กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ก.ไอซีที
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีที ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้กระทรวงต่างๆ ของไทยได้พิจารณาหยิบยกประเด็นการสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทย ในตำแหน่งสมาชิกสภาบริหาร (Council) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union หรือ ITU) เพื่อขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ในโอกาสที่มีผู้แทนระดับสูงหรือเอกอัครราชทูตจากประเทศสมาชิก ITU เข้าพบผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานไทย หรือในโอกาสที่ผู้บริหารระดับสูงของไทยเดินทางไปราชการต่างประเทศ และมีโอกาสพบปะกับผู้บริหารระดับสูงของประเทศสมาชิก ITU
“เนื่องจากการเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของ ITU ในครั้งนี้ มีการแข่งขันสูงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มามาก ซึ่งเห็นได้จากจำนวนประเทศที่ลงสมัครในครั้งนี้มีมากขึ้น และประเทศต่างๆ ได้ใช้รูปแบบการหาเสียงและแลกเสียงข้ามสาขา และกระจายไปในองค์การระหว่างประเทศต่างๆ โดยในส่วนของภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเซีย ซึ่งมีจำนวนที่นั่ง 12 ที่นั่ง ขณะที่มีประเทศที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวนถึง 17 ประเทศ กระทรวงฯ จึงเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขอให้ทุกหน่วยงานของประเทศไทยร่วมสนับสนุน” นายจุติ กล่าว
การเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของ ITU กำหนดจะมีขึ้นในระหว่างการประชุมใหญ่ผู้มีอำนาจเต็ม (ITU Plenipotentiary Conference) ค.ศ. 2010 หรือ PP-10 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ เมืองฮัวดาลาฮารา (Guadalajara) ประเทศเม็กซิโก ระหว่างวันที่ 4-22 ตุลาคม 2553 ทั้งนี้ ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ให้ประเทศไทยโดยกระทรวงไอซีทีสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาบริหารของ ITU วาระ ค.ศ. 2010 - 2014 และได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการขอเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกของ ITU ในการสมัครเข้ารับการเลือกตั้งของประเทศไทย กระทรวงไอซีทีและกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกันดำเนินการขอเสียง/แลกเสียงของไทยกับประเทศสมาชิก ITU ในหลายๆ ช่องทาง โดยกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิก ITU ประจำประเทศไทยเพื่อขอรับการสนับสนุน และยังได้มีหนังสือแจ้งไปยัง สถานเอกอัครราชทูตของไทยประจำประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพ ITU เพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการขอเสียงการสมัครรับเลือกตั้งของไทยอีกด้วย พร้อมกันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีก็ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีด้านโทรคมนาคม/ICT ของประเทศสมาชิก ITU เพื่อขอเสียง/แลกเสียงด้วย
ขณะเดียวกัน กระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อมีส่วนร่วมในกิจกรรมของ ITU และเตรียมท่าทีของไทยเพื่อแสดงบทบาทของประเทศไทยในเวทีการประชุมระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการเตรียมการสำหรับการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ปี ค.ศ.2010” ซึ่งมีปลัดกระทรวงไอซีทีเป็นประธานกรรมการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงไอซีที กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ร่วมเป็นกรรมการ รวมทั้งได้อนุมัติให้ดำเนิน “โครงการการสมัครเข้ารับการเลือกตั้งซ้ำเป็นสมาชิกสภาบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ปี ค.ศ. 2010” โดยจัดทำเอกสารแผ่นพับหาเสียง รวมถึงของที่ระลึกสำหรับหัวหน้าคณะผู้แทน รองหัวหน้าคณะผู้แทน และผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุม PP-10
สำหรับ ITU เป็นทบวงการชำนัญพิเศษภายใต้สหประชาชาติ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกจำนวน 191 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และมีสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่วนสภาบริหาร ITU ประกอบด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 46 ประเทศ ประเทศละ 1 ที่นั่ง ซึ่งมีการแบ่งสัดส่วนในการคัดเลือกออกเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ อเมริกา 8 ที่นั่ง ยุโรปตะวันตก 8 ที่นั่ง ยุโรปตะวันออก 5 ที่นั่ง แอฟริกา 13 ที่นั่ง และเอเชียและออสตราเลเซีย 12 ที่นั่ง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยมีหน้าที่พิจารณากำหนดนโยบายและวางแผนงานด้านโทรคมนาคม รวมถึงการบริหารงานของ ITU ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของกิจการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งประสานงานในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของ ITU ควบคุมดูแลและบริหารการเงิน รวมถึงทรัพยากรบุคคล ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่ประเทศสมาชิกในการบังคับใช้ข้อกำหนดต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในธรรมนูญ อนุสัญญา และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของ ITU
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาบริหารครั้งแรกในการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม พ.ศ. 2516 และได้รับการเลือกตั้งซ้ำเป็นสมาชิกสภาบริหารอีก 7 สมัยติดต่อกัน ทำให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ ตลอดจนการบริหารและแก้ไขปัญหาสำคัญของ ITU มาโดยลำดับ อันเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ให้การยอมรับ การปฏิบัติเช่นนี้ได้เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยในการวางแผนงานการพัฒนาและการปรับปรุงกิจการโทรคมนาคมของไทยให้ก้าวหน้าและทันสมัยจนอยู่ในระดับมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT