SCB EIC ชี้นโยบายการคลังปีงบประมาณ 2011 จะกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าในปี 2009 — 2010 ขณะที่ฐานะการคลังของไทยยังไม่น่าเป็นห่วง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2010 12:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า นโยบายการคลังปีงบประมาณ 2011 จะกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าในปี 2009 — 2010 ทั้งนี้ งบประมาณส่วนใหญ่คาดว่าจะถูกใช้ไปในรายจ่ายประจำเหมือนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีรายจ่ายลงทุนไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้น ภายใต้งบประมาณ 2011 ทางเลือกเดียวของรัฐในการลงทุนในโครงการใหม่ๆ คือการกู้ อย่างไรก็ตาม ฐานะการคลังของไทยยังไม่น่าเป็นห่วงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันยอดขาดดุลการคลังและยอดหนี้สาธารณะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และในอนาคต แม้หนี้สาธารณะต่อ GDP อาจเพิ่มขึ้นแต่จะไม่เพิ่มเร็ว ดร. เศรษฐพุฒิ เปิดเผย “ถึงแม้ว่าปีงบประมาณ 2011 จะมีการตั้งงบประมาณขาดดุล (headline deficit) สูงถึง 4.2 แสนล้านบาท (4.1% ของ GDP) แต่ถ้าหักรายจ่ายที่เกี่ยวกับภาระหนี้ที่ไม่มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ (-33 พันล้านบาท) รายจ่ายชดเชยเงินคงคลัง (-30 พันล้านบาท) และรายจ่ายดอกเบี้ย (-179 พันล้านบาท) ออกจะเหลือยอดการขาดดุลการคลังที่ไม่รวมรายจ่ายที่เกี่ยวกับภาระหนี้ (primary deficit) จากการขาดดุลในงบประมาณเพียง 178 พันล้านบาท หรือ 1.7% ของ GDP และเมื่อรวมเงินนอกงบประมาณจากมาตรการไทยเข้มแข็งที่น่าจะเบิกจ่ายได้ประมาณ 150 พันล้านบาท หรือ 1.5% ของ GDP จะทำให้ primary deficit จากในและนอกงบประมาณปี 2011 เท่ากับ 3.2 %ของ GDP ซึ่งมากกว่าปีก่อนๆ” “แต่งบประมาณส่วนใหญ่คาดว่าจะถูกใช้ไปในรายจ่ายประจำเหมือนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีรายจ่ายลงทุนไม่มากเท่าที่ควร เพราะระหว่างปีงบประมาณ 2001 — 2011 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น 1,160 พันล้านบาท จาก 910 เป็น 2,070 พันล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นเพียง 24 พันล้านบาท ในทางตรงกันข้ามรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นถึง 1,105 พันล้านบาท ซึ่งอาจพูดได้ว่างบประมาณที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถูกใช้ไปเป็นรายจ่ายประจำนั่นเอง ดังนั้น ภายใต้งบประมาณ 2011 ทางเลือกเดียวของรัฐในการลงทุนในโครงการใหม่ๆ คือการกู้” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริม ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย “อย่างไรก็ตาม ฐานะการคลังของไทยยังไม่น่าเป็นห่วงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันมีความเสี่ยงทางการคลังต่ำ โดยเห็นได้จากยอดหนี้สาธารณะ และขาดดุลการคลัง ต่อ GDP ที่ต่ำกว่าประเทศในยุโรปที่มีปัญหาวิกฤติทางการคลังและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนในอนาคตฐานะการคลังก็ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากแม้หนี้สาธารณะต่อ GDP อาจเพิ่มขึ้นแต่จะไม่เพิ่มเร็ว” ติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน SCB Outlook เรื่อง “ฐานะการคลังของไทยเป็นอย่างไร" สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 อีเมล์ pinattha.aruntat@scb.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ