กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--สหมงคลฟิล์ม
เมื่อมุมมองความรู้สึกของ “เซ็กส์และศิลปะ” ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว
สู่ย่างก้าวแห่งความท้าทายกับความหลากหลายของภาพยนตร์อีโรติกที่ชวนสัมผัสเป็นที่ยอมรับว่าในการนำเสนอแง่มุมของเรื่องราวที่มี “เซ็กส์” เป็นหัวใจสำคัญ ภายใต้การนำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์อีโรติก มีข้อถกเถียงสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่เสมอคือ ทำอย่างไรให้ขอบเขตของ “เซ็กส์และศิลปะ” มีความพอดี สามารถกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว รวมไปถึงสามารถสื่อสารหรือนำเสนอประเด็นต่างๆ โดยที่เนื้อหาสาระสำคัญของภาพยนตร์ที่ตัวผู้กำกับผู้เขียนบทต้องการถ่ายทอดยังคงปรากฎอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ สำหรับโปรเจ็คต์ภาพยนตร์อีโรติกน้ำตาลแดงเกิดขึ้นภายใต้กรอบเงื่อนไขของพระราชบัญญัติพิจารณาการจัดเรทติ้งภาพยนตร์ โดยมีเนื้อหาและสาระสำคัญผ่านการตีความและมุมมองในการนำเสนอของผู้กำกับแต่ละคนอย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะผลิตภาพยนตร์เพื่อยั่วยุส่งเสริมหรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม กลับกันกับเป็นภาพยนตร์อีโรติกที่มีแง่มุมทางศิลปะและเรื่องราวภายใต้กรอบศีลธรรมอันดีงาม แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผู้กำกับทั้ง 6 คนก็หาได้ลดทอนหรือตัดรายละเอียดของสิ่งที่แต่ละคนต้องการนำเสนอโดยเฉพาะภาพอีโรติกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของทั้ง6เรื่องราวลงแต่อย่างใด กลับกันยังคงยืนหยัดในคอนเซ็ปท์และแนวทางที่สอดรับกับประเด็นหรือแง่คิดที่ตนเองต้องการถ่ายทอดลงในภาพยนตร์อย่างครบถ้วนด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งเรื่องราว สภาพบรรยากาศ สถานการณ์ที่ล้วนแตกต่างกันทางสภาพสังคม พฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ทัศนคติ ไปจนถึงวัยซึ่งบอกเล่าเรื่องราวซึ่งมีตั้งแต่วัยรุ่นหนุ่มสาว คนทำงาน เหล่าผู้คนหลากหลายอาชีพและชนชั้นต่างๆ ในสังคม ฯลฯ ที่มีเซ็กส์ และความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงเป็นองค์ประกอบสำคัญ และแน่นอนว่าย่อมเป็นความท้าทายทั้งคนทำไปจนถึงผู้ชมที่เป็นคนดู เมื่อมุมมองของ “เซ็กส์และศิลปะ” ถูกนำมาหลอมหลวมเป็นหนึ่งเดียวกัน พร้อมกับความตั้งใจของผู้กำกับและนักแสดงที่จะตั้งคำถามย้อนกลับไปยังผู้คนในทุกระดับชั้นของสังคมว่าแท้จริงแล้วภาพทุกภาพที่ปรากฎขึ้นบนจอภาพยนตร์สอดคล้องหรือเป็นส่วนหนึ่งที่จำลองจากเสี้ยวชีวิตจริงของแต่ละคนหรือไม่ อย่างไร
“เสน่ห์ของความเป็นอีโรติกของโปรเจ็คต์น้ำตาลแดงน่าจะอยู่ที่การพูดเรื่องเซ็กซ์ในแบบที่ต้องตีความ ไม่ใช่การพูดแบบตรงไปตรงมา การพูดเรื่องเซ็กส์ในเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ โดยไม่ได้พูดแบบตรงๆ เพียงแต่พูดออกมาอ้อมๆ ให้คนได้คิด หรือไปสะกิดให้คนได้นึกว่าเออจริงๆ แล้ว เราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า มันเป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนได้คิดตาม ผมว่ามันทำให้คนสนุกกับการได้ดูหนัง พอดูหนังแล้วเรามาคิดตาม แล้วเรามานึกถึงตัวเราเอง หรือว่าคนรอบข้างว่า เออ มันจริงนะ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรานะ หรือกับบุคคลรอบข้างพร้อมกับตั้งคำถามว่า เอ๊ะ เราเป็นแบบนี้รึเปล่า เสน่ห์ของอีโรติกในเรื่องนี้คือการให้คนดูได้คิด และก็ตั้งคำถามกับตัวเองและสังคม โดยเลือกสื่อในเรื่องเซ็กส์ที่อยู่ในจิตใจคน บางทีเราไม่ได้พูดถึงความต้องการ หรือความรู้สึกทางเพศโดยตรงๆ ปกติถ้าเราดูหนังทั่วไปที่เกี่ยวกับหนังรักที่ตัวละครชายหญิงมีเพศสัมพันธ์กัน จะเป็นเรื่องของความรู้สึกที่ต้องการปรารถนากันโดยตรง แต่หนังเรื่องนี้แต่ละเรื่องมันจะพูดถึงด้านลึก ความรู้สึกลึกๆ หรือความรู้สึกที่ไม่ได้เปิดเผย หรือที่ไม่สามารถเปิดเผยออกมาได้ของแต่ละคน ซึ่งดูเสร็จแล้ว มันจะตอบคำถามได้เลยว่าเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า อย่างเช่นหนังบางเรื่องพูดถึงเรื่องของชายหญิงคู่หนึ่งที่เวลาเขาได้อยู่ด้วยกัน 2 คนเขาจะมีเซ็กส์ที่วิเศษที่สุด สุดเหวี่ยงที่ใครๆก็คิดไม่ถึง ซึ่งจริงๆแล้วผมคิดว่าในสังคมเรามีเยอะมากที่เป็นแบบนี้ โดยที่ไม่มีใครพูดถึง หรือรู้ได้ ว่าจริงๆ แล้วเวลาที่อยู่ด้วยกัน 2 คน ดูฉากหน้าอาจจะเหมือนคนทำงาน มีหน้ามีตาทางสังคม แต่เวลาเขามีเซ็กส์กัน เราตะลึงไปเลยว่าเขาอย่างนี้กันเลยเหรอ นี่คือเสน่ห์ของหนัง คือพูดถึงสิ่งที่อยู่ในใจลึกๆ ของเราที่เกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ แต่ว่าไม่มีใครพูดออกมา หรืออย่างเนื้อหาบางเรื่องก็จะพูดถึง ความรู้สึกที่อยู่ในใจลึกๆ ของมนุษย์ บางทีคนเราเห็นใครบางคนเดินผ่าน แล้วเรารู้สึกชอบ คือไม่ถึงกับว่าอยากมีเพศสัมพันธ์ แต่แค่มีความรู้สึกว่าชอบ แล้วก็ปิ๊ง พอวันหนึ่งเราได้มีโอกาสใกล้ชิดเขาแล้ว แรงปรารถนาที่อยู่ในใจมันก็แสดงออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว โดยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องของการพูดถึงเรื่องความรู้สึกในใจมนุษย์ที่เกิดขึ้นจริง หรือบางเรื่องจะเป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่นที่เจอกันแล้วอยากจะ make love กัน แต่ก็ยังมีความกล้าๆ กลัวๆ ซึ่งของพวกนี้มันเกิดขึ้นจริงในสังคม แต่ไม่ค่อยมีใครเอามาพูดถึง มันเป็นเรื่องที่เก็บเอาไว้ในใจ หรือเป็นเรื่องที่มันต้องซ่อนเอาไว้ เพราะพูดไปแล้วมันเป็นเรื่องที่หน้าอาย แต่มันเกิดขึ้นจริงในสังคม ซึ่งอันนี้มันเป็นหนังที่ดูแล้วผมเชื่อว่าทุกคนจะเกิดความรู้สึกว่า เฮ้ย บางเรื่องเราเคยเป็นแบบนี้ หรือบางเรื่องเราเคยรู้สึกแบบนี้ นี่คือเสน่ห์ของหนังแต่ละเรื่องมันจะมีอะไรแบบนี้อยู่ในโปรเจ็คต์น้ำตาลแดง”
และนี่น่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่คนทำหนังต้องการถ่ายทอดและนำเสนอผ่านผลงานภาพยนตร์ไม่ว่าเรื่องนั้นจะพูดถึงเรื่องเซ็กส์หรืออีโรติกหรือไม่ อย่างน้อยที่สุด ในฐานะ “โปรดิวเซอร์” ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน 6 ผู้กำกับคนทำหนังรุ่นใหม่พร้อมก้าวจากเวที “หนังสั้น” สู่พื้นที่ที่ใหญ่กว่าในฐานะ “ผู้กำกับภาพยนตร์ฉายโรง” ที่เคยเปิดพื้นที่ให้ภาพยนตร์ดราม่าเข้มข้นสะท้อนสังคมอย่าง “นาคปรก” ได้ทำหน้าที่ตีแผ่ภาพจริงของศาสนาที่ไม่เคยมีใครกล้านำเสนอมาก่อนอย่างบัณฑิต ทองดี มั่นใจว่าโปรเจ็คต์ “น้ำตาลแดง” จะเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนดูหนังในบ้านเรา ในขณะที่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่ปรึกษาของโปรเจ็คต์เชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยจะมีการทำหนังอีโรติกอย่างจริงจังและมั่นใจในมุมมอง ศักยภาพและความสามารถในตัวของ 6 ผู้กำกับรุ่นใหม่ อย่างน้อยที่สุดความเข้าใจที่มีต่อหนังอีโรติกจะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นหนังโป๊แต่เพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงก้าวแรกก็ตาม
“ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่าอีโรติก ส่วนตัวผมเองสนใจมาตั้งนานแล้วว่า ประเทศไทยเราน่าจะมีหนังประเภทนี้สักทีหนึ่ง หลังจากที่เรามีพรบ.เรื่องเรทติ้งด้วยแล้ว เราลองมาพูดกันจริงๆ สักทีหนึ่งว่าหนังอีโรติก จริงๆ แล้วมันคืออะไร ไม่ใช่มองเป็นหนังขยะ ไม่ใช่มองเป็นสิ่งสกปรกอะไรอย่างนี้นะ ก็เลยคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้ว ที่เป็นหน้าที่ของคนทำหนังที่จะต้องมานั่งคุยกันต้องให้ความรู้กับคนดูด้วยว่าหนังประเภทนี้คืออะไร เป็นศิลปะ มันเป็นยังไง ก็เลยคิดว่ามันท้าทายต่อทรรศนะในสังคมเรา ผมคิดว่า ด้วยความท้าทายตรงนี้มันเลยกลายเป็นว่าการลงมาทำโปรเจ็คต์นี้เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ มากกว่าการที่จะมองว่าเป็นแค่การทำหนังที่มีฉากหวือหวา ผมเชื่อว่าการเกิดขึ้นของโปรเจ็คต์หนังเรื่องนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะสื่อสารให้รู้ว่าภาพยนตร์อีโรติกเป็นศิลปะอย่างไร เพื่อให้คนกล้าที่จะไปตีตั๋วดู”
และ 26 ส.ค.นี้มาร่วมพิสูจน์ความหวานเข้มเต็มอรรถรสของ “น้ำตาลแดง 1” ซึ่งประกอบไปด้วย “ปรารถนา, โสบนเตียงและรักต้องลุ้น” เป็นการเปิดเส้นทางของภาพยนตร์อีโรติก อีกแนวทางเลือกของคนดูหนังได้สัมผัส ก่อนที่ “น้ำตาลแดง 2” ซึ่งประกอบไปด้วย “หลุมพราง, ทฤษฎีบนโต๊ะอาหาร และ คู่รักบนดาวโลก” จะถูกนำเสนอในลำดับต่อไป ผ่านมุมมองและความสามารถของคนทำหนังรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทยต่อไปในอนาคต
ประวัติ 6 ผู้กำกับโปรเจ็คต์ “น้ำตาลแดง”
ภาพยนตร์น้ำตาลแดง 1- ปรารถนา
ชื่อ-นามสกุล กิตติยาภรณ์ กลางสุรินทร์ (เอม)
วัน/เดือน/ปีเกิด 3 มิถุนายน 2526
การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาภาพยนตร์ และวีดีทัศน์
ความฝันในวัยเด็กอยากเป็นสัตวแพทย์จนเอ็นทรานซ์ติด แต่ต้องย้ายตามครอบครัวจึงสละสิทธิ์ กลายเป็นจุดหักเหของชีวิต จึงกลับมาค้นหาตัวเองอย่างจริงจัง และด้วยเหตุผลที่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจตั้งแต่เด็ก เพราะร้านเช่าวีดีโออยู่ข้างบ้าน กิตติยาภรณ์ กลางสุรินทร์ (เอม) ตัดสินใจเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาเอกภาพยนตร์ โดยตอนอยู่มหาวิทยาลัยมีเพื่อนในกลุ่มเป็น ศาสตร์ ตันเจริญ (โอ), สุรวัตน์ ชูผล (เอก), อนุรักษ์ จรรโลงศิลป (โจ้) และปฏิกร ป้อมชัย (ปั้น) สนิทกันทำงานกลุ่ม และ กิจกรรมร่วมกันมาตลอด ส่วน ภาณุมาศ ดีสัตถา (ต้น) กับ ปรัชญา ลำพองชาติ (โอ๊ก) เป็นรุ่นน้องชวนมาออกกองบ่อยจนสนิทกัน เรียนได้ 3 ปีครึ่ง ตัดสินใจทำงานเพราะอยากหาประสบการณ์ให้มากที่สุด แต่พอถึงช่วงทำ Thesis ก็กลับมาทำงานกับเพื่อนจนเรียนจบรับปริญญาพร้อมกัน
เดิมทีคิดอยากเป็นโปรดิวเซอร์ พอเวลาและประสบการณ์สะสมมาเรื่อยๆ ส่งผลงานหนังสั้นเข้าประกวดและรับรางวัลมากมายในสาขาต่างๆ รวมถึงทำงานตั้งแต่เป็นผู้ช่วยคัดเลือกนักแสดงภาพยนตร์โฆษณา บ.สตาร์ฮัท, ประสานงานกองถ่าย บ. Indo Bangkok, ผู้ช่วยผู้กำกับ2 ภาพยนตร์เรื่อง ลองของ2 (ช่วงเตรียมงานสร้าง), ผู้ช่วยผู้จัดการกองภาพยนตร์โฆษณา บ.First Time และ ติดต่อประสานงาน ทีมงานเขียนบท Project: Behind The Scene จนเริ่มรู้สึกว่าอยากเป็นผู้กำกับแล้วเขียนบทเอง อยากถ่ายทอดความเป็นตัวเอง รวมถึงมุมมองให้คนอื่นได้รับรู้ ก่อนที่จะมารวมกลุ่มกลายเป็น กลุ่มโกอิ้งเบอร์เซิร์ก ทำโปรเจ็คต์หนังสั้น เข้าไปเสนอกับโปรดิวเซอร์มากประสบการณ์ อ็อด-บัณฑิต ทองดี และเมื่อผู้ใหญ่ให้โอกาส จึงกลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง “ปรารถนา” ของโปรเจ็คต์ “น้ำตาลแดง” ขึ้นมา
ผลงานที่ผ่านมา
ปี 2007
- โปรดิวเซอร์และบันทึกเสียง ภาพยนตร์สั้นปริญญานิพนธ์ (Thesis) “ความ(น่า)เชื่อ”
- รับรางวัลช้างเผือกชมเชย และได้เข้ารอบ 1 ใน 5 เรื่อง สาขารางวัลถ่ายภาพ Competition Kodak
ของมูลนิธิหนังไทย เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 11
ปี 2005
- เขียนบทภาพยนตร์สั้น “เลียนแบบ” เข้าประกวดโครงการ สสส. จนได้รางวัลรองชนะเลิศ
- โปรดิวเซอร์และบันทึกเสียง ภาพยนตร์สั้นในรายวิชาผลิตภาพยนตร์2 “บุรุษไปรษณีย์” เข้ารอบ 1
ใน 5 เรื่อง สาขารางวัลถ่ายภาพ Competition Kodak ของมูลนิธิหนังไทย เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 9
ปี 2004
- โปรดิวเซอร์ ภาพยนตร์ต้นแบบ3 ภาพยนตร์สั้น “ใกล้จบ” ได้รับรางวัลสุพรรณหงษ์ ครั้งที่14
และได้รับรางวัลช้างเผือกชมเชย จากมูลนิธิหนังไทยเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 8
ปี 2003
- ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ ภาพยนตร์ต้นแบบ2 ภาพยนตร์สั้น “กระบือลือลั่น” ได้รับรางวัลช้างเผือกชมเชย
จากมูลนิธิหนังไทย เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 7
ภาพยนตร์น้ำตาลแดง1- โสบนเตียง
ชื่อ-นามสกุล ภาณุมาศ ดีสัตถา (ต้น)
วัน/เดือน/ปีเกิด 15 กรกฎาคม 2525
การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิต คณะนิเทศศาสตร์สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์(เกียรตินิยมอันดับ 2)
“ผมอยากเป็นผู้กำกับหนังครับ” ภาณุมาศ ดีสัตถา (ต้น) มักจะตอบทุกครั้งเวลาที่มีใครๆ ถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร โดยที่ตอบไปแบบไม่ได้คิดจริงจังอะไร ไม่มีความมุ่งมั่นอะไรมาก รู้สึกอย่างเดียวคือมันเท่ห์ดี เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษา จึงเลือกเรียนวิชาเกี่ยวกับ Computer Science ที่ Johnson and Wales University, Providence, Rhode Island, USA เรียนไปได้เกือบ 2 ปี เริ่มรู้ว่าใจจดใจจ่ออยู่กับการดูหนังและทำหนัง กลับไปคิดถึงคำตอบ อยากเป็นผู้กำกับหนัง ที่ตอบแบบไม่จริงจัง แต่มันเป็นสิ่งหนึ่งที่จุดประกายของการเริ่มต้น จิตใต้สำนึกลึกๆว่าอยากสร้างหนังและอยากเป็นผู้กำกับอย่างชัดเจน ทำให้ตัดสินใจทิ้ง 2 ปีที่เรียนมา กลับเริ่มต้นใหม่ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ด้วยความมุ่งมั่น หมั่นเรียนรู้ ขยันดูหนัง ฝึกฝนหาวิธีและหนทางการทำหนังมาตลอด จากวันนั้นจนถึงวันนี้ทุกสิ่งทุกความหมายของภาพยนตร์ ถูกซึมซับเข้าในสายเลือดจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สิ่งสำคัญที่ทำให้ภาณุมาศ ดีสัตถา สุขใจมากที่สุดคือการมีผู้คนได้ชมผลงานฝีมือกำกับของเขา และมีความสุขกับภาพยนตร์ที่เขาทำ ล่าสุดได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ทำโปรเจ็กต์ “น้ำตาลแดง” ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “โสบนเตียง”
ผลงานที่ผ่านมา
ปี 2546 เขียนบทและกำกับภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Mistake”
ชนะเลิศ รางวัล Faculty Choice Award ที่ Johnson and Wales University, USA
ปี 2548 เขียนบทและกำกับ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “แม่...หนู”
ได้รางวัล ทุนสนับสนุนจากโครงการ THAI YOUNG ARTIST AWARD 2005
และเข้ารอบสุดท้ายรางวัลช้างเผือก ของเทศกาลหนังสั้นมูลนิธิหนังไทย ครั้งที่ 9
ปี 2549 ร่วมเขียนบทและกำกับ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “อัตตาซื้อขนมยาย”
เข้ารอบ 10 เรื่องสุดท้าย ในโครงการ Forget-Me-Not Award ครั้งที่ 1
ปี 2550 เขียนบทและกำกับ ภาพยนตร์เรื่อง “รักขนาน” (Thesis)
ปี 2551 ร่วมกำกับสารคดีเกี่ยวกับไข้หวัดนก เรื่อง “ไข้หวัดนก ภัยข่มขู่ต่อเนื่อง”
ของ UNICEF ที่ประเทศลาว
ภาพยนตร์น้ำตาลแดง 1- รักต้องลุ้น
ชื่อ-นามสกุล ศาสตร์ ตันเจริญ (โอ)
วัน/เดือน/ปีเกิด 10 มกราคม 2522
การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาเอกภาพยนตร์ และวีดีทัศน์
การได้สัมผัสบรรยากาศในโรงภาพยนตร์ครั้งแรก ที่พี่ชายพาไปดูในตอนชั้นประถม 6 ทำให้ ศาสตร์ ตันเจริญเกิดความประทับใจ รู้สึกดี รู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเริ่มดูหนังมาเรื่อยๆ กลายเป็นความเคยชิน ดูได้หมดทุกเรื่องทุกแนวไม่มีจำกัด จนในที่สุดค้นพบแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง วีคเอน (Weekend) ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ฌอง ลุค โกดาร์ด ก่อเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของความอยากสร้างหนัง และอยากเป็นผู้กำกับหนัง ความฝันและแรงบันดาลใจผลักดันจนในที่สุด ได้ทำหนังเรื่องแรกในชีวิต และลงมือทำกับเพื่อนๆ ชื่อเรื่อง Talk Talk Talk เป็นเรื่องเกี่ยวกับความลับและการพูดบอกต่อๆกัน ส่งเข้าประกวดเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 2 (ของมูลนิธิหนังไทย) ได้รับรางวัลชมเชย ถึงจะไม่ได้รางวัลชนะเลิศแต่สร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหนังเรื่องแรกในชีวิต จนเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีของ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะนิเทศศาสตร์สาขาภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ระหว่างเรียนทำหนังส่งประกวด และเข้าฉายตามเทศกาลต่างๆ เรื่อยมาโดยร่วมกันกับกลุ่มเพื่อน (กลุ่มโกอิ้งเบอร์เซิร์ก กับ โปรเจ็กต์ “น้ำตาลแดง”) มุมมองและทัศนคติของ ศาสตร์ ตันเจริญ คือ “การได้ทำหนังเป็นสิ่งเดียวที่ทำแล้วมีความสุข” ล่าสุดกับผลงานในโปรเจ็กต์ “น้ำตาลแดง” ภาพยนตร์เรื่อง “รักต้องลุ้น”
ผลงานที่ผ่านมา
ภาพยนตร์สั้นเรื่อง Talk Talk Talk
1998 The2nd Thai Short Film & Video Festival
Special mention from The2nd Thai short Film & Video Festival
ภาพยนตร์สั้นเรื่อง Sofar (ห่างไกล)
1999 the3nd thai short film & video festival, Thailand
2005 Digital Barcelona Film Festival, Spain
ภาพยนตร์สั้นเรื่อง วันวันหนึ่ง (ผู้ชายผู้หญิง)
2004 The8nd Thai short Film & Video Festival, Thailand
(เข้าประกวดเทศกาลหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 8)
ภาพยนตร์สั้นเรื่อง Relativity plus Quantam (สัมพัทธภาพบนหลักของความไม่แน่นอน)
2005 The9nd Thai Short Film & Video Festival, Thailand
- Second prize for the White Elephant category the 9th Short Film & Video Festival, Thailand
- Best Cinematography Kodak Awards the 9th Short Film & Video Festival, Thailand
2006 14th Curtas Vila do Conde International Film Festival, Protugal
2005 CJ Entertainment Asian Film Festival, South Korea
2005 The 3rd World Film Festival of Bangkok, Thailand
ภาพยนตร์สั้นเรื่อง The Air that I breathe (อากาศรักที่ 8 ส่วน 7)
2005 Busan Universitate for Digital Content, South Korea
2005 Digital Barcelona Film Festival, Spain
ภาพยนตร์สั้นเรื่อง A Same Old Story. As I thoght it was the same. But it's not the Same
( เรื่องเดิมเดิมที่เหมือนจะเหมือนเดิมแต่เหมือนมันไม่เหมือนเดิม )
2006 Tout a fait Thai, France
2006 Bangkok International Film Festival, Thailand (เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ)
ภาพยนตร์เรื่อง Lost Nation (ผมชื่อชาติ)
2009 The7th World Film Festival of Bangkok, Thailand
ภาพยนตร์น้ำตาลแดง 2 -หลุมพราง
ชื่อ-นามสกุล สุรวัฒน์ ชูผล (เอก)
วัน/เดือน/ปีเกิด 11 กรกฎาคม 2521
การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดิทัศน์
เรียนจบระดับ ปวช. และ ปวส. ที่ช่างศิลป์ สายจิตรกรรม มีโอกาสเข้าไปทำหนังโฆษณาในสายอาร์ตไดเร็กชั่นโดยพี่สาวเป็นคนแนะนำ แต่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับทางสายหนังเลย จนครั้งหนึ่งได้มีโอกาสตามเพื่อนๆ ที่ทำหนัง และนำไปฉายประกวดตามเทศกาลหนัง และได้รู้จักกับ ปีเตอร์ มนัส (ผกก.เรื่อง 999-9999 ต่อติดตาย, คนไฟลุก) และแนะนำให้ดูหนังที่น่าสนใจหลายเรื่อง อย่างเช่นหนังญี่ปุ่นเรื่อง Tempopo (จูโซ่ อิตามิ) และหนังนอกกระแสอีกมากมาย จนกลายเป็นแรงบันดาลใจอยากทำหนัง ผสมผสานกับประสบการณ์จากการทำหนังโฆษณา และความรู้สมัยเรียนช่างศิลป์ นำมาเชื่อมโยงกันอย่างลงตัว จนเมื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาภาพยนตร์ และวีดีทัศน์ ได้รวมตัวกับกลุ่มเพื่อนทำหนังสั้น ซึ่งทุกเรื่องทำหน้าที่กำกับ หนังสั้นเรื่องแรกในชีวิตคือเรื่อง “กระเป๋าสตางค์” และเรื่องต่อมาคือเรื่อง “บุรุษไปรษณีย์” ส่งเข้าประกวดกับมูลนิธิหนังไทย ในสาขาการถ่ายภาพยอดเยี่ยม (Finalist Kodak Competition FilmSchool) แม้สุดท้ายจะได้เพียงการฉายโชว์เท่านั้นแต่ก็ถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง จากนั้นก็ทำหนังสั้น และส่งเข้าประกวดมาเรื่อยๆ จนได้รวมกลุ่มเพื่อนโชว์ไอเดีย ผุดโปรเจ็คต์ “น้ำตาลแดง” แนวอีโรติก-อาร์ท ภาพยนตร์เรื่อง “หลุมพราง”ผลงานที่ผ่านมา
1) ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “บุรุษไปรณีย์” 9th Short Film&Video Festival Thailand,
Official Finalist Kodak Competition Film School 2004
2) ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ก้อนเมฆสีขาว” 11th Short Film&Video Festival Thailand,
Official Finalist Kodak Competition Film School 2006, White Pigeon Peace Prize the October 14 Foundation
3) ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ความ(น่า)เชื่อ” Consolation Prize 11th ShortFilm&Video Festival Thailand,Official Finalist Kodak Competition Film School 2006, Selection Young Thai Artist Award 2006
ภาพยนตร์น้ำตาลแดง 2- ทฤษฎีบนโต๊ะอาหาร
ชื่อ-นามสกุล ปรัชญา ลำพองชาติ (โอ๊ก)
วัน/เดือน/ปีเกิด 22 พฤศจิกายน 2525
การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะนิเทศศาสตร์ สาขา ภาพยนตร์และวีดีทัศน์
วัยเด็กของ ปรัชญา ลำพองชาติ (โอ๊ก) ไม่ต่างจากเด็กทั่วๆ ไปคือ ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ หรือนักดนตรี แต่รู้ว่าความฝันทั้งสองอย่างคงไม่ประสบความสำเร็จ เริ่มทบทวนว่าสิ่งที่เหมาะสมกับตัวตนแท้จริงคืออะไร ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงจะมีอุปสรรคในระหว่างเรียนบ้าง แต่สุดท้ายพิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจ เมื่อภาพยนตร์สั้นเรื่อง “กลับบ้าน” ถูกคัดเลือกเข้าไปแข่งขันในเทศกาลภาพยนตร์ Clermont Ferrand Film Festival 2007 (France) เป็นภาพยนตร์ของไทยเพียงเรื่องเดียว และได้รับรางวัลชนะเลิศ Kodak Competition ในปีเดียวกัน เป็นความภาคภูมิใจและแรงผลักดันในการผลิตภาพยนตร์สั้นเรื่องต่อๆ มา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้กำกับโฆษณา บ.เมซองฟิล์ม แอนด์โปรดักชั่น และกลับมารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ สมัยเรียน (กลุ่มโกอิ้งเบอร์เซิร์ก) อีกครั้งภายใต้โปรเจ็คต์ “น้ำตาลแดง” ภาพยนตร์เรื่อง “ทฤษฎีบนโต๊ะอาหาร”
ผลงานที่ผ่านมา
ภาพยนตร์โฆษณา (TVC) Banana ticket .com
(TVC) เครื่องดื่มทรอปีคาน่า ของประเทศอินโดนีเซีย
(TVC) แลนด์ ดีโฮม บริษัทรับสร้างบ้าน
(มีเดียออนไลน์) ซีรี้ 4 ตอน โปรดัก L — MN โปรดักโปรตีน เสริมกล้ามเนื้อ
ผลงานสมัยเรียน ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
2009 ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “นักโทษ” ภาพยนตร์ ปริญญานิพนธ์
Winner Best film Thai foundation Festival 2009 (Thailand)
ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “คนจรจัด”
Selection Midina Del Campo Film Festival 2009 (Spain)
2008 ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “คนจรจัด”
Selection Berlin Film 2008 Festival (Germany)
Republic award Asiana International Film Festival seoul 2008 (Korea)
Special mention Thai Foundation Festival 2008 (Thailand)
2007 ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “กลับบ้าน”
Selection Clermont Ferrand Film Festival 2007 (France)
Winner best Film Kodak competition 2007 (Thailand)
ภาพยนตร์น้ำตาลแดง 2 — คู่รักบนดาวโลก
ชื่อ-นามสกุล อนุรักษ์ จรรโลงศิลป (โจ้)
วัน/เดือน/ปีเกิด 19 มิถุนายน 2526
การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการภาพยนตร์ และวีดิทัศน์
อนุรักษ์ จรรโลงศิลป (โจ้) เกิดที่จังหวัดยะลา บ้านประกอบธุรกิจร้านเช่าวีดีโอ และหน้าบ้านมีโรงหนังปัตตานีรามา โดนปลูกฝังและถูกเลี้ยงด้วยภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก ดูภาพยนตร์เรื่อง ET ไม่ต่ำกว่า 50 รอบ และเรื่องอื่นๆ 30-40 รอบ แรงบัลดาลใจเกิดจากคุณพ่อ (ทำอาชีพตากล้องถ่ายตามงานพิธีต่างๆ) เวลาเครียดมักจะนั่งดูหนังเสมอ ยิ่งเครียดก็ยิ่งดูตลอด ด้วยความมุ่งมั่น และศรัทธาอันแรงกล้าเลือกเดินตามฝันของตัวเอง จึงเป็นเหตุผลตัดสินใจเลือกเรียนทางสายภาพยนตร์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งใจเรียนสุดชีวิต โดยเฉพาะวิชาการถ่ายภาพเบื้องต้น ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน อาจารย์จึงให้เป็นวิทยากรพิเศษสอนรุ่นน้องคู่กับ พี่แมน (สรายุทธ นีรปัทมะ-กำกับภาพคู่รักบนดาวโลก) ในระหว่างที่กำลังศึกษาไปด้วย ในด้านกิจกรรม หรือช่วงที่ทำงานกลุ่มผลิตภาพยนตร์มีกลุ่มเพื่อน (กลุ่มโกอิ้งเบอร์เซิร์ก) ช่วยเหลือกันมาตลอดทำหนังสั้น และส่งเข้าประกวด หลังจากจบการศึกษา ต่างคนต่างแยกย้ายไปตามฝันที่ตัวเองต้องการ และกลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง ภายใต้โปรเจ็คต์ “น้ำตาลแดง” ภาพยนตร์เรื่อง “คู่รักบนดาวโลก”
ผลงานที่ผ่านมา
ปี 2548 กำกับภาพ/ตัดต่อ ภาพยนตร์สั้น เรื่อง “จากแม่” ได้รับรางวัลชมเชย จากการประกวดภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย ครั้งที่ 9 (9th Thai Short Film & Video Festival) และได้เข้ารอบ 9 เรื่องสุดท้าย ชิงรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม จากโกดัก (Kodak The Competition)
กำกับ/ตัดต่อ ภาพยนตร์สั้น เรื่อง “ช่องว่างระหว่างมวล” เข้ารอบ 19 เรื่องสุดท้าย ชิงรางวัลช้างเผือก จากการประกวดภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย ครั้งที่ 9 (9th Thai Short Film & Video Festival)
ปี 2549 กำกับภาพ ภาพยนตร์สั้น เรื่อง “หลังที่สอง” ได้รับรางวัลชมเชย จากการประกวดภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย ครั้งที่ 10 (10th Thai Short Film & Video Festival) และได้เข้ารอบ 9 เรื่องสุดท้าย ชิงรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม จากโกดัก (Kodak The Competition)
กำกับ/ตัดต่อ ภาพยนตร์สั้น เรื่อง “ต่างมุม” ได้รับรางวัลวิจิตรมาตรา จากการประกวดภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย ครั้งที่ 10 (10th Thai Short Film & Video Festival) และได้รับรางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยม ของคณะนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2549 จากม.รังสิต
ปี 2551 ผลิตรายการ “Golf for you” จำนวน 44 ตอน ออกอากาศทางช่อง T-Sports
ปี 2552 ตัดต่อรายการสีสันแฟชั่น ออกอากาศทางช่อง 7
ปี 2553 กำกับภาพยนตร์โฆษณาของกรมการปกครอง เรื่อง “รางวัล” และ “คุณพ่อของหนู”
ประวัตินักแสดง น้ำตาลแดง1
ภาพยนตร์น้ำตาลแดง1-ปรารถนา
ชื่อ-สกุล วรินทร ญารุจนนทน์ (บลูม)
การศึกษา Metalworks Institute, Ontario, Canada
(Audio Production & Engineering Certificate)
ความสามารถพิเศษ เล่นกลอง, ร้องเพลง, กีตาร์
ผลงานล่าสุด 1ใน10หนุ่ม Men's Health Guys' Challenge 2010
ชื่อ-สกุล ลักขณา วัธนวงส์ศิริ (อุ้ม)
การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ประสานมิตร คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดงฯ
ผลงานที่ผ่านมา นักแสดง, นางแบบเจ้าของตำแหน่ง Super Model of Thailand 2000 ผลงานละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ อาทิตำนานกระสือ, อุกกาบาต, รถไฟผี, มนต์รักลูกทุ่ง, โกยเถอะโยม ฯลฯ
ภาพยนตร์น้ำตาลแดง1-รักต้องลุ้น
ชื่อ-สกุล นัฏฐกันย์ อนุมาตรฉิมพลี (แอ๊นซ์)
การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิต คณะศิลปกรรม สาขา แฟชั่นดีไซน์
ผลงานที่ผ่านมา ผลงานด้านโฆษณา Coke, L’Oreal, Fisherman’s friend, Biore
ชื่อ-สกุล กร-จิตติกร สงจันทร์
การศึกษา ปริญญาตรีนิเทศศาตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
สาขา ภาพยนตร์
ผลงานที่ผ่านมา ภาพยนตร์สั้นเรื่อง The boy never smile
ภาพยนตร์น้ำตาลแดง1-โสบนเตียง
ชื่อ-สกุล พัสวีพิชญ์ ศรณ์อัครภา (ครี)
การศึกษา ปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะนิเทศน์ศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และภาพนิ่ง
ผลงานที่ผ่านมา นางแบบ, นักแสดงสาว ที่มีภาพยนตร์โฆษณา, มิวสิควิดีโอ และงานถ่ายแบบมากมายอาทิ สสส.รณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่, คลอเร็ท, CAT Telecom, ซัลซิล ฯลฯ รวมทั้งเป็นพรีเซนเตอร์ปฏิทินลีโอเบียร์ปีล่าสุด ผลงานภาพยนตร์ต่างประเทศ อาทิVenture of Love (เยอรมัน), Love in Thailand (คูเวต)
ชื่อ-สกุล ประกาศิต โบสุวรรณ (ปั๋ง)
ผลงานที่ผ่านมา นักร้องวง “สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง”, ผลงานด้านละครโทรทัศน์เรื่อง ห้องชุดสุดสวีท, เพื่อน, ชายในฝัน, กุหลาบสีดำ ฯลฯ, พิธีกร, ผลงานด้านภาพยนตร์เรื่อง สายลับจับบ้านเล็ก, จี้, 7 ประจันบาน2 ฯลฯ