เผยผู้ได้รับรางวัล “แม่สู้ชีวิต” “แม่ ๑๐๐ ปี” “แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” และรางวัล “แม่ดี-บุคลากรเด่น” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๓

ข่าวทั่วไป Tuesday August 17, 2010 17:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา รองศาสตราจารย์ พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าวประกาศผลรางวัล “แม่สู้ชีวิต”ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลจัดขึ้นเป็นปีที่ ๑๓ โดยกำหนดคุณสมบัติของแม่สู้ชีวิต จะต้องเป็นแม่ที่อุทิศกำลังกาย กำลังใจ อุทิศชีวิตของตนเองด้วยความมานะ อุตสาหะ บากบั่น เพื่อให้ลูกมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ลูกของแม่สู้ชีวิตไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยการมีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีการศึกษาสูง ลูกอาจเป็นเด็กพิการ แต่แสดงให้เห็นว่า ด้วยความรัก ด้วยจิตใจ และสองมือของแม่ได้โอบอุ้มให้ลูกสู้ชีวิตอยู่ได้ แสดงถึงพลังรักอันยิ่งใหญ่ของแม่ การเสนอชื่อมี ๒ ประเภท ได้แก่ แม่ของลูกพิการ และแม่ของลูกที่มีความปกติ โดยไม่จำกัดวัย การศึกษา โดยในปีนี้คัดเลือกจากแม่สู้ชีวิต ๖๕ รายทั่วประเทศ มีแม่ที่ได้รับคัดเลือกจำนวน ๗ ท่าน ดังนี้ รางวัลแม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกพิการ รางวัลแม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกพิการ ภาคอีสาน มีจำนวน ๒ รางวัล ได้แก่ - นางโฮม ภูแข็ง จากจังหวัดอุดรธานี วัย ๖๗ ปี มีลูกพิการทั้งหมด ๔ คน คนโตอายุได้ ๒๒ ปี เริ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ บัดนี้กว่า ๒๐ ปีแล้ว เช่นเดียวกับลูกคนที่ ๒ และ ๓ มีอาการเหมือนพี่สาว หลังจากอายุได้ ๓๐ ปีและ ๒๓ ปีตามลำดับ ทั้ง ๓ คนต้องนั่งนอนอยู่กับที่ให้แม่โฮมป้อนข้าว ป้อนน้ำ ช่วยทำกิจวัตรประจำวันให้ โดยมีสามีที่ชราอ่อนแรงและลูกชายคนสุดท้องที่มีอาการดาวน์ซินโดรมตั้งแต่เกิดช่วย แม่โฮมสู้ชีวิตเลี้ยงลูกพิการมากว่า ๒๐ ปีแล้ว และจะต้องต่อสู้ต่อไปจนกว่าตนเองหรือคนใดคนหนึ่งจะจากโลกนี้ไป - นางไหว จูมแพง จากจังหวัดมุกดาหาร มีลูก ๙ คน แยกครอบครัวออกไปแล้ว ๖ คน ยังมีลูกพิการ ๓ คน คนแรกเป็นหญิง พิการทางสมอง คนที่สองเป็นชาย พิการทางสมอง แขน ขาลีบ คนที่สามเป็นลูกชายคนสุดท้อง พิการทางสมอง แขนลีบ และขาขาด ทุกวันนี้ แม่ไหวต้องทำใจให้แข็งแกร่ง ทำร่างกายให้แข็งแรง แม้จะอายุได้ ๖๑ ปีแล้ว แต่ต้องทำนาหาข้าวมาเลี้ยงครอบครัว และรับจ้างทุกอย่างที่จะได้เงินมาเลี้ยงลูกพิการทั้ง ๓ คน รวมทั้งหลานอีก ๑ คน ที่ลูกสาวคนที่ ๔ เอามาให้เลี้ยงดู ถึงอย่างไรแม่ไหวก็ยังขยันทำงานอย่างไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นหวัง ตั้งใจต่อสู้กับภาระของชีวิตที่หนักด้วยทุกข์อย่างยิ่ง รางวัลแม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกพิการ ภาคกลาง ได้แก่ นางทองอยู่ วงกลม จากจังหวัดกาญจนบุรี มีลูก ๓ คน ลูกชายคนเล็ก อายุประมาณ ๓ ขวบ เป็นดาวน์ซินโดรมตั้งแต่เกิด เคยมีผู้มาติดต่อขอซื้อลูกในราคา ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อนำไปเลี้ยง แต่แม่ทองอยู่ปฏิเสธ แม้ว่าอีกฝ่ายจะขอร้องแค่ไหน แม่ทองอยู่ยังคงยืนยันว่าจะไม่ขายลูกชายของตน เฝ้าฟูมฟักเลี้ยงดูจนลูกชายสามารถพอช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ถึงจะลำบากอย่างไร แม่ทองอยู่ก็สามารถเลี้ยงลูกได้โดยหน้าที่พนักงานกวาดขยะประจำเทศบาลตำบลท่าไม้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ก็ไม่บกพร่องแต่ประการใด รางวัลแม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกพิการ ภาคเหนือ ได้แก่ นางศรีนวล นิลรัตน์ จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน อายุ ๖๗ ปี มีลูก ๖ คน บุตรสาวคนสุดท้องพิการทางสมอง สายตาเลือนราง หูไม่ได้ยิน แม่ศรีนวลมีอาชีพทำนา เป็นผู้มีความขยันมานะอดทนอย่างมาก ทำงานโดยไม่มีวันหยุด แม้ขณะท้องแก่ ก็ไม่เคยหยุดทำงาน ทำให้ลูก ๕ ใน ๖ คนคลอดขณะทำนาโดยมีสามีเป็นผู้ทำคลอดให้ นอกจากจะทำนาในที่ดินของตนเองแล้ว ยังรับจ้างทำนาให้คนอื่นอีกด้วย ส่วนลูกสาวที่พิการ แม่ศรีนวลก็เลี้ยงดูให้สามารถดูแลช่วยเหลือตนเอง เช่น อาบน้ำแต่งตัว และซักเสื้อผ้าของตนเองได้ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระ โดยช่วยถูบ้านได้อีกด้วย รางวัลแม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกปกติ รางวัลแม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกปกติ ภาคกลาง ได้แก่ นางสาลี่ อารีย์ จังหวัดชลบุรี มีลูก ๕ คน เป็นหญิง ๔ คน ชาย ๑ คน เป็นคุณแม่ที่มีความขยันหมั่นเพียร สู้ชีวิตอดทนทำงานสารพัดอย่าง ทั้งปลูกผัก ทำนา เลี้ยงเป็ด ทำขนม ทำไร่มันสำปะหลัง เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงลูกทั้ง ๕ ไปพร้อมๆ กัน เพราะสามีเสียชีวิตตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ สิ่งที่คุณแม่สาลี่พร่ำสอนลูกเป็นประจำคือ ขอให้ลูกเป็นคนดี ขยัน ซื่อสัตย์ ให้รู้จักทำมาหากินโดยช่วยแม่ทำงาน โดยเห็นว่า หากสอนให้ลูกช่วยตัวเองให้ได้ ในอนาคตลูกจะได้ไม่ลำบาก ส่งผลให้ลูกมีชีวิตที่ดีในทุกวันนี้ รางวัลแม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกปกติ ภาคเหนือ ได้แก่ นางพิมพา เอกจันทร์ จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน อายุ ๔๓ ปี เป็นแม่ที่ขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ ทำงานทุกอย่าง ทั้งรับจ้างซักผ้า ทำความสะอาดบ้าน หาบน้ำ ทำขนมเร่ขาย เก็บเห็ดขาย เช่าที่ทำนาปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด เพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงดูลูก ๒ คน โดยหวังเพียงให้ลูกเป็นคนดี มีความรู้ แม้จะต้องทนลำบากเดินทางไกล นับ ๑๐ กิโลเมตรเพื่อเข้าป่าเก็บหน่อไม้มาต้มเดินเร่ขายในหมู่บ้านเป็นช่องทางที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นก็ตาม ทำให้ปัจจุบันสามารถส่งเสียลูกจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รางวัลแม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกปกติ ภาคใต้ ได้แก่ นางบุญติ้น มงคลนิสภกุล จากจังหวัดสงขลา ปัจจุบันอายุ ๘๒ ปี เป็นคุณแม่ที่มีลูกถึง ๑๕ คน เป็นลูกผู้หญิง ๑๐ คน ลูกชาย ๕ คน คุณแม่บุญติ้นเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรหนักเอาเบาสู้ ทำทุกอย่างเพื่อลูก ทำงานสารพัดอย่างทั้งตระเวนรับซื้อยางพารา นวดข้าว รับจ้างถางป่า ต่อยหิน ขายของในโรงเรียน เป็นต้น จนกระทั่งสามารถคิดสูตรทำไก่ย่างเครื่องแกงซึ่งได้ตั้งชื่อว่า “ไก่ย่างบ้านน้ำน้อย”ทำออกจำหน่าย โดยให้ลูกๆ ช่วยกันนำไปเดินขาย ผลปรากฎว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า ทำให้ฐานะทางครอบครัวดีขึ้นเป็นลำดับ รางวัล “แม่ ๑๐๐ ปี”มหาวิทยาลัยมหิดลจัดขึ้นเป็นปีที่ ๖ โดยคัดเลือกจากแม่ที่มีอายุเกิน ๑๐๐ ปี ที่ยังมีสุขภาพดี ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “แม่ ๕ แผ่นดิน” คือเป็นแม่ซึ่งเกิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และมีชีวิตอยู่มาถึงรัชกาลปัจจุบันการคัดเลือก “แม่ ๑๐๐ ปี” นี้ เพื่อยกย่องเชิดชูแม่ผู้ผ่านชีวิตมาถึง ๕ แผ่นดิน และเพื่อเป็นข้อมูลวิชาการทางประชากรศาสตร์เกี่ยวกับความยืนยาวชีวิตของประชากรไทย รวมทั้งเป็นข้อมูลให้ศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของแม่ ๑๐๐ ปีเหล่านี้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังต่อไป โดยในปีนี้มีผู้เข้ารับรางวัล จำนวน ๕ ท่าน ซึ่งได้รับคัดเลือกจากแม่ที่มีอายุ ๑๐๐ ปี จำนวน ๗๖ รายจากทั่วประเทศ ดังนี้ - รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี กรุงเทพมหานคร ได้แก่ นางเสงี่ยม ศรีรักษา อายุ ๑๐๓ ปี สภาพร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพจิตและอารมณ์ดีมาก ถึงแม้ว่าหูจะไม่ได้ยินชัดเจน แต่ก็สามารถพูดโต้ตอบได้ ร้องเพลงได้ รับประทานอาหารได้เอง อาหารปกติมักจะเป็นแกงต้มข่าปลา และชอบรับประทานผัก แม่เสงี่ยม ไปพบหมอเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ อยู่ท่ามกลางลูกชาย — หญิง รวม ๗ คน (เสียชีวิตแล้ว ๑ คน) ส่วนใหญ่มีบ้านใกล้บ้านแม่เสงี่ยม เป็นบ้านลูกหลานทั้งหมด เป็นบ้านที่มีความร่มรื่น ซึ่งหาไม่ได้มากนักที่อยู่ในใจกลางกรุงเทพมหานคร แม่เสงี่ยมชอบการปลูกต้นไม้เป็นอย่างยิ่ง จนปัจจุบันนี้ลูกหลานต้องคอยดูแลไม่ให้ปลูกต้นไม้เพิ่ม เพราะเป็นห่วงสุขภาพของแม่เสงี่ยม และสิ่งหนึ่งที่หาสิ่งอื่นใดแทนได้ คือ ความรัก ความเอาใจใส่ และความจริงใจจากลูกหลานเหลน ล้วนเป็นปัจจัยให้ “แม่เสงี่ยม ศรีรักษา” มีอายุยืน - รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี ภาคกลาง ได้แก่ นางอ่อม ทรงธนะ อายุ ๑๐๔ ปี จาก จังหวัดจันทบุรี มีบุตรธิดา ๖ คน ปัจจุบันเสียชีวิตหมดแล้ว อาศัยอยู่คนเดียวในกระท่อมข้างบ้านญาติ ในตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี คุณแม่อ่อม ทรงธนะ ยังสามารถทำธุรกิจส่วนตัว เช่น กินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว ตลอดจนทำมาหากินเอง นอกจากนี้ยังเป็นคนขยัน ไม่วางแฉย เก็บหญ้ามามัดเป็นไม้กวาด กวาดลานบ้านเอง อาหารที่กินเป็นประจำ คือ ปลา และผักชนิดต่าง ๆ ไม่ชอบกินเนื้อ หมู ไก่ และเนื้อวัว กับข้าวที่ชอบกิน คือ มะเขือยาวต้มกะทิ - รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี ภาคเหนือ ได้แก่ นางเขียว ลาพิงค์ อายุ ๑๐๔ ปี จาก จังหวัดลำพูน อาศัยอยู่กับบุตรชายที่บ้านหนองยำ หมู่ ๗ ตำบลริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน อาชีพเดิมทำนาและทำสวนลำไย มีลูก ๓ คน หลาน ๑๕ คน เหลน ๑๙ คน และโหลน ๔ คน แม่เขียวมีสุขภาพแข็งแรง ความจำดีมาก สามารถเดินโดยใช้ไม้เท้าช่วย ขึ้นและลงบันไดได้ด้วยตัวเอง สามารถดูแลตนเองในเรื่องการอาบน้ำ แต่งตัว และกินข้าวเองได้ แต่ด้วยสายตาที่เริ่งฝ้ามัว ทำให้กินข้าวเองได้ช้า อาหารที่นิยมกินเป็นประจำ คือ ข้าวเหนียว ผัก และปลา โดยที่ต้องปรุงรสไม่จัดและไม่มัน เพราะไม่กินอาหารเผ็ดและอาหารมัน ผลไม้ที่ชอบกินเป็นประจำ คือ แก้วมังกรสีแดง - รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี ภาคอีสาน ได้แก่ นางบุผา ปัททุบ อายุ ๑๐๐ ปี จาก จังหวัดมุกดาหาร อารมณ์ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใส สภาพร่างกายแข็งแรง ความจำดี ตอบคำถามได้ชัดเจน มีสุขภาพจิตและอารมณ์ดีมาก ไม่โมโหหรือโกรธลูกหลานและคนรอบข้างเลย รับประทานอาหารได้เอง อาหารปกติมักจะเป็นข้าวเหนียวจิ้มน้ำพริก ผักต้ม ปลา ไม่ชอบรับประทานเนื้อวัว ลูกหลานให้อาหารเสริมระหว่างมื้อบ้างถ้าหิว เช่น กล้วยน้ำว้าสุก มะม่วงสุก หรือผลไม้อื่นๆที่เนื้อนิ่ม แม่บุผา ไปพบหมอเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ ปัจจุบันแม่บุผามีลูกชาย — หญิง รวม ๑๐ คน (เสียชีวิตแล้ว ๔ คน) หลาน และเหลน รวมทั้งสิ้นประมาณ ๖๐ คน ส่วนใหญ่มีบ้านใกล้บ้านแม่บุผา เป็นชุมชนเครือญาติกันทั้งสิ้น - รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี ภาคใต้ ได้แก่ นางพิน นากนิยม อายุ ๑๐๕ ปี จาก จังหวัดชุมพร มีสุขภาพแข็งแรงตามวัย สามารถช่วยเหลือตนเองโดยสามารถตำหมากกินเอง กินข้าวได้เอง และสามารถเดินเข้าห้องน้ำได้เองโดยอาศัยเครื่องช่วยเดิน (walker) คุณแม่พินเป็นผู้ตั้งมั่นในศีลธรรมมาโดยตลอด โดยสนใจในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ คุณแม่พินบวชเป็นชีตั้งแต่อายุ ๔๕ ปี และเมื่ออายุมากขึ้นกลับมาอยู่กับบุตรหลานที่บ้าน แต่ก็ยังไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านเป็นประจำโดยเดินทางไปด้วยตัวเอง และทุกวันพระจะถือศีล ๘ จนกระทั่งอายุ ๑๐๓ ปี ไม่สามารถเดินระยะทางไกลได้ จึงปฏิบัติธรรมอยู่กับบ้าน โดยสวดมนต์และนั่งสมาธิทุกวัน วันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมงในช่วงเวลา ๑๗.๐๐ — ๑๘.๓๐ น. คุณแม่พินยังสามารถจดจำบทสวดมนต์ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม สำหรับอาหารการกินนั้น คุณแม่ไม่ชอบกินเนื้อสัตว์ใหญ่ นิยมกินปลา ชอบกินแกงส้ม แกงเผ็ด ผักและผลไม้ รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเป็นปีที่ ๗ เพื่อตอบแทน ๒ มือของแม่ที่นอกจากจะโอบอุ้มเลี้ยงดูลูกแล้ว ยังเอื้อเฟื้อ ดูแลสิ่งแวดล้อม...ด้วยเชื่อว่า “สิ่งแวดล้อมดี เริ่มต้นที่แม่” โดยในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล จำนวน ๓ ท่าน ซึ่งได้รับคัดเลือกจากแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วประเทศจำนวน ๓๘ ราย - รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาคกลาง ได้แก่ นางนันทวัน เขียวงามดี ชาวอำเภอกระทุ่มเบน จังหวัดสมุทรสาคร เริ่มทำงานด้านสิ่งแวดล้อม (แม่น้ำท่าจีน) ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๓ ถึงปัจจุบันรวมเวลา ๑๐ ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ดำรงเลขานุการชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน และคณะกรรมการลุ่มน้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร โดยจัดทำโครงการปลูกป่าชายเลนและศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนปีละ ๓ รุ่น เป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โครงการนักสืบสายน้ำจำนวน ๘ รุ่น โดยนำนักเรียนในโรงเรียนริมแม่น้ำท่าจีนไปฝึกตรวจสอบคุณภาพน้ำ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเยาวชนในโรงเรียนริมแม่น้ำท่าจีน และคลองสาขาให้มีความรู้ในการเฝ้าติดตาม ตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำท่าจีน และคลองสาขาตั้งแต่รุ่นที่ ๑-๖ และรุ่นต่อๆ ไปเรียกว่า “โครงการนักสืบสายน้ำ”นางนันทวัน ได้ชักชวนลูกให้ช่วยกันดูแลแหล่งน้ำ คือ แม่น้ำท่าจีนเพราะบ้านอยู่ใกล้แม่น้ำท่าจีน และการสอนให้ลูกรู้จักการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า - รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาคเหนือ ได้แก่ นางคำ หลงลืม ชาวอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ปัจจุบันเป็นหมอดินอาสา มานานกว่า ๙ ปี เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับป่าและปัญหาของดินในหมู่บ้าน การเร่งแก้ปัญหาของดิน เพื่อส่งผลให้พืชผลต่างๆ เจริญงอกงาม ทำให้ดินดีเพิ่มปริมาณผลผลิตให้กับหมู่บ้านและยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นคณะกรรมการของหมู่บ้านฝ่ายอนุรักษ์ สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสร้างชุมชนเข็มแข็งโดยเข้าร่วมศึกษาในโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาหมู่บ้าน นางคำยังปลูกฝังให้ลูกสาวมีความรับผิดชอบทางด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อายุ ๑๑ ปี ทุกบทบาทของแม่ถูกถ่ายทอดเป็นแนวคิดหลักให้ลูกในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากแกนนำเยาวชนโรงเรียน สู่ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด - รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน ได้แก่ นางกานดาพร ไชยปากดี ชาวอำเภอบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย ปัจจุบันเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงโขงหลง ด้านดูแลสิ่งแวดล้อม จังหวัดหนองคาย พื้นที่ชุ่มน้ำโลก และคณะกรรมการ คปอ. จังหวัดหนองคายและเป็นคณะทำงานอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำโลก การยกแพขึ้นจากน้ำ โดยมีกระบวนการ การมีส่วนร่วมของประชาชนตนบึงโขงหลง ออกข้อบังคับห้ามจับปลาทุกฤดูในเขตห้ามล่าสัตว์น้ำบึงโขงหลง ๓๘๐ ไร่ นอกจากนี้ยังได้การจัดสวัสดิการชุมชนตำบลบึงโขงหลงต้นแบบของจังหวัดหนองคาย นางกานดาพร ยังปลูกฝังให้ลูกๆ ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกต้นไม้ ทำปุ๋ยใช้เอง และสอนให้ลูกเป็นวิทยากรตั้งแต่เด็กในเรื่องการเพาะเห็ดกับเพื่อนนักเรียนๆ รวมถึงการเก็บขยะในบ้านโดยวิธีการแยกขยะ เพื่อนำไปทำปุ๋ยชีวภาพ รางวัล “แม่ดี-บุคลากรเด่น” ของมหาวิทยาลัยมหิดล มอบให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำหน้าที่แม่ด้วยความบากบั่นอดทน และยังปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างน่ายกย่อง จากแม่ดี — บุคลากรเด่นระดับหน่วยงาน จำนวนทั้งสิ้น ๑๙ ราย ในปีนี้มีผู้ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล“แม่ดี-บุคลากรเด่น” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ประเภทดีเด่นจำนวน ๒ ท่าน คือ แม่ราตรี บำรุงกิจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ แม่ทองอยู่ ฤทธิ์ขจร คณะพยาบาลศาสตร์ ประเภทชมเชยจำนวน ๔ ท่าน คือ แม่มาลัย มีฤาการณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แม่กาญจนา สวดมาลัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว แม่อรชา สารทประเสริฐ คณะกายภาพบำบัด และ แม่สุขวัญ วรรณสุขทอง สถาบันโภชนาการ แม่ราตรี บำรุงกิจ นักวิชาการศึกษา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แม่มีลูกสาว ๑ คน คือน้องฝ้าย กำลังศึกษาระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ ๒ โรงเรียนนีรชาศึกษา มีโรคประจำตัวเป็นโรคภูมิแพ้ หอบ และเส้นเลือดหัวใจตีบ ในขณะเดียวกันแม่ราตรีเองก็ป่วยเป็นโรคไซนัส โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งเต้านม แต่แม่ราตรีก็ไม่เคยย่อท้อ แม่ราตรีมีแนวคิดสำคัญในการเลี้ยงลูก ส่วนหนึ่งได้มาจากการทำงานในภาควิชาจิตเวชศาสตร์ที่ให้เห็นความสำคัญทางด้านจิตใจ มิได้เพียงแค่มุ่งหวังให้ลูกเป็นคนเก่ง หรือเป็นคนฉลาดเท่านั้น ถึงแม้ลูกจะขาดพ่อซึ่งเป็นผู้นำของครอบครัว แต่แม่ก็ได้มอบความรัก ความอบอุ่นเอาใจใส่ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างสม่ำเสมอในทุกด้าน โดยหวังว่าชีวิตแม่จะเป็นแบบฝึกหัดชีวิตจริงให้ลูก จะช่วยให้ลูกสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ และเติบโตเป็นคนดีของสังคม แม่ทองอยู่ ฤทธิ์ขจร นักการภารโรง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แม่ของลูก ๒ คน แม่ทองอยู่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ มีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างดีเยี่ยมตลอดมา แม่เคยประสบอุบัติเหตุหกล้มกระดูกสันหลังหักต้องใส่เหล็กดามไว้ แต่แม่ทองอยู่ก็ยังคงรับผิดชอบงานทำความสะอาดโดยมิได้บกพร่องต่อหน้าที่ แม่ทองอยู่ต้องเลี้ยงลูกเองคนเดียว แม้รายได้เพียงน้อยนิดแต่ก็สามารถส่งให้ลูกเรียน และดูแลแม่วัย ๙๕ ปี โดยพยายามหารายได้เสริมด้วยการรับจ้างซักผ้านักศึกษา และอยู่เวรกลางคืน ลูกทั้ง ๒ คนก็เคยมาทำงานช่วยแม่ปัดกวาดเช็ดถูที่ทำงาน ปัจจุบันลูกทั้ง ๒ คนเรียนจบปริญญาตรีและได้ทำงานในบริษัทที่ดี เป็นที่รักของผู้ร่วมงาน และมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดา มารดา แม่มาลัย มีฤาการณ์ คนครัว ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช ทำหน้าที่ปรุงประกอบอาหารบุคลากร อาหารผู้ป่วยพิเศษ อาหารผู้ป่วยนานาชาติ ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่หน่วยเตรียมวัสดุอาหาร แม่เลี้ยงลูกคนเดียวเพียงลำพังเนื่องจากสามีมีปัญหาด้านสุขภาพส่งผลให้ต้องลาออกจากงานกลางคัน ป่วยหนักและจากไปในที่สุด ทำให้ครอบครัวต้องอยู่กันอย่างประหยัด และมีแม่มาลัยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของบ้าน ลูกรู้เสมอว่าแม่ต้องเหนื่อย จึงไม่เคยเรียกร้องเหมือนเด็กอื่นๆ แต่จะอยู่กับบ้าน ช่วยแม่ทำความสะอาดบ้าน และดูแลพ่อในยามที่ยังอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า แม่สอนลูกให้รักดี แม้ว่าจะเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้เพียบพร้อมสมบูรณ์ แต่ลูกสามารถที่จะเป็นคนดีได้ แม่มาลัยสามารถส่งลูกจนจบปริญญา ได้เป็นอาจารย์สอนวิชาพละที่โรงเรียนโยธินบูรณะ กรุงเทพฯ และไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับแม่เลย แม่กาญจนา สวดมาลัย ครูและพี่เลี้ยงศูนย์สิกขาวัฒนา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัย มีลูก ๒ คน คนโต ๘ ขวบเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ คนเล็ก ๔ ขวบกำลังศึกษาชั้นอนุบาล และป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อซีกซ้ายอ่อนแรง ต้องฝึกกายภาพบำบัด เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา และการเดินทางจำนวนไม่น้อย สามีมีอาชีพรับจ้างเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย รายได้ไม่มากนัก เงินเดือนพ่อแม่รวมกันเพียง ๑๓,๗๐๐ บาทต่อเดือน แต่แม่กาญจนาก็ไม่เคยย่อท้อ ทำทุกอย่างเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับลูกเท่าที่ยังมีแรงและมีชีวิตอยู่ เพื่อให้ลูกอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็ง ให้สามารถดูแลตัวเอง โดยไม่ให้เป็นภาระของผู้อื่น และมักบอกลูกชายคนโตเสมอว่าให้รักน้อง สงสารน้อง และช่วยดูแลน้อง ในการปฏิบัติงานก็เช่นกัน แม่กาญจนาสามารถทำหน้าที่ครูและพี่เลี้ยงได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ใช้สัญญาตญาณของความเป็นแม่ ใส่ใจดูแลเด็กๆ เหมือนกับลูกของตัวเอง แม่อรชา สารทประเสริฐ เป็นบุคลากรในคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล รับผิดชอบทำความสะอาดห้องเรียน จัดเตรียมเอกสารการเรียนการสอน และเอกสารคลินิกกายภาพบำบัด จัดอาหารในงานประชุม แม่อรชาเป็นผู้ที่มีความขยันและซื่อสัตย์สุจริตในการทำงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน มีความสุภาพอ่อนน้อม และเป็นที่รักและไว้วางใจของผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ยังได้อบรมสั่งสอนให้บุตรทั้ง ๒ คน เป็นคนดี และมีหน้าที่การงานที่มั่นคง แม่อรชาให้ความรักความอบอุ่น ให้ความใกล้ชิดตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ เป็นกำลังใจให้ลูกยามป่วยไข้ อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี มีความอดทน มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ รู้จักประหยัดในการใช้จ่าย มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานและเป็นที่รักของผู้ร่วมงาน นางสุขวัญ วรรณสุขทอง แม่ของลูก ๒ คน ตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุที่สถาบันโภชนาการคือตำแหน่งคนงาน แต่ในการปฏิบัติงานจริงทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการผู้อำนวยการ ลำพังเงินเดือนตำแหน่งคนงานไม่เพียงพอที่จะเป็นค่าเล่าเรียนและค่าอาหารของลูก จึงต้องรับจ้างซักผ้ารีดผ้าในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ขณะเดียวกันก็แบ่งเวลาไปรับจ้างทำความสะอาดบ้าน รับนมจิตรดา - ทำแซนวิชส่งร้านค้า โดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสามีเลยในช่วงแรกๆ แต่ด้วยความกลัวลูกจะมีปมด้อยจึงยอมทนทุกข์เรื่อยมา พยายามขยันอดทนทำงานทุกอย่างเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงลูก ทำให้ช่วง ๓ ปีที่ผ่านมาสามีซึ่งไม่เคยเหลียวแลรับผิดชอบครอบครัวเห็นความดี กลับมาช่วยเหลือบ้าง แต่แม่สุขวัญก็ยังคงเป็นแม่ที่ขยัน เสียสละ และทำงานหนักเหมือนเดิม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ