กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ธนาคารกสิกรไทย
กสิกรไทย จับมือ สสว. และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ รายงานสถานการณ์ SMEs เผยครึ่งปีแรกรุ่ง ผลจากการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนดีขึ้น เห็นได้จากกิจการ SMEs ตั้งใหม่กว่า 25,000 กิจการ เพิ่มขึ้น 29.6 การส่งออกมีมูลค่าเกือบ 9 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อ SMEs ผ่านการอนุมัติถึง 99,947 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 67% แต่คาดการณ์ครึ่งปีหลังชะลอตัว ผลจากเศรษฐกิจโลก เงินบาทแข็งค่า อัตราดอกเบี้ยเพิ่ม แนะทางออก SMEs ต้องระมัดระวังการกู้ แสวงหาโอกาสเพิ่มรายได้ เจรจายืดเวลาชำระหนี้ หรือขอใช้อัตราดอกเบี้ย Fix rate
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในงานรายงานสถานการณ์ SMEs ครั้งที่ 2/2553 เรื่อง “การปรับตัวของ SMEs ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น” จัดโดย สสว. ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) ว่า จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีทิศทางการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศ ในปี 2553 ไตรมาส 1/2553 ราคาปัจจุบัน มีมูลค่า 2,567,050.0 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.0 ขณะที่ GDP SMEs มีมูลค่า ณ ราคาปัจจุบัน 955,249.4 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.0 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.2 ของมูลค่า GDP ทั้งประเทศ โดยคาดการณ์ครึ่งปีแรกคาดว่า GDP ของประเทศ จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10 ใกล้เคียงกับ GDP SMEs
“เศรษฐกิจโดยภาพรวม และ SMEs ในช่วงครึ่งปีแรก 2553 (ม.ค.-มิ.ย.) มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ผลจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศคู่ค้า ความต้องการสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการภาครัฐทั้งไทยเข้มแข็งและมาตรการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น” ผอ.สสว. กล่าว
โดยเมื่อพิจารณาในด้านการจัดตั้งและสิ้นสภาพกิจการนิติบุคคลในส่วนของ SMEs พบว่า กิจการจัดตั้งใหม่มีจำนวน 25,092 ราย ขยายตัวร้อยละ 29.6 กิจการที่จัดตั้งใหม่ในสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ การก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการนันทนาการ อสังหาริมทรัพย์ บริการด้านธุรกิจอื่น และขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร ส่วนการสิ้นสภาพกิจการมีจำนวน 5,457 ราย หดตัวลงร้อยละ 80.6 กิจการที่สิ้นสภาพสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ การก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการด้านธุรกิจอื่น ธุรกิจการท่องเที่ยวและผู้จัดนำเที่ยว และขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน
ด้านการส่งออก จากตัวเลขการส่งออกรวมทั้งประเทศมีมูลค่า 3,020,593.2 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.29 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า เป็นการส่งออกของ SMEs คิดเป็นมูลค่า 891,207.6 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผลจากการขยายตัวด้านการส่งออกไปในประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวด้านการส่งออกสูง คือ อินโดนีเซีย ขยายตัวถึงร้อยละ 100.4 และอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 69.4 เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของการส่งออกของ SMEs ได้แก่ สินค้าในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับ ยางและผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยยาง รวมทั้งพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยพลาสติก
“ในปี 2553 คาดการณ์ว่า SMEs สาขาต่างๆ สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นค่อนข้างเด่นชัด แต่จะมีทิศทางที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยในครึ่งปีหลัง แม้ว่าภาคการส่งออกและภาคบริการจะมีการขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งตัวมากขึ้น และเป็นช่วง low season ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3 — ต้นไตรมาส 4 รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสจะปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจของ SMEs ในปี 2553 จะขยายตัวร้อยละ 5.2 ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ 11.7 “ ผอ.สสว. กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อ SMEs มากนัก แต่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น เกิดการชะลอการลงทุนขนาดใหญ่ ในส่วนธุรกิจที่มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจะมีภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น มีกำไรสุทธิลดลงจากต้นทุนการประกอบการที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นแนวทางการปรับตัว ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังในการกู้ยืมเงินโดยเฉพาะการกู้เพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ แสวงหาโอกาสในการเพิ่มรายได้ เช่น ขยายตลาดใหม่ ขยายประเภทสินค้าและบริการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รวมทั้งทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น นอกจากนี้ควรมีการเจรจากับสถาบันการเงิน ในการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรือขอใช้อัตราดอกเบี้ยแบบ Fix rate
นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในครึ่งปีแรกธนาคารได้ปล่อยกู้สินเชื่อ SMEs ไปแล้วเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยในครึ่งแรกของปี 2553 มีสินเชื่อ SMEs ผ่านการอนุมัติถึง 99,947 ล้านบาท ขยายตัว 67% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ซึ่งขยายตัวได้ดีทั้งกลุ่มลูกค้า SMEs ขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยธุรกิจที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อ SMEs สูง ได้แก่ ภาคการก่อสร้างทั้งรับเหมาก่อสร้างและค้าวัสดุก่อสร้าง ซึ่งได้รับผลดีจากโครงการไทยเข้มแข็ง และการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า ที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553
ด้านผลกระทบที่มีกับผู้ประกอบการ SMEs กับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น พบว่า เงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลต่อแรงกดดันด้านอัตราดอกเบี้ย ทำให้ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 1.50% ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ตามไปแล้ว ซึ่งในปีนี้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.50% ไปอยู่ที่ระดับ 2.00% ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เช่นกัน
ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโทรคมนาคมจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและการขนส่ง ซึ่งมีการลงทุนใน Fixed Asset สูง ทั้งนี้ ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ จะเป็นภาคการค้าและบริการ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SMEs ที่ตอนนี้ใช้สินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัว ควรมีการเตรียมแผนธุรกิจเพื่อรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น โดยควรจะเตรียมปรับแผนใน 2 ส่วน ได้แก่ การบริหารจัดการธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุน ซึ่งควรจะมีการควบคุมต้นทุนในธุรกิจให้รัดกุมยิ่งขึ้น และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจ ซึ่งถ้าหากสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วยแล้ว ย่อมทำให้ธุรกิจสามารถผ่านช่วงสภาวการณ์เช่นนี้ไปได้
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) กล่าวว่า ถึงแม้ว่าภาพรวมของการส่งออกของประเทศไทยจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการไม่ได้มีกำไรมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงไม่แน่นอน ทำให้ลูกค้ายังคงกดราคาสินค้าให้ต่ำที่สุด ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของการขาดแคลนแรงงานทำให้ต้องจ่ายค่าจ้างสูงขึ้น เรื่องของระวางเรือไม่เพียงพอ ทำให้ค่าระวางเรือสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศที่มีอัตราสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ ล้วนแล้วแต่ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการสูงขึ้นด้วย”
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ยังได้กล่าวถึงการปรับตัวของ SMEs จากผลกระทบด้านอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ว่า ผู้ประกอบการ SME ของไทย ควรจะต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มต้นจากการให้ความรู้แก่พนักงาน นำการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมาช่วยในการลดต้นทุนขององค์กร เน้นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับคู่ค้า และควรมีการศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อให้ได้คู่ค้าที่ดี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ส่วนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สสว.
โทรศัพท์ : 0-2278-8800 ต่อ 310