ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2550 (ณ เดือนพฤษภาคม 2550)

ข่าวทั่วไป Wednesday May 30, 2007 08:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงข่าวรายงานประมาณการเศรษฐกิจ ณ เดือนพฤษภาคม 2550 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี
2550 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 3.8-4.3 ต่อปี) ชะลอลงจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2549 ที่
อยู่ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี เนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่ง
ออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยขยายตัวลดลงจากปีก่อนไม่มากนัก สำหรับด้าน
เสถียรภาพเศรษฐกิจในปี 2550 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP คาดว่าจะเกินดุลเพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ในปี 2550
(ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5-5.5) เพิ่มขึ้นจากที่เกินดุลร้อยละ 1.5 ในปี 2549 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2550 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ร้อย
ละ 2.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.0 ต่อปี) ลดลงจากร้อยละ 4.7 ต่อปี ในปีก่อน โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.8-4.3 ต่อปี) โดย สศค. คาดว่า
การบริโภคภาคเอกชนในปี 2550 จะขยายตัวลดลงจากร้อยละ 3.1 ต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.8-2.8 ต่อปี) ในขณะที่
การลงทุนภาคเอกชนในปี 2550 คาดว่าจะชะลอการขยายตัวลงจากร้อยละ 3.9 ต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.3-0.7 ต่อปี)
เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้
ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงมาก นอกจากนั้น ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ เช่น
ปัจจัยทางการเมือง ความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้ และความผันผวนของราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปี อาจส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคภาคเอกชนฟื้นตัว
ช้ากว่าเดิม
ในด้านการใช้จ่ายภาครัฐ สศค. คาดว่าการบริโภคภาครัฐที่แท้จริงในปี 2550 จะเร่งตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.4 ต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ร้อย
ละ 10.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 8.8-12.8 ต่อปี) เนื่องจากนโยบายการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลและการปรับปรุงกรอบวงเงินรายจ่ายประจำของ
งบประมาณปี 2550 เพิ่มขึ้นจาก 1,191.5 พันล้านบาท เป็น 1,246.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐที่แท้จริงในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจาก
ร้อยละ 4.5 ต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.2-4.2 ต่อปี) ซึ่งสอดคล้องกับการปรับปรุงกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนของ
งบประมาณปี 2550 ลดลงจาก 374.7 พันล้านบาท เป็น 319.6 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ
93 ของกรอบวงเงินงบประมาณปี 2550 และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 85 ของกรอบงบประมาณลงทุน จะสามารถช่วย
ผลักดันให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐดังกล่าวมีโอกาสขยายตัวได้ในระดับสูงของช่วงคาดการณ์
ในด้านอุปสงค์จากภายนอกประเทศสุทธิ สศค. คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2550 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอตัวจากปีก่อนเล็กน้อย ตาม
การชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่
ร้อยละ 8.1 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 7.6-8.6 ต่อปี) ลดลงเล็กน้อยจากปี 2549 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและ
บริการในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.6 ต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.7-5.7 ต่อปี)
เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและบริการลดลง ประกอบกับฐานการนำเข้าในปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำผิดปกติ
จากการที่ผู้ผลิตหันมาใช้สินค้าคงคลังแทนการนำเข้าเพื่อผลิตสินค้า ดังนั้น ในปี 2550 นี้ คาดว่าผู้ผลิตจะต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการ
ผลิตและทดแทนสินค้าคงคลังที่ได้ปรับลดไปมากแล้วในปีก่อน
2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศในปี 2550 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ในปี 2550 จะเกินดุลประมาณร้อยละ
4.9 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5-5.5) เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่เกินดุลร้อยละ 1.5 โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงขึ้นมาจากการเกิน
ดุลการค้าที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาก ตามมูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2550 ที่คาดว่าจะขยายตัวสูงกว่ามูลค่านำเข้าสินค้าค่อนข้างมาก ทั้งนี้ สศค.
คาดว่า มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 13.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 13.2-14.2 ต่อปี) แต่มูลค่านำเข้า
สินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 8.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 7.8-8.8 ต่อปี)
สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2550 นั้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2550 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี
(ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.0 ต่อปี) ลดลงจากร้อยละ 4.7 ต่อปี ในปี 2549 โดยมีสาเหตุหลักมาจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะ
ช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานจากราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ในขณะเดียวกันการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะ
ช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์ด้วยอีกทางหนึ่ง
รายละเอียดสรุปผลการประมาณการเศรษฐกิจปรากฏตามเอกสารแนบ
ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2550 (ณ เดือนพฤษภาคม 2550)
2549 2550 f (กุมภาพันธ์) 2550 f (พฤษภาคม)
เฉลี่ย ช่วง เฉลี่ย ช่วง
สมมติฐานหลัก
สมมติฐานภายนอก
1) อัตราการขยายตัวของ 11 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี) 4.5 3.7 3.5-4.0 3.9 3.7-4.2
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล) 61.5 56.0 54.0-58.0 62.0 60.0-64.0
สมมติฐานด้านนโยบาย
3) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) 38.0 36.0 35.5-36.5 35.0 34.5-35.5
4) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี) 5.00 4.00 3.75-4.25 3.50 3.25-3.75
5) รายจ่ายรัฐบาลปีงบประมาณรวมงบเหลื่อมปี (พันล้านบาท) 1,395 1,498 1,402-1,593 1,576 1,560-1,593
ผลการประมาณการ
1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี) 5.0 4.2 4.0 - 4.5 4.0 3.8 - 4.3
2) การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 3.2 4.4 3.9 - 4.8 3.5 3.0-4.0
- การบริโภคภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 3.1 3.7 3.5 - 3.9 2.3 1.8-2.8
- การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 3.4 8.0 6.0 - 10.0 10.8 8.8-12.8
3) การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 4.0 5.3 4.2 - 6.4 1.0 0.1-2.0
- การลงทุนภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 3.9 5.3 5.1 — 5.4 0.5 0.3-0.7
- การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 4.5 5.9 1.7 — 10.1 2.2 0.2-4.2
4) ปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี) 8.5 6.9 6.4-7.4 8.1 7.6-8.6
5) ปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี) 1.6 8.4 7.8 - 8.9 5.2 4.7-5.7
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 2.2 2.2 1.4 — 3.1 9.4 8.4-10.4
- สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี) 17.4 8.1 7.6 - 8.6 13.7 13.2-14.2
- สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี) 7.0 8.4 7.7 — 9.0 8.3 7.8-8.8
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 3.2 2.6 1.7 —3.4 11.9 10.9-12.9
- ร้อยละของ GDP 1.5 1.1 0.7 - 1.5 4.9 4.5-5.5
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี) 4.7 2.8 2.5 - 3.0 2.8 2.5-3.0
f = forecast โดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ