“ปวดหลัง” ...จากกระดูกสันหลังเสื่อม

ข่าวทั่วไป Thursday August 19, 2010 10:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--โรงพยาบาลปิยะเวท ข้อกระดูกสันหลังเสื่อมเป็นอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ข้อกระดูกสันหลังระดับบั้นเอว และระดับคอ สำหรับการเสื่อมของกระดูกสันหลัง นายแพทย์พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกและข้อโรงพยาบาลปิยะเวท ได้กล่าวอาการจะมีความแตกต่างจากการปวดข้อเข่าและข้อสะโพก คือ การเสื่อมส่วนใหญ่จะเริ่มเกิดขึ้นที่หมอนรองกระดูกซึ่งเป็นตัวกั้นระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละปล้อง หมอนรองกระดูกสันหลังมีลักษณะคล้ายเยลลี่ที่มีความยืดหยุ่น ทำหน้าที่เหมือนโช็คอัพ เนื่องจากกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวและระดับคอมีการใช้งานมากกว่าระดับอื่น จึงเสื่อมง่ายกว่า เมื่อมีแรงกระแทกผ่านกระดูกสันหลังหมอนรองกระดูกบางส่วนอาจจะมีการเคลื่อนที่ไปกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดร้าวไปตามแขนหรือขาที่เส้นประสาทนั้นๆ ไปเลี้ยง ในกรณีที่หมอนรองกระดูกเสื่อม แต่ไม่ไปกดเส้นประสาท จะมีผลทำให้ข้อกระดูกสันหลังที่อยู่ด้านหลังมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการอักเสบหรือขรุขระหรืออาจมีกระดูกงอก ทำให้เกิดมีการกดทับเส้นประสาทได้ และทำให้มีอาการเจ็บปวดขึ้นบริเวณหลังและปวดร้าวลงมาบริเวณกระเบนเหน็บ หรือสะโพกทั้ง 2 ข้างได้สำหรับคนอ้วน คนที่ใช้หลังไม่ถูกต้อง เช่น ก้มๆ เงยๆ ยกของหนัก จะมีโอกาสข้อกระดูกสันหลังเสื่อมได้เร็วกว่าคนอื่น ในการตรวจรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาทโดยทั่วไป แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติและการตรวจร่างกายก่อนเสมอ และในบางรายอาจมีการเอกซเรย์ หรือตรวจ MRI เพิ่มเติมด้วย ซึ่งเมื่อตรวจพบสาเหตุของโรคแล้ว แพทย์จะทำการรักษาโดยเริ่มจากการให้ยา การลดน้ำหนัก การทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาในกรณีที่การกดทับเส้นประสาทไม่รุนแรงมากนัก การรักษาด้วยวิธีเหล่านี้จะสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้มากทีเดียว สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจช่วยโดยใช้การฉีดยาเข้าไขสันหลังร่วมด้วย หรือบางรายอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดโดยการเอากระดูกและหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกโดยตรง และในบางครั้งอาจต้องเชื่อมกระดูกสันหลังและใส่โลหะเพื่อดามกระดูกสันหลังไปพร้อมๆ กันเลย ในกรณีของการผ่าตัดนั้น ปัจจุบันการแพทย์ยุคนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง และการใช้ Navigation System ซึ่งเป็นเครื่องมือทันสมัยล่าสุดที่ใช้ในการผ่าตัดทางด้านโรคกระดูกและข้อ เช่น สามารถใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรักษาหมอนรองกระดูกเคลื่อนแบบใช้เข็มเจาะ คลื่นความร้อนที่สามารถทำให้หมอนรองกระดูกหดตัวกลับเข้าที่ได้ในกรณีที่ยังเป็นไม่มากนัก การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยใช้เครื่อง Navigator เป็นการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถตัดกระดูกได้แม่นยำ และยังช่วยลดความเสี่ยงโดยเฉพาะการผ่าตัดที่ใกล้กับระบบประสาทที่บริเวณไขสันหลังส่วนเอว ซึ่งมีองค์ประกอบของระบบประสาทอยู่เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการใส่น็อตเพื่อดามกระดูก และการเก็บตัวอย่างเนื้องอก การฉีดยา หรือซีเมนต์เข้าไปในกระดูกสันหลังก็สามารถทำได้โดยง่าย ทำให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังรวดเร็ว ปลอดภัย และแม่นยำมากยิ่งขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยเองจะมีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อผู้ป่วยน้อยที่สุด และผู้ป่วยยังสามารถฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย การผ่ากระดูกสันหลังผ่านกล้อง นับเป็นวิทยาการอันทันสมัยที่สุดที่นำมาใช้ในการรักษากระดูกสันหลัง วิธีนี้สามารถลดขนาดแผลและลดความบอบช้ำที่เนื้อเยื่อหลังผ่าตัด รวมทั้งทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการรักษาหมอนรองกระดูกเคลื่อนโดยใช้เข็มเจาะ ใช้หลักการของคลื่นความร้อน ทำให้เยลตรงกลางของหมอนรองกระดูก ระเหยน้ำออกและมีการหดตัวรอบทิศทาง จึงทำให้ส่วนของหมอนรองกระดูกที่ยื่นออกมากดทับเส้นประสาทหดกลับเข้าที่เดิม และทำให้เส้นประสาทหลุดจากการกดทับและมีแผลเพียงแค่รอยเข็มเล็ก ๆ เท่านั้น ผู้ป่วยสามารถลุกเดินและทำกิจกรรมได้ทันทีหลังทำเสร็จ 2-3 ชม. อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับวิธีนี้ควรได้รับการพิจารณาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน ถึงแม้ปัจจุบันจะมีวิธีในการรักษาอาการปวดหลัง และพยาธิสภาพของหมอนรองกระดูก และกระดูกเสื่อมมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภาวะกระดูกเสื่อมและหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาทก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งสามารถกระทำโดยการบริหารกล้ามเนื้อหลังเป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ รวมทั้งการยกของหนักเกินกำลัง เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเกินกว่า 2 อาทิตย์ โดยไม่สามารถลดอาการได้ด้วยการกินยาแก้ปวด ก็ควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกสันหลัง เพื่อตรวจโดยละเอียด และให้การรักษาอย่างถูกต้อง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-625-6555 โรงพยาบาลปิยะเวท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ