กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.ชูเฮย โตโยดะ (Dr. Shuhei Toyoda) ประธานบริษัท โตโยต้า โบโชคุ คอร์ปอเรชั่น เจแปน เปิดเผยภายหลังกล่าวถวายรายงานแก่สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ ในพิธีเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2553 ว่าการเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งนี้ ทางบริษัท โตโยต้า โบโชคุ ได้เตรียมจัดแสดงนวัตกรรมทางเทคโนโลยีหลายอย่างโดยเฉพาะด้านการใช้ใยปอในการเพิ่มความแข็งแรงของชิ้นส่วน บริษัทฯ ได้นำภาพทอพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ มาจัดแสดง เนื่องจากบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในการผลิตสิ่งทอเป็นหลักมาก่อน ก่อนจะพัฒนาสู่ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานความสามารถในการผลิตสิ่งทอเข้ากับเทคโนโลยีของบริษัทฯ ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว
ทางบริษัท โตโยต้า โบโชคุ เอเชีย เล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดส่งชิ้นส่วนในแถบภูมิภาคเอเชียของทางโตโยต้า โดยชิ้นส่วนที่สำคัญ (Functional Part) ได้แก่ ตัวปรับระดับเบาะที่นั่ง (recliner) ซึ่งแต่เดิมบริษัทฯ มีการผลิตในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ในขณะนี้บริษัทฯ ได้ย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวมาในประเทศไทยแล้ว ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปลายปี 2552
นอกจากนี้ ดร.ชูเฮย ยังให้ความเห็นทิ้งท้ายเกี่ยวกับความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า เราต้องแยกระหว่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกจากกัน ถ้าวิทยาศาสตร์มีการพัฒนา เทคโนโลยีก็จะมีการพัฒนาเช่นกัน พอเทคโนโลยีพัฒนาก็จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น มันก็จะเกิดเป็น cycle ขึ้น
บริษัท โตโยต้า โบโชคุ คือหนึ่งในกลุ่มบริษัท โตโยต้า กรุ๊ป ที่มีชื่อเสียงในการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ในแบรนด์ โตโยต้า ปัจจุบันกลุ่มบริษัท โตโยต้า โบโชคุ มีบริษัทในเครือทั้งสิ้น 87 บริษัท อยู่ใน 5 ภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ 1. อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ 2. เอเชียและโอเชียเนีย 3. จีน 4. ยุโรปและแอฟริกา และ 5. ญี่ปุ่น โดยในแต่ละภูมิภาคมีสำนักงานใหญ่ หรือเรียกอีกอย่างว่า สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการโรงงานในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงให้การทำงานมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล