สสว. คัดสุดยอดผู้ประกอบการระดับหัวกะทิทั่วประเทศ ร่วมบ่มเพาะความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมอวดผลงาน 20 — 22 ก.ย. นี้

ข่าวทั่วไป Tuesday August 10, 2010 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--พีอาร์ เน็ทเวิร์ค สสว. ผนึกกำลัง 5 หน่วยงานคัดสรรผู้ประกอบการ SMEs ระดับหัวกะทิจากทั่วประเทศ ร่วมบ่มเพาะความรู้บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในกิจกรรมสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ SMEs ตั้งเป้าสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท พร้อมอวดโฉมผลงาน ในงานนวัตกรรมและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมไทยเข้มแข็ง 20 — 22 กันยายน นี้ ณ จามจุรีสแควร์ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า ”ตามที่ สสว. ได้ดำเนินกิจกรรมสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ SMEs ซึ่งจัดขึ้นตามนโยบายเศรษกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของรัฐบาล ภายใต้งบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ SMEs บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าในสาขาธุรกิจการผลิตและการบริการ ตลอดจนสร้างปัจจัยเอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการ SMEs บนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเสริมสร้างโอกาสทางการตลาดของธุรกิจและบริการเชิงสร้างสรรค์ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียน และตลาดส่งออกทั่วไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ กลุ่มวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ กลุ่มศิลปะ กลุ่มสื่อ และกลุ่มงานสร้างสรรค์ตามหน้าที่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ นายยุทธศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า “โครงการดังกล่าว สสว. ได้ดำเนินการร่วมกับ 5 หน่วยงานร่วม ในการคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs จาก 5 ภาคทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมาก โดยภาคเหนือ ร่วมกับ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคกลาง ร่วมกับ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคตะวันออก ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคใต้ ร่วมกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมียอดผู้ประกอบการ SMEs สมัครเข้าร่วมโครงการจาก ทั่วประเทศ กว่า 500 ราย และผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ จำนวน 114 ราย แบ่งออกเป็น ภาคกลาง จำนวน 21 ราย เป็นกลุ่มธุรกิจอาหาร ภาคเหนือ จำนวน 25 ราย แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มหัตถกรรม 15 ราย , กลุ่มแอนิเมชั่น 4 ราย , กลุ่มซอฟแวร์ 3 ราย , กลุ่มท่องเที่ยว 2 ราย และกลุ่มอาหาร 1 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 25 ราย แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ 14 ราย , กลุ่มงานสร้างสรรค์ตามหน้าที่ 11 ราย ภาคตะวันออก จำนวน 22 ราย แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอัญมณี 7 ราย , กลุ่มอาหาร 5 ราย และกลุ่มของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน 10 ราย ภาคใต้ จำนวน 21 ราย แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ จำนวน 15 ราย และกลุ่มธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวโรงแรมและสปา จำนวน 6 ราย ซึ่งภายหลังจากที่ 5 หน่วยงานร่วม ดำเนินการจัดกิจกรรม Workshop ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ผ่านการคัดเลือกแล้วนั้น การดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ โดยผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าและบริการบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนนำข้อเสนอแนะต่างๆ จากหน่วยงานร่วม อาทิ การค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์แต่ละรายด้วยภูมิปัญญาของผู้ประกอบการท้องถิ่นผสมผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงการให้ความสำคัญกับศักยภาพและมาตรฐาน การผลิต ช่องทางการตลาด ไปปรับใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการของตนเอง ซึ่งเป็น กลยุทธ์สำคัญสำหรับการพัฒนาสินค้าและบริการบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คาดว่าผลจากการ ดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท” นายยุทธศักดิ์ กล่าว ทั้งนี้ สินค้าและบริการ SMEs ที่เกิดจากการบ่มเพาะและพัฒนาในโครงการกิจกรรมสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ SMEs นั้น จะนำไปจัดแสดงในงานนวัตกรรมและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ไทยเข้มแข็ง ระหว่างวันที่ 20 — 22 กันยายน นี้ ณ จามจุรีสแควร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 0 2682 9880

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ