กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา กรณีการจัดการบริหารพื้นที่ทับซ้อนในเขตปราสาทเขาพระวิหาร ยังคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องหารือกันเพื่อหาทางออกและแก้ไข โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการหารือและมีเสนอแนะ ข้อคิดเห็นจากหลายฝ่าย โดยเพาะกลุ่มผู้ชุมนุมในนาม“แนวร่วมคนรักชาติ” ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร” ช่วงเวลาสำรวจระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคม 2553 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,133 หน่วยตัวอย่าง โดยลักษณะทั่วไปของหน่วยตัวอย่างกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ภาคละ 195 — 322 หน่วยตัวอย่าง ในทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ ผลการสำรวจสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ หากรัฐบาลจะผลักดัน ชาวกัมพูชา ออกจากพื้นที่ของไทย โดยวิธีทางทหารและทางการทูต?
ร้อยละ 69.55 เห็นด้วย เพราะ ประชาชนมองว่าเป็นพื้นที่ของไทย ควรจะรักษาปกป้องอธิปไตยไว้ และเป็นการลด ปัญหาชาวต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแต่ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างสันติวิธี
ร้อยละ21.62 ไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งให้เหตุการณ์รุนแรง บานปลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ความ
สัมพันธ์ระหว่างสองประเทศสั่นคลอน อาจจะนำไปสู่สงครามสงครามระหว่างประเทศได้ ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง และชาวบ้านก็ยังมีการติดต่อค้าขายกันอยู่ตามบริเวณชายแดนหรือด่านต่างๆ
ร้อยละ 8.83 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ เพราะ ยังไม่ค่อยได้ติดตามข่าว อีกทั้งต้องรอดูท่าทีของทั้งสองฝ่ายในเบื้องต้นก่อน
2. ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกบันทึกข้อความMoU หนังสือตกลงความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชา?
ร้อยละ40.60 เห็นด้วย เพราะ ไทยเสียเปรียบในเรื่องของดินแดน ควรหารือจัดทำเขตแดนใหม่ให้ชัดเจนทั้งสองฝ่าย
ร้อยละ32.13 ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการป้องกันมิให้ฝ่ายกัมพูชาเข้ามายุ่งเกี่ยวบริเวณพื้นที่ทับซ้อนได้ และอาจจะทำให้เรื่องบานปลาย
ร้อยละ27.27 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ เพราะ ยังไม่ทราบถึง รายละเอียดของหนังสือดังกล่าว และยังสับสนในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อน โดยเฉพาะแผนที่ที่ต่างฝ่ายต่างยึดเป็นแนวแบ่งเขตดินแดนของตนเอง
3.ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ หากไทยจะถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก หรือยกเลิกการเป็นสมาชิกกับยูเนสโก?
ร้อยละ19.86 เห็นด้วย เพราะ ไทยสามารถดูแลจัดการสถานที่ที่เป็นมรดกโลกเองได้ และไม่น่ามีผลเสียอะไรมาก
ร้อยละ63.55 ไม่เห็นด้วย เพราะ จะเกิดผลเสียมากกว่า ไทยอาจจะเสียผลประโยชน์ในเรื่องของการดูแล รักษามรดกโลกที่อยู่ในไทย
ร้อยละ16.59 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ เพราะ ยังไม่ทราบถึง ผลดีผลเสียที่จะตามมา ควรรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่ายก่อนตัดสินใจ
4.ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่หากรัฐบาลไทยจะให้ศาลโลกทบทวนและพิจารณาอีกครั้ง ในการตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ?
ร้อยละ65.75 เห็นด้วย เพราะ เป็นการตัดสินค่อนข้างที่ไม่ยุติธรรม ไทยเสียเปรียบมาก และเพื่อเป็นการปกป้องการเสียดินแดนไทย
ร้อยละ 27.45ไม่เห็นด้วย เพราะศาลโลกได้ตัดสินไปแล้ว ไม่ควรนำมารื้อฟื้น อาจทำให้เรื่องบานปลาย ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง
ร้อยละ 6.80 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจเพราะยังไม่ทราบถึง รายละเอียด
5. ท่านคิดว่ารัฐบาลควรนำเรื่อง“เขาพระวิหาร”เข้าสภาเป็น“วาระแห่งชาติ”หรือไม่ ?
ร้อยละ 77.93 ควร เพราะ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ที่สำคัญมาก เสี่ยงต่อการเสียพื้นที่ดินแดน จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ร้อยละ11.30 ยังไม่ควร เพราะ ยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า เช่น ปัญหาสามจังหวัดชายแดน และมองว่าจะกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในสภา
ร้อยละ10.77 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจยังไม่ทราบถึงกระบวนการนำเรื่องเข้าที่ประชุมในสภา