มหาวิทยาลัย เชียงใหม่เชิญร่วมเวิร์คช็อปการจัดทำหุ่นประยุกต์ล้านนา และหุ่นวัสดุอุปกรณ์ ตำรับคณะกระบองลาว

ข่าวทั่วไป Wednesday March 28, 2007 15:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--พีอาร์ เน็ต เวิร์คคอนซัลแตนท์
นางสาววิลาวัณย์ เศวตเศรณี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เชิญชวนผู้สนใจร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการการประดิษฐ์หุ่นประยุกต์ล้านนา และหุ่นวัสดุอุปกรณ์ ตำรับคณะกระบองลาว จากเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว ในระหว่างงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมนานาชาติเชียงใหม่ 2550 ระหว่างวันที่ 1 — 9 เมษายน 2550 ณ บริเวณข่วงศิลปะ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
“หุ่นประยุกต์ล้านนา ได้รับการพัฒนาจาก หุ่น “วายังโกเล็ก” ประเทศอินโดนีเซีย โดยเป็นหุ่นแกะไม้ ซึ่งนำมาวาดลวดลายหน้าตา และแต่งกายแบบล้านนา ซึ่งมีความวิจิตรงดงามตามแบบฉบับชาวล้านนา ในส่วนของลำตัว จะเป็นด้ามไม้ยาวสอดอยู่ข้างใน เป็นลำกระบอกยาวขึ้นไปจรดถึงคอ เพื่อให้ผู้เชิดหุ่นสามารถบิดคอหุ่นซ้าย-ขวา ได้ ในส่วนของมือ จะมีตะเกียบส่วนที่ต่อกับมือหุ่น เพื่อให้เวลารำมือจะอยู่ตรงปลาย ดังนั้น เวลาจะทำให้หุ่นเคลื่อนไหว จะเป็นลักษณะบิดขอมือกับจับไม้ตะเกียบให้สามารถเคลื่อนไหวได้ ผู้เชิดจะอยู่ข้างหลังม่านจับ กลไกก็จะง่ายขึ้น เพราะผู้เชิดจะไม่ต้องเรียนท่ารำเหมือนหุ่นกระบอกไทย”
การประดิษฐ์หุ่นประยุกต์ล้านนา นั้น จะต้องขัดไม้ จากนั้นทาสีด้วยสีทาบ้าน แล้วขัดจนกระทั่งผิวไม้มีความกลมกลึง จึงจะสามารถวาดหน้าตาของหุ่นได้อย่างสวยงาม จากนั้นก็ทำเครื่องตกแต่งกายของหุ่น ทั้งนี้ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ผู้อบรมจะได้เรียนวิธีการเชิดหุ่น และการเขียนบทควบคู่กันไปด้วย ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมอบรมได้ในระหว่างวันที่ 2 — 4 เมษายน 2550 เวลา 09.00 — 17.00 น. ณ บริเวณข่วงศิลปะ หอศิลปวัฒนธรรมธรรมเมืองเชียงใหม่ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
ในส่วนของหุ่นวัสดุอุปกรณ์ ตำรับคณะกระบองลาว นั้น เป็นการนำวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้กันอยู่เป็นประจำ นำมาผลิตเป็น “หุ่นวัสดุอุปกรณ์” หรือ “ตุ๊กตา” ในภาษาลาว ซึ่งได้แนวคิดมาจากฝรั่งเศส ซึ่งได้มีการตกแต่งอุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ ฝักบัวรดน้ำ ซึ่งนำมาตกแต่งใส่เสื้อผ้า ใส่แว่นตา เมื่อแสดงจะใช้ดนตรีเป็นสื่อในการแสดง ไม่มีบทพากษ์ ไม่มีสคริปต์ ซึ่งเนื้อเรื่องที่แสดงในแต่ละครั้งที่เปิดให้ผู้ชมได้ชมกันนั้น ผู้ชมจะได้ใช้จินตนาการของตนเองในการแต่งเรื่องราวต่าง ๆ ตามแต่ที่ตนเองคิดอย่างอิสระ ซึ่งในฝรั่งเศส จะมีผู้แสดงเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่เล่นกับวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ
สำหรับ คณะกระบองลาว ก็เช่นเดียวกัน แต่จะมีผู้เล่นจำนวน 7 คน ซึ่งหุ่นแต่ละตัวจะมีจำนวนผู้เชิดแตกต่างกันไป ซึ่งผู้เชิดแต่ละคน จะแต่งกายด้วยชุดเหมือนกัน แล้วออกท่าทางตามเสียงดนตรี ประกอบไปกับการเชิดหุ่นไปในทิศทางต่าง ๆ ด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการการประดิษฐ์หุ่นวัสดุอุปกรณ์ ได้ในระหว่างวันที่ 5 — 6 เมษายน 2550 ระหว่างเวลา 15.00 — 22.00 น. ณ บริเวณข่วงศิลปะ หอศิลปวัฒนธรรมธรรมเมืองเชียงใหม่ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 053-248604, 302500 และ TAT Call Center 1672
เว็บไซต์การจัดงาน www.chiangmaiart2007.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ 0 2682 9880

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ