กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--ปส.
เผยเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทิศทางการพัฒนางานของ ปส. ผลสรุปเบื้องต้นชี้หลังร่วมกิจกรรม Getting To Know Me Better ประชาชนมีทัศนคติในทางบวกต่อ ปส. และพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น พร้อมยินดีที่จะเป็นแนวร่วมกับ ปส.ในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานนิวเคลียร์สู่สาธารณชนต่อไป
ศ.เกียรติคุณ ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เปิดเผยถึงภาพรวมความสำเร็จจากการจัดเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “มุมมองความเข้าใจความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางรังสีและนิวเคลียร์ ภายใต้การกำกับดูแลโดย ปส.” ในกิจกรรม “Getting To Know Me Better รู้จัก เชื่อมั่น ปส. ด้วย ยุทธศาสตร์ 4A” ว่า การจัดเวทีชุมชนในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ อุบลราชธานี และสุราษฏร์ธานี ทำให้ ปส.ได้มีโอกาสพบปะพูดคุย และให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องพลังงานนิวเคลียร์แก่ตัวแทนชุมชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์และเครือข่ายภาคประชาชน ถึงขอบข่ายหน้าที่และภารกิจในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสีและนิวเคลียร์ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจภารกิจในการทำงานของ ปส. ได้มากขึ้นแล้วยังเป็นการตอกย้ำให้ประชาชนเชื่อมั่นที่จะอยู่กับพลังงานนิวเคลียร์ได้อย่างปลอดภัยและไม่รู้สึกกลัวด้วย
ทั้งนี้ ผลสรุปเบื้องต้นจากการจัดกิจกรรมที่ทาง ปส. ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเพื่อทำการสำรวจความรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส. พบว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรมประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก ปส. เข้าใจว่า ปส.มีภารกิจในการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับพลังงานปรมาณู และระเบิดปรมาณู เข้าใจว่าพลังงานปรมาณูถูกนำมาใช้เป็นอาวุธสงครามและการทำลายล้าง อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฉายรังสีไม่ปลอดภัยและไม่สามารถนำมาบริโภคได้ และเมื่อพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์สิ่งแรกที่คิดถึงคือระเบิดปรมาณู แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วประชาชนได้รู้จัก ปส.มากขึ้น เข้าใจและจำได้ว่า ปส.มีบทบาทหน้าที่อะไร มีความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงานนิวเคลียร์และรังสีมากขึ้น เชื่อมั่นว่าพลังงานรังสีและนิวเคลียร์จะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ และใช้ในการพัฒนาประเทศ เป็นพลังงานทางเลือกที่สามารถทดแทนวิกฤตการขาดแคลนพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ รวมทั้งยินดีที่จะเข้ามาเป็นแนวร่วมให้กับ ปส.เพื่อการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงานนิวเคลียร์สู่สาธารณชนต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมยังได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่น่าสนใจในหลายประเด็น เช่น ควรจะนำความรู้ที่นำเสนอในการจัดกิจกรรมไปบรรจุไว้ในหลักสูตรเพื่อการศึกษาในระดับต่างๆ เพื่อปลูกฝังความรู้ความเข้าใจ เรื่องพลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่ในวัยเยาวชน ควรจะมีตัวแทนหรือหน่วยงานของ ปส. ในพื้นที่ภูมิภาคเพื่อร่วมมือกับประชาชนในการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ถึงประโยชน์โทษและข้อระวังเกี่ยวกับรังสีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ ปส. มากขึ้นอย่างทั่วถึง เพื่อประชาชนจะได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างเท่าเทียม และควรจัดหาหรือใช้สื่อที่ง่ายต่อการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะด้านการรณรงค์สร้างความเข้าใจ ซึ่ง ปส. อาจจะต้องทำงานหนักมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมรณรงค์ หรือการประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจที่ต้องมีมากพอที่จะลบภาพลบเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ในอดีตที่ผ่านมา ฯลฯ ความคิดเห็นต่างๆ เหล่านี้มาจากประชาชนหลากหลายช่วงอายุและหลากหลายสาขาอาชีพ ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานของ ปส. ได้ทั้งสิ้น
เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวต่อว่า ปส. มีภารกิจหลัก คือ บริหารจัดการความปลอดภัยในการใช้พลังงานปรมาณูในทางสันติ ด้วยการกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในประเทศให้เป็นไปอย่างถูกต้อง และเกิดความปลอดภัยสูงสุดทั้งกับตัวผู้ใช้และประชาชนทั่วไป ที่ผ่านมาประชาชนยังไม่รู้จัก ปส.มากนัก ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัยได้อย่างไร ทั้งที่ในชีวิตประจำวันมนุษย์เราก็ใกล้ชิดและได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในด้านต่างๆ อย่างมากมายทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ ที่พบว่าส่วนใหญ่มักจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง
ข้อสรุปที่ได้จากการจัดเวที เสวนาจากทั้ง 4 พื้นที่ที่ผ่านมาจึงเป็นการสะท้อนมุมมอง ความรู้สึก และสิ่งที่ประชาชนต้องการจาก ปส.ทำให้ ปส.ได้รับรู้ว่า ประชาชนรู้จักเข้าใจและมีความเชื่อมั่นใน ปส. มากน้อยแค่ไหนและ ปส. ควรจะมีทิศทางในการพัฒนางานสู่การเป็นองค์กรผู้นำด้านความปลอดภัยทางรังสี — นิวเคลียร์ได้อย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ ปส. อย่างมาก
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.)