กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
ภายในงาน “ร่วมมิตรร่วมสมัย สร้างสรรค์ไทยสู่สากล” 17-22 สิงหาคม 2553 ณ สยามพารากอน
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิธีเปิดมหกรรมศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างยิ่งใหญ่ ในงาน “รวมมิตรร่วมสมัย สร้างสรรค์ไทยสู่สากล” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการพัฒนาศิลปาชีพในหลากหลายแขนง โดยมหกรรมรวมมิตรร่วมสมัย ได้จัดให้มีนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ รวมรางวัลด้านศิลปะวัฒนธรรมที่สถาบัน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ จากทั่วโลกถวายแด่พระองค์ท่าน พร้อมจัดแสดงความในใจเบื้องลึกของผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโดยตรงจากอดีตนักเรียนศิลปาชีพหลากหลายสาขา นอกจากนี้ยังรวบรวมผลงานและนิทรรศการจากศิลปะไทยร่วมสมัยหลากแขนงมาจัดแสดง หวังเป็นกิจกรรมสำคัญเพื่อเทิดพระเกียรติฯ และสานสมานฉันท์อย่างยั่งยืนให้กับคนในชาติ
นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า “มหกรรมรวมมิตรร่วมสมัย นับเป็นเทศกาลครั้งสำคัญของวงการศิลปะวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ที่เผยออกสู่สายตาปวงชนชาวไทยอย่างยิ่งใหญ่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชนินีนาถ ที่ทรงเป็นดั่งแม่แห่งแผ่นดินและพระราชทาน “ศิลปาชีพ” แก่ปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด จนทำให้ผลงานของศิลปินไทยมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ได้มีโอกาสอวดสู่สายตาประชาชนและเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ทุ่มเทในทุกส่วนงานของมหกรรมครั้งนี้ โดยเฉพาะในส่วนของนิทรรศการเทิดพระเกียรติฯ ที่ได้พิถีพิถันในแง่การนำเสนอเนื้อหา เพื่อให้คนไทยได้สัมผัสถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยในด้านศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอด
ความสำเร็จของวงการศิลปวัฒนธรรมไทย ที่ประจักษ์สู่สายตาของคนไทยและชาวโลกนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนีนาถที่ทรงพระราชทานแนวคิดและบำเพ็ญพระราชกรณียกิจให้กับปวงชนชาวไทยตลอดมา เพื่อให้พสกนิกรไทยมีศิลปาชีพที่มั่นคงและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ นอกจากนี้ยังเป็นมรดกของชาติที่จะตกทอดสู่รุ่นต่อรุ่นต่อไป ภายในงานจึงได้มีนิทรรศการที่รวบรวมเอารางวัลด้านศิลปวัฒนธรรมที่สถาบัน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ จากทั่วโลกถวายแด่พระองค์ท่านมานำเสนอ นอกจากนี้ยังมีความในใจจากพสกนิกรไทยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโดยตรงจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ด้านการศึกษาศิลปาชีพ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นมหกรรมที่รวบรวมจัดแสดงผลงานศิลปวัฒธรรมร่วมสมัยไทยจากศิลปินรางวัลศิลปาธร และศิลปินร่วมสมัย จำนวนมากมายกว่า 9 สาขา และยังมีเวทีเสวนากับศิลปินศิลปาธรปี 2553 รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย เพื่อให้มหกรรมในครั้งนี้เป็นการรวมมิตรของคนในชาติเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน รวมถึงการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติอย่างยั่งยืนผ่านงานศิลปะในหลากหลายรูปแบบอย่างสมบูรณ์ เชื่อมั่นว่าจะเป็นกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมไทยที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าชมอีกมากมาย”
มหกรรมศิลปะรวมมิตรร่วมสมัย สร้างสรรค์ไทยสู่สากล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-22 สิงหาคม 2553 โดยพื้นที่จัดนิทรรศการครอบคลุมศูนย์การค้าสยามพารากอนมากกว่า 1,000 ตารางเมตร ได้แก่ ชั้นเอ็ม ณ ลานพาร์ค พารากอน (Parc paragon), ชั้น 2 ไลฟ์สไตล์ฮอล์ (Lifestyle Hall) ไลฟ์สไตล์แกลอรี่ 1 และ 2 (Lifestyle Gallery 1 & 2), ชั้น 3 ลิฟวิ่งแกลอรี่ 1(Living Gallery 1) และชั้น 5 อินฟินีตี้ฮอล์ (Infinity Hall)
ภายในงานพิธีเปิด ณ ลานพาร์ค พารากอน ได้จัดให้มีการมอบรางวัลแก่เยาวชนผู้ชนะการประกวดภาพถ่ายในโครงการ ‘การเดินทางของความคิดผ่านภาพถ่ายชายแดนใต้’ ทั้งสิ้นจำนวน 16 รางวัล, การมอบรางวัลแก่เยาวชนผู้ชนะการประกวดภาพยนตร์สั้นจากโครงการ ‘ค่ายศิลปะการแสดง ภาพยนตร์และสร้างภาพยนตร์สั้น’ หรือ ‘คบเด็กสร้างหนัง’, การแสดงแฟชั่นโชว์ชุด New Generation Thai จากเหล่าดีไซเนอร์เลือดใหม่มากความสามารถ โดยนางแบบนายแบบที่มีชื่อเสียง อาทิ เวย์ไทเทเนียม, พลอย นักแสดงนำจากภาพยนตร์เรื่อง ‘เราสองสามคน’, การแสดงจากคนหน้าขาว, การแสดงจากศิลปะขันธา ชุด ระบำจิตวิญญาณ,การแสดงจากคณะหุ่นสายเสมา เรื่องพระอภัยมณี ตอน สุดสาครผจญชีเปลือย เป็นต้น
กิจกรรมพบปะพูดคุยเสวนากับ ‘ศิลปินศิลปาธร’ ที่ได้รับ รางวัลศิลปาธร ปี 2553 ได้แก่
? สาขาสถาปัตยกรรม : คุณปฐมา หรุ่นรักวิทย์
ออกแบบสถาปัตยกรรม/ วางผังชุมชน : เน้นกระบวนการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบสถาปัตยกรรมจนถึงขั้นตอนการก่อสร้าง จนกระทั่งงานเสร็จสมบูรณ์ งานจึงสะท้อนขั้นตอนการทำงาน เป็นงานออกแบบที่เกิดจากความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง คนในชุมชนจึงรู้สึกเป็นเจ้าของ มีความรัก ความหวงแหนในงานที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้น
โครงการนำร่องบ้านคนชั้นกลาง บ้านเท็น กรุงเทพฯ
โครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณชุมชนมีนบุรีอุมปถัมภ์ (ชุมชนตลาดเก่ามีนบุรี)
? สาขาดนตรี : คุณชัยยุทธ โตสง่า
นำศิลปะแม่ไม้เทคนิคทางดนตรีไทยไปผสมผสานกับดนตรีสากลตะวันตก จนประสบความสำเร็จในระดับสากล อีกทั้งยังคงสามารถดำรงรักษาความเข้มข้นในทางดนตรีไทยแบบฉบับดั้งเดิมไว้ได้ในระดับสูง
? สาขาการแสดง : คุณนิกร แซ่ตั้ง
คณะละครแปดคูณแปด : สร้างงานละครเวทีและการแสดงที่สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ในสังคมปัจจุบันได้ โดยไม่จำกัดรูปแบบการนำเสนอ แต่เน้นไปที่สาระและเรื่องราวสะท้อนความเป็นไปในสังคมเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงเป็นละครที่ไม่เน้นฉากตระการตรา แต่ใช้ทักษะการแสดงของนักแสดง ร่วมกับอุปกรณ์ประกอบการแสดงอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ชมเกิดจินตนาการและความประทับใจร่วม จนสามารถเข้าใจและอิ่มเอมกับสาระที่ต้องการนำเสนอได้
? สาขาออกแบบ : คุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
งานทุกประเภทที่ใช้วัสดุเครื่องปั้นดินเผา งานภาพถ่ายและวัสดุสี่อผสมต่างๆ มีความหลากหลายแตกต่างและสนุกที่จะได้เล่นกับวัสดุที่ใช้ทำงานและพัฒนาให้สามารถใช้ศักยภาพของวัสดุให้ได้สูงที่สุดที่สามารถทำงานได้
? สาขาภาพยนตร์ : อาทิตย์ อัสสรัตน์ (ADITYA ASSARAT)
ภาพยนตร์ทั้งขนาดสั้นและขนาดยาวของอาทิตย์ ได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลกกว่า ๔๐ เทศกาลเช่น ภาพยนตร์เรื่อง “Wonderful Town” เป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก ซึ่งได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศกว่า ๑๐ รางวัล และภาพยนตร์สั้น เรื่อง “Motorcycle” เป็นต้น
สำหรับสาขาทัศนศิลป์นั้น ได้จัดให้มีการจัดแสดงผลงานภาพวาดของเยาวชนจากโครงการ “เยาวชนไทยหัวใจสันติภาพ” ซึ่งได้มีการคัดเลือกเยาวชนที่มีพรสวรรค์จากทั่วทุกมุมของประเทศกว่า 50 คน มาอบรมต่อยอดเพื่อพัฒนาทักษะศิลปะร่วมสมัยอย่างเข้มข้นจากศิลปินระดับประเทศ เพื่อนำผลงานภาพวาดมาจำหน่ายภายในงานราคาขั้นต่ำภาพละ 5,000 บาท และเสื้อยืดลายพิมพ์ผลงานศิลปะของเยาวชน ราคาตัวละ 200 บาท โดยนำรายได้ทั้งหมดมอบให้กับสภากาชาดไทยต่อไป นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการภาพถ่ายจากเยาวชนในโครงการ “การเดินทางของความคิดผ่านภาพถ่ายชายแดนใต้” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความสวยงาม วิถีชีวิต เอกลักษณ์ มนต์เสน่ห์ของ 5 จังหวัดชายแดนใต้ให้คนในสังคมไทยได้รับรู้ โดยให้เยาวชนเป็นผู้เล่าเรื่องราวทั้งหลายผ่านศิลปะภาพถ่าย
? ตัวอย่างภาพวาดจากโครงการ “เยาวชนไทยหัวใจสันติภาพ”
? ตัวอย่างภาพถ่ายจากโครงการ “การเดินทางของความคิดผ่านภาพถ่ายชายแดนใต้”
และผู้ที่รักงานเขียนไม่ควรพลาดอย่างยิ่งสำหรับนิทรรศการของสาขาวรรณศิลป์ที่จะมีกิจกรรมพิเศษๆ ในบรรยากาศแบบตลาดสไตล์ยุโรป ให้สนุกกับการเลือกสรร เรื่องสั้น บทกวี สารคดี ต่าง ๆ จากนักเขียนชื่อดังมารวมเล่มเป็น หนังสือทำมือ ร่วมเล่นเกมส์ คำถาม คำตอบ ประลองความรู้ว่า วรรคทองจากวรรณกรรมดี ๆ หรือวรรณคดีที่คัดมาจะมาจากงานเขียนใด ใครที่ตอบถูกจะได้รับของรางวัลตอบแทนในกิจกรรม “วรรคทอง ของใคร” และคุณยังสามารถสื่อความในใจไปยังนักเขียนที่ชื่นชมที่มุม โปสการ์ดสื่อรัก ถึงนักเขียนในดวงใจ และจากนี้ไปหนังสือเก่าก็กลายเป็นหนังสือใหม่ได้กับ หนังสือแลกหนังสือ เพียงคุณนำหนังสือที่คุณเคยอ่านแล้ว หรืออยากให้คนอื่นอ่านบ้างมาแลกเปลี่ยนกัน นอกจากนี้ยังพบกับการขับขานอ่านบทกวีโดยชมรมวรรณศิลป์ ของนิสิต นักศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร วันที่ 18-22 สิงหาคม 2553 เวลา 17.50 น. และ 19.00 น.
ตื่นตาตื่นใจกับการออกแบบแฟชั่น -- พบกับนิทรรศการแสดงผลงานและเวทีแฟชั่นโชว์จากดีไซเนอร์ไทยเลือดใหม่ที่มีผลงานโดดเด่นในแฟชั่นชุดผีตาโขน (Takhon), ชุดลิเกร็อก (Ligay Rock), ชุดจักสาน (Jucksarn), ชุดอนาโตมี่ (Anatomy) และ ชุดโอลิมปิก (Olympic)
ใน สาขาการแสดง และ สาขาดนตรี จะได้พบกับการแสดงที่เป็นที่ชื่นชอบของหลายคน อาทิ อพาร์ทเมนท์คุณป้า, วงขุนอิน of The Beat, วงฟองน้ำ, การแสดงจากโจ-หลุยส์ เธียเตอร์ รวมถึงการประกวดวงดนตรีไทยร่วมสมัยประจำปี 2553 รอบชิงชนะเลิศ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สาขาอาหาร น้องใหม่ที่น่าสนใจและจับตามอง ได้จัดพื้นที่พิเศษสำหรับฟิวชั่นฟู๊ดส์ชั้นนำ ได้แก่ เซ็นชวล (Sensual), ชั้นขนมหวาน (Chan), ไอซ์เดีย (ICEDEA), บั๊กแอนด์บี (Big & Bee), ฟูซิโอ (Fuzio), ซิกซ์การ์เดนท์ไนน์ (6 Garden 9)
นอกจากนี้ ที่พารากอนซีนีเพล็กซ์ ชั้น 5 สาขาภาพยนตร์ ได้จัดฉายภาพยนต์ไทยที่ไปคว้ารางวัลมากมายในต่างประเทศ ทั้งภาพยนต์เรื่องสั้น และ ภาพยนต์เรื่องยาว อาทิ ลุงบุญมีระลึกชาติ (ฉบับหนังสั้น) ผลงาน อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล รางวัลปาล์มทองคำหรือปาล์มดอร์ (Palm D'or) จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์, Graceland โดยผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ไปคว้ารางวัล "วีพีอาร์โอ ไทเกอร์ อวอร์ดส์ "จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากเรื่อง เจ้านกกระจอก, ภาพยนต์ ผมชื่อชาติ (Lost Nation) โดย ศาสตร์ ตันเจริญ, เรื่อง พลเมืองจูหลิง (Citizen Juling) ผลงานกำกับและตัดต่อโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ กำกับภาพและร่วมกำกับโดย มานิต ศรีวานิชภูมิ และ ผู้นำเสนอและร่วมกำกับโดย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และภาพยนต์ที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย
สอบถามรายละเอียดได้ที่ ซีเอ็มอาร์ท / ซีเอ็มโอกรุ๊ป
(ผู้รับมอบหมายจัดมหกรรม รวมมิตร ร่วมสมัย )
นิพนธ์ พิลา (ตั้ม)
ปะภาสินี วาจาหวาน (แนน)
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
โทร: 02 559 0505 ext. 307
02 559 0505 ext. 306
อีเมลล์: nipon@cm.co.th
papasiness@cm.co.th
แฟกซ์: 02 559 3649