพิทักษ์ป่าชายเลนรักษ์สัตว์น้ำเนื้อที่ 300,000 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 720,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายเลน “จากผลการดำเนินงานของ ทช. เป็นระยะเวลา 6 ปี พบว่าสามารถปลูกป่าชายเลนในพื้นที่เร่งด่วนได้ 24,346 ไร่ รวมทั้งการปลูกเสริมและการปลูกบำรุงเนื้อที่รวม 176,542 ไร่ และจัดตั้งเขตพิทักษ์ป่าชายเลนรักษ์สัตว์น้ำได้เนื้อที่ 520,303 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 721,191 ไร่ คิดเป็น 48 % ของพื้นที่ป่าชายเลนทั่วประเทศที่มีประมาณ 1,500,000 ไร่พื้นที่และอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลและชายฝั่ง (รสทช.) รวม 659 รุ่น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น 32,950 คน กระจายอยู่ในชุมชนชายฝั่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้ทำการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 34,905,827 ตัว ซึ่ง ทช. สามารถดำเนินการได้สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด” ผอ.สำนักอนุรักษ์กล่าวต่อไปว่า ป่าชายเลนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันทั้งปัจจัยแวดล้อมและความต้องการของสังคม บางแห่งเป็นป่าชายเลนดั้งเดิมที่ถูกบุกรุก ที่รกร้าง มีวัชพืชขึ้นอยู่มากเต็มพื้นที่ บางพื้นที่เป็นป่าเลนงอกใหม่ใกล้ชายฝั่งทะเล บางพื้นที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองที่มีการกัดเซาะตลิ่ง พื้นที่นากุ้งที่ถูกทิ้งร้าง พื้นที่บุกรุกเลี้ยงกุ้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือพื้นที่ที่ถูกบุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น เกษตรกรรม เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติงานได้ในปริมาณที่แตกต่างกันได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการกำหนดนโยบายที่ควรให้ความสำคัญกับความแตกต่างของพื้นที่ โดยเมื่อสิ้นสุดโครงการ ฯ ทช.จะได้ดำเนินการอีก 9 โครงการเพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนและทรัพยากรประมงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สำรวจและพัฒนาฐานข้อมูล บูรณาการทรัพยากร กำหนดรูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการ วิจัยนวัตกรรม ส่งเสริมอาชีพชุมชน จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ สำรวจและจัดการพื้นที่ป่าชายเลน สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่ม / เครือข่าย และเผยแพร่ความรู้ด้านทรัพยากรป่าชายเลน ชายฝั่งให้กับเยาวชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ