กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายฝึกซ้อมการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติด้านสาธารณภัย ประจำปี ๒๕๕๓ (C-MEX ๑๐) โดยดำเนินการฝึกซ้อมภาคสนาม ด้วยการจำลองสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่มขั้นร้ายแรงอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด ในวันศุกร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ มีศักยภาพในการบริหารจัดการภัยพิบัติแบบบูรณาการ รวมถึงสามารถแก้ไขและตอบโต้วิกฤติการณ์ด้านสาธารณภัยพร้อมกันในทุกจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ เห็นชอบนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติสำหรับเป็นกรอบในการกำหนดมาตรการ แนวทางและแผนปฏิบัติการสำหรับการบริหารจัดการสาธารณภัย โดยให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อเป็นการทดสอบการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานระดับนโยบายและหน่วยปฏิบัติในการเผชิญเหตุสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ร่วมกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายฝึกซ้อมการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติด้านสาธารณภัย ประจำปี ๒๕๕๓ (C-Mex ๑๐ : Crisis Management Exercise ๒๐๑๐) โดยจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่มขั้นร้ายแรงอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด จนจำเป็นต้องระดมสรรพกำลังของทุกภาคส่วนเข้าแก้ไขวิกฤตการณ์ ซึ่งการฝึกซ้อมแผนฯ แบ่งเป็น ๒ รูปแบบ ได้แก่ การฝึกซ้อมฝ่ายอำนวยการ (Staff Exercise) ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๙ - ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ สำหรับการฝึกซ้อมภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX)เป็นการฝึกซ้อมปฏิบัติการจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาม แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ - ๒๕๕๗ แผนปฏิบัติการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ (ระดับกระทรวง ๑๗ ด้าน) และนโยบายการเตรียมความพร้อมแห่งชาติ ซึ่งกำหนดดำเนินการในวันศุกร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ ในพื้นที่ ๒ จุดหลัก ดังนี้ จังหวัดจันทบุรี จำลองเหตุการณ์เรืออับปาง ที่ชายหาดแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ สถานการณ์คลื่นพายุซัดฝั่งรุนแรง และเกิดอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี รวมถึงเกิดเหตุดินโคลนถล่มในพื้นที่อำเภอเขาคิชกูฏ โดยได้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ จังหวัดจันทบุรี ณ ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ การประสานการปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่วนที่จังหวัดตราด จำลองเหตุการณ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำจากเหตุคลื่นพายุซัดฝั่ง เรืออับปาง และกระแสน้ำดูดออก ที่หาดบานชื่น อำเภอคลองใหญ่ รวมถึงจำลองสถานการณ์อุบัติเหตุอากาศยานจากภัยธรรมชาติ ที่สนามบินตราด อำเภอเขาสมิง รวมถึงจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ จังหวัดตราด ณ ศูนย์ราชการุณย์ (เขาล้าน) เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์และรองรับการอพยพผู้ประสบภัย ทั้งนี้ การฝึกซ้อมฯ ดังกล่าวเป็นการบูรณาการด้านการเผชิญสถานการณ์วิกฤตระหว่างหน่วยงานระดับชาติ ระดับจังหวัดและท้องถิ่น ซึ่งเป็นการนำนโยบายการเตรียมความพร้อมแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเป็นการทดสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเชื่อมต่อเครือข่ายฐานข้อมูลในการบริหารจัดการสาธารณภัย ในระดับชาติ ทำให้หน่วยงานต่างๆ มีศักยภาพในการบริหารจัดการภัยพิบัติแบบบูรณาการ รวมถึงสามารถแก้ไขและตอบโต้วิกฤติการณ์ด้านสาธารณภัยพร้อมกันในทุกจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ