ทีม “ไอราป ฟรีดอม (iRAP Freedom)” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คว้ารางวัลชนะเลิศ การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย

ข่าวเทคโนโลยี Monday August 9, 2010 09:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ประกาศ ให้ทีมรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ ”ทีมไอราป ฟรีดอม (iRAP Freedom)” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศ โดยทีมชนะเลิศได้รับรางวัลเงินสด 150,000 บาท และโล่เกียรติยศ ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลอื่น ๆ มีดังต่อไปนี้ ทีมซีอาร์วี ไบค์ (CRV Bike) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ เงินรางวัล 100,000 บาทและโล่เกียรติยศ ทีมเอสทีอาร์ไอ (STRI) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม เงินรางวัล 50,000 บาทและโล่เกียรติยศ ทีมเอ็กซ์-ไบค์ (Ex-Bike) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ เงินรางวัล 50,000 บาทและโล่เกียรติยศ “การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งแรกในประเทศไทยและครั้งแรกในโลกนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และความชำนาญของนิสิตนักศึกษาไทยในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและวิศวกรรม การแข่งขันนี้ยังสนับสนุนโครงการยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ตามแผนแม่บทหุ่นยนต์แห่งชาติ โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไทยและระบบอัตโนมัติ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศในสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าว นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซีเกทได้สนับสนุนการศึกษาทางด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีและวิศวกรรมผ่านทางโครงการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยเป็นหนึ่งในโครงการที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติวงการการศึกษาในสาขาหุ่นยนต์ ซึ่งซีเกทมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและเอไอทีในการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเตรียมความพร้อมของพวกเขาสำหรับความสำเร็จในการศึกษาต่อและการทำงานในอนาคต “การแข่งขันสร้างรถจักรยานหุ่นยนต์มิใช่เพียงการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์เท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาศักยภาพของ นักประดิษฐ์ในอนาคต จากการเข้าร่วมการแข่งขันที่น่าท้าทายนี้ ผู้เข้าแข่งขันยังได้ฝึกฝนทักษะอื่น ๆ ด้วย เช่น การประสานงานกับบุคคลอื่น การทำงานเป็นทีม การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนารถจักรยานหุ่นยนต์ ตลอดจนการบริหารโครงการ” นายไนการ์ด กล่าวเสริม รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์จะถูกจัดขึ้นเป็นปีแรก แต่ทุกทีมก็ได้พยายามพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์กันจนสุดความสามารถน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง ในการแข่งขันในวันนี้ เราได้เห็นการเป็นแชมป์อย่างสมศักดิ์ศรีของทีม ไอราป ฟรีดอม โดยการวิ่งเป็นระยะทางมากกว่า 200 เมตรเพื่อมาแซงทีมคู่แข่งท่ามกลางกระแสลมที่พัดแรงมากแม้แต่เต๊นท์ในสนามยังปลิว เราได้เห็นเทคนิคของการใช้หลักการยกตัวของยานโฮเวอร์คราฟท์ในการรักษาสมดุลย์ของจักรยานของทีมซีอาร์วี ไบค์ ซึ่งเป็นทีมรองชนะเลิศ นอกจากนี้เรายังได้เห็นการนำเทคนิคในการรักษาสมดุลย์จักรยานหุ่นยนต์ไม่ว่าจะเป็นการใช้ลูกข่าง การใช้น้ำหนักถ่วง และการใช้แรงหนีศูนย์ ได้ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในหลาย ๆ ทีม” “ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จักรยานหุ่นยนต์ซึ่งเป็นจักรยานที่รักษาสมดุลย์ได้ด้วยตัวเองบน 2 ล้อ จำนวน 2 คัน ได้ลงแข่งขันในสนามเดียวกันพร้อมกัน โดยจุดที่ปล่อยจักรยานหุ่นยนต์ทั้งสองนั้นห่างกันระยะครึ่งสนามพอดีที่ประมาณ 200 เมตร จักรยานหุ่นยนต์จะต้องวิ่งได้ด้วยตัวเองแบบไม่มีคนบังคับไม่มีรีโมทคอนโทรลไปตามเส้นทางการแข่งขันที่กำหนดให้ล่วงหน้า หากมีการวิ่งแซงกันเกินขึ้นทีมที่ถูกแซงจะแพ้การแข่งขันทันทีแบบน็อคเอาท์ทันที หากไม่มีการแซงกันเกิดขึ้น ทีมที่ชนะคือทีมที่วิ่งได้ระยะทางรวมไกลที่สุด โดยระยะทางรวมเป็นระยะทางที่รถวิ่งจริงในหน่วยเมตร รวมกับ 0.2 เท่าของเวลาที่จักรยานหุ่นยนต์ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้มในหน่วยวินาที” รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจกล่าวเสริม บทสัมภาษณ์สมาชิกในทีมไอราป ฟรีดอม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายประพันธ์ คล้ายฤทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 1. อธิบายการทำงานของรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับที่ทางทีมได้พัฒนาขึ้น โดยสังเขป การทำงานของรถจักรยานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการทรงตัวโดยใช้จาน Fly Wheel ส่วนที่สองคือการใช้จีพีเอส จำนวน 3 ตัว 2. คิดว่าปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้ทีมไอราป ฟรีดอม ได้รับรางวัลชนะเลิศ การทำงานเป็นทีมทำให้เราสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ ทีมของเรามีเพื่อน ๆ นักศึกษาซึ่งเป็นสมาชิกของชมรมหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 30 คน ที่ช่วยกันพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ นอกจากนี้ การที่เราใช้เซ็นเซอร์ที่มีคุณภาพสูงกว่าทีมอื่น ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราคว้ารางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันนี้ เช่นเดียวกัน 3. หลังจากทราบผลการแข่งขันในรอบคัดเลือก น้อง ๆ ได้พัฒนาและเตรียมความพร้อมจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับเพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศอย่างไร และใช้เวลานานแค่ไหนในการเตรียมความพร้อมก่อนแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ทีมของเราใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการเตรียมความพร้อมเพื่อส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ เนื่องจากทีมของเราผ่านการแข่งขันในรอบคัดเลือก โดยการพัฒนารถจักรยานหุ่นยนต์ให้สามารถตั้งตรง ดังนั้น เราจึงเพิ่มจีพีเอส สำหรับการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ และเช็คกลไกการทำงานต่าง ๆ ของจักรยานอย่างรอบคอบ 4. การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย มีความยาก ง่ายอย่างไรบ้าง และคิดว่าควรมีการจัดการแข่งขันอย่างนี้อีกหรือไม่ ในปีหน้า การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับนี้เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ยากที่สุดเท่าที่ผมเคยเข้าร่วมการแข่งขันมา เนื่องจากการแข่งขันนี้เป็นแบบ close loop league แต่ผมคิดว่าการเข้าการแข่งขันทำให้พวกผมได้รับประสบการณ์ในการปรับใช้ความรู้ในห้องเรียนมาใช้งานจริง และทำให้สนใจในการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยครับ พวกเราอยากให้ทางคณะผู้จัดการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เอไอที และบริษัทซีเกท ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเงินรางวัล และค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันทั้งหมด จัดการแข่งขันที่ท้าทายนี้อีกครั้งในปีต่อไปครับ 5. อยากฝากข้อแนะนำอะไร สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันฯ ในปีต่อไปบ้าง อยากเชิญชวนผู้ที่สนใจทางด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยี และวิศวกรรม สมัครเข้าร่วมการแข่งขันที่จะจัดขึ้นในปีหน้า และขอฝากไว้ว่า หากอยากที่จะประดิษฐ์นวัตกรรมอะไร ก็ควรศึกษาและลงมือทำได้เลย ข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือ เว็บไซต์ www.trs.or.th ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกผ่านการศึกษาขั้นสูง การทำวิจัย และ กิจกรรมต่อยอดอื่น ๆ สถาบันเอไอทีซึ่งตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2502 ได้กลายเป็นสถาบันบัณฑิตชั้นนำของภูมิภาคเอเชียและกำลังทำงานอย่างกระตือรือร้นร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐบาลและเอกชนทั่ว พื้นภูมิภาค และกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก สถาบันฯซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านความเป็นนานาชาติและหลากวัฒนธรรม ดำเนินการในลักษณะประชาคมนานาชาติที่มี สิ่งอำนวยความสะดวกพรั่งพร้อมภายในบริเวณสถาบันฯ ซึ่งตั้งอยู่บน กม.ที่ 40 ทางเหนือของกรุงเทพฯ ประเทศไทย นอกเหนือจากห้องปฏิบัติการและอาคารเรียนต่างๆ บริเวณของสถาบันฯประกอบด้วยที่พัก สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ ศูนย์การประชุม และห้องสมุดที่มีหนังสือกว่า 230,000 เล่ม วารสารแบบพิมพ์เป็นเล่มและแบบออนไลน์จำนวน 830 รายการ ทุกอย่างมีส่วนช่วยทำให้พันธกิจหลักของสถาบันเอไอทีบรรลุเป้าหมาย ข้อมูลเกี่ยวกับซีเกท ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูลจาก การนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) และแบรนด์โซลูชั่น (Branded Solutions) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตระดับโลก เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพไปยังลูกค้าทั่วโลก ด้วยเป้าหมายในการเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลและมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการจัดเก็บข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและค้นหาข้อมูลซีเกทเพิ่มเติมที่ www.seagate.com ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันและ อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) โทรศัพท์ 0-2524-5229 Email: manukid@ait.ac.th นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ