กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ศ.ศ.ป.
ชวนคนไทยร่วมชื่นชมสุดยอดงานศิลปาชีพระดับยอดเยี่ยม ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมเลือกซื้อสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยจากผู้ผลิตในราคาสุดพิเศษ ฝึกอาชีพฟรี ๒๐ ประเภท ในงาน “สุดยอดศิลปหัตถกรรม” ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ๒๗-๒๙ ส.ค. นี้
นายกุญญพันธ์ แรงขำ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน ) หรือ (ศ.ศ.ป.)แจ้งว่า ศ.ศ.ป.กำหนดจัดงาน “สุดยอดศิลปหัตถกรรม” ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๙ ส.ค. ๕๓ เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. ณ บริเวณโถง ชั้น ๑ และชั้น ๒ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจได้รู้จัก เรียนรู้คุณค่างานศิลปาชีพ และศิลปหัตถกรรมไทย ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมและเพิ่มคุณค่าให้แก่งานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นการสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพแบบผสมผสาน โดยภายในงานได้เปิดสอนงานหัตถกรรมพื้นบ้านแก่ผู้สนใจ ซึ่งอบรมเพียงวันเดียวก็สามารถไปประกอบอาชีพได้
โดยในวันงานซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา ๓ วันนั้น ศ.ศ.ป.ได้คัดเลือกช่างศิลปาชีพ และผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยที่มีทักษะฝีมือ จำนวน ๒๐ ประเภท อาทิ การทอผ้า การเข็นมือ การทำกล่องผ้าไหม การทำผ้าบาติก งานลงรักปิดทอง การทำพวงมโหตร การทำโคม การทำตุ๊กตาชาววัง การทำผ้าย้อมคราม งานตอกกระดาษ งานว่าวไทย การเป่าแก้ว งานสลักกระจก การทำเปเปอร์มาเช่ (Papier Mache’) และงานศิลปประดิษฐ์จากใบยางพารา ฯลฯ มาสาธิตพร้อมเปิดอบรมให้ผู้สนใจ...ฟรี แบบที่เรียกได้ว่า “มาวันเดียว..ได้อาชีพ” สนใจสอบถามพร้อมสำรองที่นั่ง ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) บางไทร โทร.๐๓๕-๓๖๗๐๕๔-๙ www.sacict.net
นายกุญญพันธ์ กล่าวในตอนท้ายว่าศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศเป็นองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักในการนำผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาปรับปรุงรูปแบบและบรรจุภัณฑ์ให้มีความเหมาะสม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นสามารถทำตลาดได้ในระดับสากล โดยในปีนี้ ศ.ศ.ป.ได้จัดทำโครงการคัดเลือก “๖๐ ผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมไทยสู่ตลาดต่างประเทศ” ขึ้น เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีทักษะฝีมือ เอกลักษณ์ ภูมิปัญญาในระดับยอดเยี่ยม จำนวน ๖๐ ราย โดยจะนำผลงานที่ได้การคัดเลือกมาจัดแสดงในงานดังกล่าว เพื่อให้เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยไปยังตลาดในประเทศ และต่างประเทศเพิ่มขึ้น