กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--สวทช.
ปัจจุบัน กระแสด้านสุขภาพและความตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีทางการเกษตรต่อผู้บริโภค,เกษตรกร และสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าด้าน “เกษตรอินทรีย์” ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมอาหารต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีแนวโน้มขยายไปยังผลิตภัณฑ์พร้อมปรุง ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมากขึ้น
โดยในปี 2550 พื้นที่การผลิตผักอินทรีย์ของไทยมีจำนวน 16,503.19 ไร่ สามารถผลิตผักและสมุนไพรอินทรีย์ได้ 5,336.76 ตัน มูลค่า 297.18 ล้านบาท ( จากรายงานเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทย , ฉบับที่ 2/2550 ) ขณะที่ความต้องการของตลาดมีมากกว่ากำลังการผลิต และผู้ผลิตผักอินทรีย์ของไทยยังไม่สามารถขยายการผลิตได้ทันกับความต้องการ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จึงได้จัดทำโครงการ “ เพิ่มขีดความสามารถการผลิตผักอินทรีย์ของผู้ประกอบการไทย ” ขึ้น
ดร. พงษ์ชัย จิตตะมัย ผู้จัดการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) กล่าวว่า “เกษตรอินทรีย์” เป็นการผลิตที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมรักษาสมดุลของธรรมชาติ และความหลากหลายของทางชีวภาพ โดยมีระบบการจัดการนิเวศวิทยาที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยสารเคมีฯยากำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่างๆ ตลอดจนไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากากรตัดต่อทางพันธุกรรมที่อาจเกิดมลพิษในสภาพแวดล้อม เน้นการใช้อินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และ ปุ๋ยชีวภาพ
“ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรคิดเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี เกษตรกรต้องมีปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีฯในการเพาะปลูกทำให้เกิดการลงทุนสูงและใช้ปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน และเป็นหนี้ ดังนั้น เกษตรอินทรีย์ น่าจะเป็นช่องทางแก้ปัญหาเหล่านั้นได้”
ดังนั้น การจัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ได้พัฒนาและยกระดับความสามารถในการผลิต ให้มีศักยภาพในการต่อยอดการพัฒนากระบวนการผลิต เทคนิคการทำเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีขั้นที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพและผลผลิตให้สูงขึ้น และเพื่อช่วยให้เกิดการกระจายองค์ความรู้ให้กว้างขวาง เกิดการแลกเปลี่ยนต่อยอดองค์ความรู้ระหว่างกัน และเพื่อสร้างบทบาทสำคัญของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)ในการส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
จากแนวโน้มของตลาดโลกที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องนั้น ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเกษตรจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาความสามารถทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นให้ทัดเทียมกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ เช่น จีน ซึ่งกำลังมีบทบาทหลักในตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน และเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยตกกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตรอินทรีย์
ผู้จัดการเครือข่ายiTAP-มทส. กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา iTAP ได้มีโครงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ไปแล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตผักและผลไม้ให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ , โครงการเพิ่มผลผลิตข้าวในระบบ GAP , โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไม้ยูคาลิปตัส , โครงการผลิตปุ๋ยโดยใช้กากและเปลือกมันสำปะหลัง , โครงการปรับปรุงระบบการจัดการแปลงองุ่นรับประทานผลสด ฯลฯ
ล่าสุด iTAP นำคณะผู้ประกอบการ พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์จาก มทส.กว่า 40 คน เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยคณะฯ มีโอกาสเข้าพบกงสุล ฝ่ายการพาณิชย์ประจำนครคุนหมิง โดยได้มีการพูดคุยแปลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องการผลิตผักอินทรีย์ เห็ด และไม้ดอกของมณฑลยูนาน พร้อมกันนี้ยังได้เข้าชมและศึกษาดูงานฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ Haobao organic farm , ดูแปลงเกษตรของเกษตรกรในคุนหมิง ทั้งที่เป็นอินทรีย์และไม่ใช่อินทรีย์ เพื่อเปรียบเทียบเทคโนโลยีและวิธีการต่างๆ ในการผลิตพืชผักต่างๆ รวมทั้งยังได้พบปะกับสมาคมผู้ส่งออกผักของอำเภอทงไห่ เพื่อฟังทิศทางการค้าและการตลาดของผักอินทรีย์
นอกจากกิจกรรมการเสาะหาเทคโนโลยีในต่างประเทศแล้ว iTAP ยังได้จัดกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การวินิจฉัย และวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น การให้คำปรึกษาเชิงลึก และการจัดอบรมเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ความรู้เป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์รวมถึงช่องทางการตลาดสำหรับเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไป
ผู้สนใจขอรับความช่วยเหลือจากโครงการ iTAP (สวทช.) สามารถติดต่อได้ที่ (ส่วนกลาง) โทร.0-2564-7000 ต่อโครงการ iTAP หรือที่ iTAP เครือข่าย มทส. โทร. 0-4422-4947 , 0-4422-4921 โทรสาร 0-4422-4814
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP
โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 114,115