เปิดงานวิจัยดีเด่น ก.ตาชั่ง พัฒนาความรู้เพื่อความยุติธรรม

ข่าวทั่วไป Thursday July 26, 2007 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--ก.ยุติธรรม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ประกาศผลการพิจารณารางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของกระทรวงยุติธรรมประจำปี พ.ศ.2549 โดยผลงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบและวิธีการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษและมาตรการในการป้องกันปราบปรามประเภทคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ” โดย สำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ คว้ารางวัลผลงานวิจัยเด่น คุ้มค่าสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง
งานวิจัยเรื่องนี้ มีสาระสำคัญจากการศึกษาพบว่า การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 นั้น ในเบื้องต้นเริ่มจาก การข่มขู่ กีดกันการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐและการวางแผนสมยอมราคากันในสถานที่นัดหมายของกลุ่มผู้ประมูลงานงานของรัฐ มีการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับนักธุรกิจร่วมกันจัดทำโครงการเพื่อของบประมาณใหม่ในแต่ละปี สำหรับกลุ่มบุคคล ที่กระทำความผิดสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเอกชน และกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งในกลุ่มเอกชนมีรูปแบบการกระทำความผิด 2 รูปแบบคือ รูปแบบกีดกัน เช่น ทำลายเอกสารประกาศเชิญชวนของทางราชการ การใช้เทคนิคขัดขวางการเสนอราคา จนถึงการใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต เป็นต้น และรูปแบบสมยอม เช่น การแบ่งสรรผลประโยชน์ในลักษณะเฉลี่ยกำลังการ แบ่งงาน เป็นต้น สำหรับพฤติการณ์การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พบการกระทำผิด 3 รูปแบบ คือ รูปแบบการกีดกัน รูปแบบการสมยอม และรูปแบบการเจตนากระทำผิดกฎ ระเบียบ เพื่อเปิดช่องให้มีการแข่งขันราคาที่ไม่เป็นธรรม ตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การกำหนดความต้องการหรือคุณลักษณะเฉพาะ การจงใจไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่มีประโยชน์ร่วมกันหรือรู้เห็นการกระทำของเอกชนที่มีพฤติกรรมขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมแล้วละเว้นไม่ดำเนินการรายงาน รวมทั้งนำข้อมูลไปเปิดเผยต่อผู้เสนอราคาบางรายเพื่อให้เกิดการได้เปรียบในการเสนอราคา เป็นต้น
จากการศึกษารูปแบบและวิธีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด 6 มาตรการ คือ มาตรการประชาสัมพันธ์เชิงรุก มาตรการจัดทำฐานข้อมูลผู้กระทำความผิด มาตรการจัดตั้งแหล่งข่าวในพื้นที่เป้าหมาย มาตรการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล มาตรการแฝงตัวและ จัดเจ้าหน้าที่แทรกซึม และมาตรการด้านการเงิน การบัญชี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าว คณะทำงานฯได้เสนอมาตรการเพิ่มเติม 8 มาตรการ คือ มาตรา เฝ้าระวัง มาตรการมีส่วนร่วมของตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ มาตรการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มาตรการกำหนดโทษให้มีคณะกรรมการควบคุมราคากลาง มาตรการด้านภาษี มาตรการในการฟ้องคดี มาตรการ บูรณาการและประสานงานกับสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และมาตรการเพิ่มบทลงโทษและเพิ่มโทษในคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ได้รับรางวัลชมเชยอีก 4 เรื่อง ได้แก่ งานวิจัยเรื่อง 1) “รูปแบบการกระทำความผิดและวิธีการดำเนินคดีพิเศษด้านคดีทรัพย์สินทางปัญญาและมาตรการป้องกันปราบปราม คดีพิเศษ 25/2547 กรณีปลอมเครื่องหมายการค้าสินค้ารองเท้า กระเป๋าชนิดต่าง ๆ” โดย สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ 2) “ทัศนะของพันธมิตรราชทัณฑ์ต่อการนำประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานราชทัณฑ์” โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาชญาวิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์ 3) “รูปแบบและวิธีการกระทำผิดที่มีลักษณะเป็นคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ : ศึกษากรณีค้าหญิงและเด็ก-คดีพิเศษที่ (ปกปิด/2548)” โดย สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ 4) “เบื้องหลังชีวิตของอาชญากรมืออาชีพ” โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาชญาวิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์
นายชาญชัญ ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า รัฐบาลนี้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศและเล็งเห็นว่า กระบวนการยุติธรรม คือโครงสร้างพื้นฐานของสังคม ที่จะต้องเร่งรัดให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยุติธรรมในสังคม การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน และสามารถเข้าใจวัตถุประสงค์ของการบริหารงานยุติธรรมของประเทศในภาพรวมแบบบูรณาการได้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อประชาชนและสังคม การดำเนินการส่วนหนึ่งจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ รวมทั้งการวิจัยทางสังคมศาสตร์และนิติศาสตร์ เพราะการวิจัยเปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะชี้นำให้กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสม
ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาและประเมินผลงานวิจัยของกระทรวงยุติธรรมได้มีการพิจารณาให้รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของกระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2549 เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน ยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้กำลังใจแก่นักวิจัยและหน่วยงานที่สร้างสรรค์ผลงานวิจัยดีเด่น โดยคำนึงคุณภาพงาน ระยะเวลาในการดำเนินการ ความคุ้มค่า และสามารถนำประโยชน์จากงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ท่าน เป็นผู้พิจารณา ประกอบด้วย พล.ต.ต.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ ศาสตราจารย์วีรพงษ์ บุญโญภาส รองศาสตราจารย์ประธาน วัฒนวาณิชย์ และผศ. ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย ทั้งนี้มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมส่งผลงานเข้าประกวดรวมจำนวน 10 เรื่อง.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกิจการยุติธรรม โทร.0-22701350 ต่อ 109,113
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ