กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สกว.
ผลวิจัยระบุ 3 เหตุผลหลักที่นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยคือ ตลาดภาคการผลิตยังขยายตัวได้ แรงงานไทยมีฝีมือ มีวินัย และพัฒนา และที่สำคัญมองว่า “เมืองไทยน่าอยู่” ขณะเดียวกันไทยควรเร่งปรับปรุง กฎ กติกาที่ไม่ชัดเจน เทียบผลดีผลเสียและแนวทางแก้ไข ป้องกัน แทนการเขียนกฎหมายแบบครอบจักรวาล พร้อมกันนี้ควรเร่งจัดทำระบบข้อมูลบริษัทข้ามชาติที่ยังมีน้อยและไม่สมบูรณ์
ทั้งนี้ จากการสัมมนานำเสนองานวิจัยเรื่อง บทบาทของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดขึ้น โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาเฉพาะในภาคการผลิตและบริการ 7 ประเภท คือ กฎหมาย บัญชี พลังงาน ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารแปรรูป และกิจการขยายเมล็ดพันธุ์ เพื่อจะได้รู้จักและเข้าใจบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เหตุผลในการลงทุนและปัญหาอุปสรรค ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายการลงทุนที่ถูกต้อง
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะผู้ทำการวิจัย ได้นำเสนอโดยให้นิยาม “บริษัทข้ามชาติ” หมายถึง เป็นบริษัทที่อำนาจในการบริหารจัดการตกอยู่กับบริษัทแม่ที่เป็นบริษัทข้ามชาติในต่างประเทศ (ถือหุ้นข้างมาก/ข้างน้อย/ถือหุ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อม) บริษัทแม่จะต้องประกอบธุรกิจในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 3 ประเทศขึ้นไป และธุรกิจหลักของบริษัทแม่จะต้องเป็นธุรกิจเดียวกับบริษัทลูกในประเทศไทย โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ การถือหุ้นของคนต่างด้าว ใน กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมการลงทุน และ การจัดเก็บภาษีบริษัทต่างชาติ สนธิสัญญาหรือความตกลงต่าง ๆ เช่น สนธิสัญญาภาษีซ้อน สนธิสัญญาการลงทุน หรือความตกลงการค้าเสรี
โดยภาพรวมการประกอบกิจการของบริษัทต่างชาติ มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 700 บริษัท มีบริษัทที่มีต่างชาติมีอำนาจบริหาร 55 บริษัท มีมูลค่าตลาดรวมร้อยละ 17.48 ของมูลค่าตลาดของบริษัทจดทะเบียน กลุ่มบริการและเทคโนโลยีและการสื่อสารเป็นกลุ่มธุรกิจที่บริษัทต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากที่สุด โดยมีส่วนแบ่งมูลค่าตลาดสูงถึงร้อยละ 65.07 และในสาขาบริการ (ศึกษาเพียง 9 สาขา) ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทต่างชาติในธุรกิจโทรศัพท์มือถือมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 82 รองลงมาคือธุรกิจไฮเปอร์มาเก็ตและธุรกิจโลจิสติกส์ ส่วนธุรกิจบัญชีและกฎหมายมีส่วนแบ่งตลาดน้อย เนื่องจากเป็นอาชีพสงวนเฉพาะสำหรับคนไทย
การเข้ามาลงทุนในภาคการผลิตและบริการของบริษัทข้ามชาติ พบว่า ในภาคการผลิตบริษัทข้ามชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% แต่ถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ในภาคบริการ (เฉพาะบัญชีและกฎหมาย) โดยธุรกิจบัญชี มักถือหุ้นลักษณะ member ส่วนกฎหมายถือหุ้นแบบ Foreign control โดยต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดคือญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ส่วนบริษัทบัญชีและกฎหมายยังคงมีคนไทยถือหุ้นข้างมากเพราะเป็นอาชีพสงวน ที่ห้ามต่างชาติถือหุ้นเกิน 49%
บริษัทต่างชาติส่วนมากประกอบธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง และได้เปรียบบริษัทไทยทั้งในด้านเทคโนโลยีในการผลิต และด้านข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและเครือข่าย ขณะที่ในด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมไม่ว่าบริษัทไทยหรือต่างชาติมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูงหากต้องส่งออกสินค้าไปประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูง ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในการลงทุนที่ดีกว่าประเทศข้างเคียง โดยเฉพาะในเรื่องของขนาดของตลาดและความต้องการของตลาดภายในประเทศที่รองรับการลงทุนได้ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง(ก่อนการปฏิวัติ)กล่าวคือแม้รัฐบาลเปลี่ยนแต่นโยบายทางเศรษฐกิจยังมีความต่อเนื่อง และอีกเหตุผลสำคัญที่คนไทยไม่ค่อยนึกถึงแต่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญมากกับความน่าอยู่ของเมืองไทยเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชายต่างชาติให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เหล่านี้คือเหตุผลหลักที่บริษัทต่างชาติตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทย
การเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแรงจูงใจที่สำคัญคือ เรื่องฝีมือและวัฒนธรรมการทำงานของแรงงานพึ่งทักษะ (อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์) แม้ไม่ใช่แรงงานที่ถูกที่สุด แต่เป็นแรงงานที่มีฝีมือและมีวินัยในการทำงานมากกว่าการลงทุนในประเทศอื่น ขณะที่ค่าจ้างแรงงานยังไม่สูงมากนัก เป็นต้น ขณะที่ในภาคบริการ (กฎหมายและบัญชี) จะพบว่าเมื่อธุรกิจบริการผูกติดกับภาคการผลิต ดังนั้นเมื่อการลงทุนในภาคการผลิตขยายตัวจากนโยบายการเปิดเสรีก็ทำให้ธุรกิจกฎหมายและบัญชีจึงเติบโตตามไปด้วย เพราะต้องการมาตรฐานสากลที่เหมือนกันทั่วโลก เหมือนกับบริษัทสาขาในประเทศอื่น ๆ โดยบริษัทจากสหรัฐอเมริกาจะเคร่งครัดมาก นอกจากนี้การมีนโยบายการเปิดเสรีการโอนเงินตราต่างประเทศ ที่ไม่ได้มีข้อจำกัดในการนำเข้าหรือการโอนเงินออกนอกประเทศ ก็เป็นแรงจูงใจที่สำคัญประการหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้การเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติมีส่วนแบ่งตลาดถึงประมาณร้อยละ 20-25 ในหลายธุรกิจที่ศึกษาซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงและแสดงว่าประเทศไทยยังต้องพึ่งพิงบริษัทต่างชาติ บริษัทข้ามชาติเป็นแหล่งการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่รัฐที่สำคัญ นอกจากนี้ยังช่วยลดการผูกขาดของธุรกิจไทยในบางอุตสาหกรรม เช่นใน ธุรกิจเมล็ดพันธุ์และอาหารกระป๋อง แต่กลับพบว่าประเทศไทยมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทข้ามชาติน้อยมากและไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ มีค่าใช้จ่ายสูงและเข้าถึงได้ยาก
สำหรับปัญหาและอุปสรรคของการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของผู้ประกอบการบริษัทข้ามชาตินั้น พบว่า ปัญหาหลัก คือ ความไม่แน่นอนของกฎ กติกาต่าง ๆ ที่ให้อำนาจดุลยพินิจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐมากเกินไป (ให้อำนาจกับอธิบดี/รัฐมนตรีในการพิจารณา โดยไม่รู้ว่ามีเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร) และกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ เป็นต้น นักลงทุนต่างชาติจึงต้องการแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในประเด็นเหล่านี้
การศึกษานี้นำเสนอข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง 3 เรื่อง คือ 1) การปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทข้ามชาติ รัฐจำเป็นต้องปรับปรุงข้อจำกัดในบัญชี 3 ของ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อที่จะให้บริษัทต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยเปิดเผยตนว่าเป็นนิติบุคคลต่างด้าว 2) การปรับปรุง กฎ กติกาการกำกับดูแล ควรมีการรวบรวมและทบทวนกฎ กติกาที่กำกับการประกอบธุรกิจของคนและบริษัทต่างชาติที่มีอยู่ทั้งหมด ประเมินผลการบังคับใช้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเมินประโยชน์/ผลเสียที่เกิดจากการบังคับใช้กฎ กติกาเหล่านั้น 3) การปรับปรุงนโยบาย ได้แก่ ยกเลิกข้อห้ามการลงทุนแบบ “ครอบจักรวาล” ที่ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่เปิดรับการลงทุนในทางปฏิบัติและไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและคนไทย บังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศให้ดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจไม่ว่าไทยหรือต่างชาติย่อมมีแรงจูงใจที่จะประหยัดต้นทุนหากไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า จะเห็นว่าปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่ามีบริษัทข้ามชาติจำนวนเท่าไหร่ เพราะข้อมูลที่ไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ จึงควรต้องทำเรื่องนี้เป็นอันดับแรก ทำให้บริษัทเหล่านี้เผยตัวออกมาว่าเป็นบริษัทข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วจึงไปติดตาม เพื่อได้ข้อมูลอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ เช่น เรื่องการลงทุน การจ้างงาน รายได้ และอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ในการกำหนดนโยบายการลงทุนที่ถูกต้อง แทนการทำนโยบายบนความไม่รู้ เช่น เรื่องการลงทุนจากที่ศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ พบว่าเขาไม่ได้ห้ามแต่ใช้วิธีระบุสาขาที่ปิดไว้ แล้วใช้วีธีการกรั่นกรองการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น ถ้าจะมีการลงทุนเกิน 1,000 ล้านอาจจะมีความเสี่ยงเขาต้องขอพิจารณาดูก่อน ซึ่งต่างจากของไทยที่เขียนกฎหมายปิดหมดแบบครอบจักรวาล