สคส. จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ..KM เพื่อการพัฒนาองค์กรอัจฉริยะ

ข่าวทั่วไป Thursday May 10, 2007 14:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--สคส.
ปัจจุบันความสามารถในการรับข้อมูลข่าวสารและการใช้สารสนเทศขององค์กร อาจไม่สำคัญเท่าความสามารถในการปรับตัว การเรียนรู้ การสร้างและใช้ความรู้ ที่นำไปสู่การเพิ่มคุณค่าและมูลค่าขององค์กร นี่คือคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นองค์กรอัจฉริยะ การจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management : KM) มีส่วนเสริมสร้างความเป็นอัจฉริยะให้กับองค์กรได้อย่างไรนั้น
ด้วยเหตุนี้ สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนำงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานสัมมนา KM เพื่อการพัฒนาองค์กรอัจฉริยะ หรือ KM for Building the Intelligent Organization ขึ้นในวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2550 เวลา 09.00-16.30 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ (ห้อง A,B ชั้น 4)
โดยมีวิทยากรระดับชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์มากมาย อาทิ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการ สคส. ,ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ที่ปรึกษาด้านวางกลยุทธ์และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน , ดร.ปรอง กองทรัพย์โต ผู้จัดการอาวุโส บริษัท สแปนชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และ ดร.เกศรา รักชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Learning Organization, Leadership,Coaching,Communication &Interpersonal Skills
ทั้งหมดนี้จะชวนท่านผู้สัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอประสบการณ์การพัฒนาองค์กร ด้วยหลักการบริหารสมัยใหม่ที่ไม่ทิ้งรากเหง้าของความเป็นไทย ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.kmi.or.th
องค์กรอัจฉริยะ ยุคการจัดการความรู้
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.)
www.kmi.or.th
http://gotoknow.org/ thaikm
ในยุค “หลังข้อมูลข่าวสาร” (post-information era) ความหมายของคำว่า “อัจฉริยะ” จะต้องเปลี่ยนไป จากความหมายว่า “มีความรู้ความสามารถเกินระดับปกติ” ไปสู่ความหมายว่า “มีความสามารถในการเรียนรู้สร้างและใช้ความรู้ เกินระดับปกติ”
องค์กรอัจฉริยะในยุคปัจจุบันไม่ใช่องค์กรที่มีความรู้ (knowledge-based organization) เท่านั้น แต่จะต้องเป็นองค์กรที่สร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาทดแทน หรือล้มล้างความรู้เก่า และใช้ความรู้ใหม่นั้นในการดำเนินกิจการที่มีชัยเหนือคู่แข่ง องค์กรอัจฉริยะไม่ใช่แค่องค์กรที่มีความรู้ แต่จะต้องเป็นองค์กรที่สร้างความรู้ (knowledge-creating organization) และใช้ความรู้ที่สร้างขึ้นใหม่นั้น ในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า (value-add) ให้แก่องค์กร
องค์กรอัจฉริยะจะต้องไม่หยุดอยู่แค่ความสามารถในการสร้างและใช้ความรู้ แต่จะต้องมีความสามารถในการสร้างความรู้และใช้ความรู้โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด และมีอัตราความเร็ว(speed) สูงที่สุด ซึ่งหมายความว่า กระบวนการ “สร้าง” และ “ปรุง” ความรู้ให้ “พร้อมใช้” นั้น จะต้องไม่เริ่มจากศูนย์ องค์กรจะต้องมีความสามารถในการ “หยิบฉวย” หรือ “ดูดซับ” ความรู้ที่ต้องการมาจาก ภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เอามาปรับเล็กปรับน้อยเพื่อทดลองใช้ตามบริบทขององค์กร
ความ “อัจฉริยะ” อยู่ตรงนี้แหละ อยู่ที่การลงทุนน้อยแต่ได้ผลมากและรวดเร็ว และเมื่อคู่แข่งรู้ตัวและไล่ตาม องค์กรอัจฉริยะก็ก้าวไปอีกหลายขั้นแล้ว ในการนำเอาความรู้ใหม่มาขยับวงจรเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพขององค์กร
นอกจากลงทุนน้อยได้ผลมากและรวดเร็วแล้ว ยังพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง โดยมีระบบดูดซับ ปรับแต่ง ประยุกต์ใช้ และยกระดับความรู้ ที่หมุนเป็นเสมือนเกลียวที่ยกระดับขึ้นเรื่อยไป ที่เรียกว่า เกลียวความรู้ (Knowledge spiral)
ความเป็นอัจฉริยะไม่ได้อยู่ที่ความรู้ (Knowledge) แต่อยู่ที่เกลียวความรู้ (Knowledge spiral) ไม่ได้อยู่ที่องค์ความรู้ (body of knowledge) แต่อยู่ที่การประยุกต์ใช้ความรู้ (application of knowledge) และการยกระดับความรู้ (leverage of knowledge )
องค์กรที่ดำเนินการตามแนวทางข้างต้นด้วยความยากลำบาก ต้องออกแรงมาก ใช้ทรัพยากรมาก เกิดความขัดแย้งมาก เกิดความทุกข์มาก ไม่ใช่องค์กรอัจฉริยะ
องค์กรอัจฉริยะคือองค์กรที่ดำเนินการตามข้างต้นโดยแทบจะไม่ต้องออกแรง แทบจะไม่ต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นเลย และมีบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสุข ความชื่นชมยินดี ความคึกคัก ความเคารพเห็นคุณค่าซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกขององค์กร
องค์กรอัจฉริยะตามรูปแบบข้างต้น คือองค์กรที่ดำเนินการจัดการความรู้อย่างถูกต้อง ถูกแนวทาง เกิดการสนธิพลัง (Synergy) ระหว่างองค์ประกอบหลัก 4 องค์ประกอบของการจัดการความรู้ อันได้แก่ คน (people) กระบวนการ (process) เนื้อหาความรู้ (content) และเทคโนโลยี (technology)
เมื่อองค์ประกอบหลังทั้ง 4 เกื้อกูลต่อกันอย่างถูกต้อง โดยอาศัยตัวช่วย (enables) ที่เหมาะสมต่อวัฒนธรรม และบริบทอื่นๆขององค์กร กระบวนการจัดการความรู้ก็จะไหลเลื่อน (flow) ไปเสมือนเป็นอัตโนมัติ แทบจะไม่ต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อน เพราะในกระบวนการไหลเลื่อนนั้นเองได้ปลดปล่อยพลังงานที่อยู่ภายในตัวบุคคล และที่อยู่ภายในความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคล ออกมาขับเคลื่อนการไหลเลื่อนนั้น
สภาพเช่นนี้ทั้งดูเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นความจริง โดยที่รูปธรรมที่สัมผัสได้ จะเกิดขึ้นเมื่อมีการลงมือปฏิบัติ
การจัดการความรู้ ไม่ทำไม่รู้
องค์กรอัจฉริยะ ไม่ได้เกิดจากการส่งพนักงานไปเข้ารับการอบรมหรือการศึกษาต่อ แต่จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อพนักงานทั้งหมดพร้อมใจกันลงมือปฏิบัติ
ปฏิบัติกระบวนการที่เรียกว่า การจัดการความรู้
ทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติการจัดการความรู้เป็น คำตอบคือต้องฝึกและหากต้องการเป็นองค์กรอัจฉริยะ ก็ต้องวางระบบการฝึกทั่วทั้งองค์กร ทุกระดับขององค์กร
องค์กรอัจฉริยะ คือองค์กรที่ไหลลื่นไปกับการจัดการความรู้ทั่วทั้งองค์กร ในทุกระดับขององค์กร
สนใจฝึกปฏิบัติในระดับองค์กร ศึกษาโอกาสที่ www.kmi.or.th
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-298-0664-8 ต่อ 331 (คุณปราณี จริยะพร)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ