กุมารแพทย์เตือนระวังโรคปอดอักเสบ…ภัยร้ายใกล้ตัวเด็กเล็ก

ข่าวทั่วไป Tuesday March 13, 2007 09:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่พบได้ประมาณร้อยละ 8-10 ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจ และนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีของเด็กไทย
พญ.สมฤดี ชัยวีระวัฒนะ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก เปิดเผยว่า สาเหตุของการเกิดโรคปอดอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งมีทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียขึ้นกับช่วงอายุ โดยปอดอักเสบในเด็กเล็กส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมากที่สุด ที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียในกลุ่มสเตปโตคอคคัส นิวโมเนีย อี หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อของ “นิวโมคอคคัส” ซึ่งโดยปกติจะมีอยู่ในโพรงจมูก ลำคอ บริเวณหอคอย ของทุกคน แต่เนื่องจากร่างกายของเรามีภูมิต้านทานคอยป้องกันอยู่ จึงสามารถควบคุมเชื้อไม่ทำให้เกิดโรค แต่เมื่อไรที่ร่างกายอ่อนแอลง เชื้อเหล่านี้ก็จะมีการแบ่งตัวมากขึ้น ร่างกายกำจัดเองไม่ไหว ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย
พญ.สมฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการความรุนแรงของโรคปอดอักเสบ จะมีความสัมพันธ์กับอายุของเด็ก รวมถึงชนิดและปริมาณของเชื้อที่ได้รับ และระดับภูมิต้านทานในตัวเด็ก ยิ่งเด็กเล็กมีภูมิต้านทานต่ำ อันตรายก็จะมีมากขึ้น และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ดังนั้น ถ้าลูกน้อยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจเป็นอันตรายรุนแรงต่อตัวเด็ก โอกาสที่จะเสียชีวิตก็มีมากขึ้น พบว่าเชื้อกลุ่มสเตปโตคอคคัส นิวโมเนีย อี เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบในเด็กได้สูงถึงประมาณ 50 % โดยเชื้ออาจทำให้เกิดการติดเชื้อในเลือดหรือที่เยื่อหุ้มสมอง หรือที่เรียกว่าโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง ที่เรารู้จักกันในชื่อ โรคติดเชื้อไอ พี ดี (IPD; Invasive Pneumococcal Disease) ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่า
“โรคปอดอักเสบในเด็กเล็กโดยทั่วไป อันตรายก็มีมากอยู่แล้ว เพราะทำให้เกิดอาการได้ในหลายๆ ระบบ ยิ่งหากเป็นปอดอักเสบจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดลุกลามรุนแรง หรือโรคไอพีดี ก็จะยิ่งอันตรายมาก เพราะปัจจุบันเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค ไอ พี ดี ส่วนใหญ่ จะมีอัตราการดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาสูง การรักษาจึงยากขึ้น ทำให้เกิดการลุกลามได้รวดเร็ว มีอาการรุนแรงและมักมีอันตรายต่อชีวิตของเด็กมากกว่าปอดอักเสบจากเชื้อชนิดอื่น”พญ.สมฤดี กล่าวและเสริมว่า
อย่างไรก็ดี เด็กที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบนั้น ไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อชนิดใด อาการที่แสดงออกส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างกัน คือ มักจะมีไข้ขึ้นสูง ถ้าเกิดจากกลุ่มของเชื้อไวรัสก็อาจมีน้ำมูก ตาแดง เสียงแหบ ร่วมด้วย ส่วนกลุ่มแบคทีเรียก็จะมีไข้ขึ้นสูง มีน้ำมูกได้เหมือนกัน และตามด้วยอาการไอ ไอมากขึ้น มีเสมหะ หายใจหอบ อีกอาการที่อาจพบได้ในเด็กเล็ก คือ เด็กจะไอมากจนอาเจียน และมีเสมหะมาก ทำให้ไม่ยอมดื่มนมหรือกินอาหารไม่ได้
นอกจากนี้ อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ในเด็กรายที่มีอาการไข้ขึ้นสูงมากๆ อาจจะมีภาวะชักร่วมด้วย หรือในรายที่เด็กไอมากๆ หอบ จนดื่มนมและน้ำไม่ได้ ก็จะเกิดภาวะขาดน้ำ ขาดอาหารตามมา หรือเด็กบางคนไอมาก มีเสมหะหรือหอบจนหายใจไม่ไหว ก็อาจมีภาวะเขียว ขาดออกซิเจน โดยเฉพาะเด็กเล็กค่อนข้างดูอาการได้ลำบาก บอกความรู้สึกเองก็ไม่ได้ ดังนั้น เวลาเจ็บป่วยเด็กจะโยเย งอแง ปฏิเสธการกินมากกว่าปกติ
พญ.สมฤดี กล่าวให้คำแนะนำเพิ่มเติม พ่อ-แม่ที่มีลูกน้อยควรดูแลสุขภาพเด็กให้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือเด็กสุขภาพดีที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่า คือ เด็กที่พ่อแม่ต้องพาไปอยู่เนอสเซอร์รี่หรือสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน (Day Care) หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานที่ต่ำ เช่น โรคเลือด ม้ามทำงานได้ไม่ดี หรือเด็กที่เป็นหวัดบ่อยๆ เป็นภูมิแพ้ เป็นต้น
“การเสริมภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับลูกน้อย อันดับแรกคือ การส่งเสริมให้ลูกน้อยได้กินนมแม่ได้นานที่สุด ประการต่อมา คือ ไม่ควรให้เด็กเล็กอยู่ในที่แออัด ถ้าเป็นไปได้ก็อย่ารีบส่งลูกไปอยู่เนอสเซอร์รี่ หรือสถานเลี้ยงเด็กกลางวันเร็วเกินไป เพราะโอกาสติดเชื้ออาจมีมากขึ้น รวมถึงการดูแลเรื่องของอาหารให้ปรุงสุก สด สะอาด และให้ครบทั้ง 5 หมู่ สำหรับเด็กที่อยู่กับพี่เลี้ยง ก่อนที่จะรับพี่เลี้ยงเด็ก ก็ควรพิจารณาถึงสุขลักษณะ ความสะอาด และเช็คสุขภาพของพี่เลี้ยงด้วย”
“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าโอกาสที่เด็กจะเกิดโรคติดเชื้อไอพีดีมีมากขึ้น ตัวเชื้อเองก็มีความรุนแรงและดื้อยามากขึ้น ดังนั้น การที่ลูกน้อยได้รับวัคซีนก็จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและลดการป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงนี้ลงได้ แต่ทั้งนี้ ปัจจุบันวัคซีนไอพีดีสำหรับเด็กเล็กในบ้านเรายังเป็นวัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนเสริม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจพิจารณาถึงความจำเป็นและค่าใช้จ่าย เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง โดยแพทย์อาจจะพิจารณาให้วัคซีนนี้ในเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ” พญ.สมฤดี กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2619 2266

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ