ครูวาดฝัน ปั้นดาวดวงน้อย “เพราะศิลปะ คือ รากฐานของการศึกษา”

ข่าวทั่วไป Tuesday August 17, 2010 11:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ในโลกของศิลปะ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ศิลปะช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการที่ดี มีสุนทรียภาพและความคิดสร้างสรรค์ นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข การเรียนศิลปะยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาการของสมองซีกขวาของเด็ก ซึ่งมีหน้าที่หลักในด้านการคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ.ฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงร่วมกับ อาจารย์สังคม ทองมี ศิลปินระดับชาติ แห่งศูนย์ศิลป์สิรินธร จัดกิจกรรมค่ายครูศิลปะ ”ครูวาดฝัน ปั้นดาวดวงน้อย” ขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 กรกฏาคม 2553 ณ ศูนย์ศิลป์สิรินธร อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยมีครู 36 คน จาก 25 โรงเรียน ในจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น หนองคาย ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิฯ เข้าร่วมโครงการ ค่ายครูศิลปะในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการสอนของครูสอนศิลปะเพื่อที่ครูจะได้นำไปปรับใช้กับกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนและเพื่อให้ครูได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนวิชาศิลปะซึ่งกันและกัน ในค่ายมีอาจารย์สังคม ทองมี เป็นวิทยากรอบรมตลอดระยะเวลา 2 วัน โดยมีอาจารย์พรพรหม ตะพรหม และทีมงานน้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนศรีสงครามเป็นผู้ช่วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แนวคิดและทฤษฎี รวมทั้งฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้น จริงจัง บรรยากาศภายในค่ายอบอุ่นและเป็นกันเอง ทุกคนที่เข้าร่วมมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้งานศิลปะ ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่นของต้นไม้น้อยใหญ่และผลงานศิลปะหลากหลายประเภท เนื้อหาการอบรมประกอบด้วย การปรับทัศนคติของครูให้มองศิลปะเด็กอย่างเข้าใจ กระบวนการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ที่ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้เรียนต้องเรียนรู้ให้ครบถ้วนด้วย สมอง กาย ใจ และเรียนรู้ด้วยตนเองต่อเนื่องตลอดชีวิต ด้วยการจัดการให้ผู้เรียนขวนขวายหาความรู้ เพิ่มความรับผิดชอบ กล้าแสดงออก และเน้นการทำงานเป็นกลุ่ม ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดสร้างแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะจึงเพิ่มประสบการณ์การทำงานตามสถานการณ์ให้มากยิ่งขึ้นตามช่วงชั้นปี การพัฒนางานศิลปะของเด็กที่สำคัญมี 3 H คือ Head = หัวหรือสมองที่ใช้คิดจินตนาการ Heart = หัวใจหรือการมีจิตใจที่รักในงานศิลปะ และHand = มือที่เด็กๆ ใช้ฝึกทักษะขีดเขียนและ ระบายสี ในค่ายมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนศิลปะด้วย ซึ่งพบว่า ครูส่วนใหญ่ที่เข้าอบรม ไม่ได้จบการศึกษาด้านศิลปะ แต่ต้องสอนวิชาศิลปะเด็กในโรงเรียน โดยเฉพาะในโรงเรียนระดับประถมศึกษา และครูส่วนใหญ่จึงปสอนไปตามพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของตนเองที่มีอยู่ หลายคนสะท้อนความในใจตรงกัน คือ มีความรู้ และทักษะการสอนด้านศิลปะเด็กน้อยมาก ไม่ค่อยได้รับการอบรมจากหน่วยงานต้นสังกัด เมื่อมีโอกาสมาเรียนรู้จากศิลปินใหญ่แบบอาจารย์ สังคม ทองมี ครูที่เข้าร่วมค่ายจึงให้ความสนใจตลอดการอบรมทั้ง 2 วัน และรู้สึกว่าตนเองเข้าใจงานศิลปะตามพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยมากขึ้น ได้เทคนิคการสอนวาดภาพ การให้คะแนนและตัดสินรูปภาพของเด็กในแต่ละช่วงวัย และที่สำคัญคือได้ปรับเปลี่ยนมุมมอง อาจารย์เอกชัย แว่นพิมาย จากโรงเรียนบ้านโคกกลาง ตำบลเชิม อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เล่าถึงความประทับใจว่า “นับเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้มาอบรม เพราะการอบรมเกี่ยวกับศิลปะนั้นมีค่อนข้างน้อยมาก และการอบรมครั้งนี้ยังมีวิทยากรระดับชาติอย่างอาจารย์สังคม ทองมี ด้วยนับว่าคุ้มค่ามาก ๆ ผมได้ฝึกทักษะการขีดเขียนเส้นตามแบบต่าง ๆ ได้มองเห็นความสำคัญของศิลปะมากขึ้น และการฝึกการใช้สีแบบต่าง ๆ รวมทั้งการตัดสินหรือให้คะแนนนักเรียน ซึ่งเดิมอาจจะมองว่ามันไม่สวย ไม่เหมือน แต่พอได้เข้าอบรมค่ายนี้แล้วทำให้เข้าใจหลักเกณฑ์การตัดสินงานด้านศิลปะว่าเด็กแต่ละช่วงวัย มีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ผมเข้าใจมากขึ้น ใจเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น เมื่อผมกลับไปที่โรงเรียน จะสอนเด็กถึงการใช้สีต่าง ๆ และการลากเส้นและเน้นให้เด็กใช้จินตนาการให้มาก ไม่ต้องกลัวว่ามันจะผิดไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นตามแบบ” อาจารย์ศศิธร สมองาม โรงเรียนบ้านกุดหมากเห็บ อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น ที่กล่าวว่า “ได้รู้เทคนิคการวาดภาพโดยใช้สีแบบต่าง ๆ เช่น สีชอล์ก สีน้ำ สีโปสเตอร์ จากเดิมที่เป็นคนชอบศิลปะ แต่ทำงานศิลปะไม่ค่อยเก่ง ไม่รู้จักเทคนิคที่จำเป็นต่องานศิลปะ มาเข้าค่ายนี้ รู้สึกว่าตนเองมีพัฒนาการด้านศิลปะดีขึ้น วาดภาพและใช้สีได้ดีขึ้นกว่าเดิม ก็จะได้นำเทคนิคการวาดภาพที่ได้รับไปปรับใช้กับการเรียนการสอนนักเรียนที่โรงเรียน และสอนลูก ๆ ที่บ้าน ขอขอบคุณมูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ.ฯ ที่จัดให้มีโครงการดีๆ เช่นนี้ อาจารย์นงค์นุช วาลย์มนตรี โรงเรียนบ้านยางเกี่ยวแฝก ตำบลวังตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดขัยภูมิ กล่าวว่า “เป็นประสบการณ์ที่จะไม่ลืม ดิฉันได้เรียนรู้เทคนิคการวาดภาพ การใช้สี การเขียนเส้นแบบต่าง ๆ เพราะตอนนี้กำลังสอนเด็กเรื่องเส้นอยู่พอดี มาอบรมครั้งมีประโยชน์มาก ได้แนวคิดใหม่ ๆ หลายอย่าง ขอบคุณ ซี.ซี.เอฟ. ที่ได้จัดกิจกรรมดี ๆ อย่างนี้ให้ครูและนักเรียนในพื้นที่ชนบทได้รับอะไรใหม่ ๆ บ้าง ไม่ใช่จะมีแต่อบรม วิทย์ คณิต คอมพิวเตอร์ หรือภาษาอังกฤษ อย่างเดียว อย่างน้อยๆ ศิลปะก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกคนมีความสุขได้ และเป็นประโยชน์ไม่น้อยกว่าวิชาอื่นเลย ดีใจที่ ซี.ซี.เอฟ. เห็นความสำคัญของศิลปะ อยากให้จัดค่ายแบบนี้อีกค่ะ เพราะเป็นประโยชน์กับครูที่สอนศิลปะมากค่ะ” ด้านอาจารย์สังคม ทองมี กล่าวถึงความรู้สึกต่อโครงการ “ครูวาดฝัน ปั้นดาวดวงน้อย” ครั้งนี้ว่า “ผมรู้สึกยินดีตั้งแต่ทราบว่าผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ดร กรรณชฏา พิริยะรังสรรค์ จะส่งเสริมค่ายพัฒนาครูสอนศิลปะ เพราะครูส่วนใหญ่ขาดพื้นฐานความรู้ ทักษะ ความมั่นใจ ในการจัดการเรียนการสอนศิลปะ และขาดโอกาสในการอบรมเฉพาะด้านศิลปะอย่างมากจากภาครัฐบาล เป็นโครงการที่มีประโยชน์ ทำให้ครูเหล่านี้มีความรู้ ความเข้าใจในคุณค่าของการนำหลักสูตร กิจกรรมต่าง ๆ ทางศิลปะไปปลูกฝังการพัฒนาเด็กในทุกด้าน ทั้งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ สังคม สติปัญญา เพราะผมมีความเชื่อมั่นตลอดมาว่า ศิลปะ คือ รากฐานของการศึกษา” นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเด็กผ่านวิชาศิลปะ ที่มูลนิธิฯ จุดประกายขึ้นเพื่อเพิ่มทักษะของครูในพื้นที่ชนบทให้สามารถสอนเด็กๆ ให้ได้ถ่ายทอดความรู้สึก และจินตนาการผ่านการวาดภาพ มีพัฒนาการที่ดี สุนทรียภาพและความคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นทุนชีวิตของเด็กยากไร้ในชนบทต่อไป
แท็ก ศิลปะ   สมอง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ