กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--ทีดีอาร์ไอ
ผลวิจัยชี้ อุตสาหกรรม ICT ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ที่เกิดใหม่มีโอกาสโตได้อีกมาก ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เอกชนนำ รัฐสนับสนุน เปลี่ยนมุมมองใหม่ พัฒนาศักยภาพ มุ่งทำตลาดโลกคู่ตลาดในประเทศ เน้นสร้างแบรนด์ขายทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าขายแรงงาน(รับจ้างผลิต) หากภาครัฐสามารถใช้ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในการส่งเสริมให้มีการใช้ซอฟต์แวร์และดิจิตัลคอนเทนต์ที่ผลิตในประเทศมากขึ้น จะช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้มาก
โครงการส่งเสริมบทบาทอุตสาหกรรม ICT เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ ระยะที่ 2 ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มอบหมายให้ทีดีอาร์ไอทำการศึกษา พบว่า อุตสาหกรรม ICT มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ที่เกิดใหม่ (emerging software and digital content industries) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในฐานะเป็นบริการ (Software as a Service หรือ SaaS) อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฝังตัว (Embedded software) อุตสาหกรรมการให้บริการเนื้อหาบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile content) อุตสาหกรรมเกม และอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อีกมาก อีกทั้งจากการศึกษาประสบการณ์จากประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรม ICT คือ ฟินแลนด์ เยอรมนี และอิสราเอล มีจุดเด่นที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ จึงเสนอแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรม ICT ไทย 5 ประการ คือ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและตลาดโทรคมนาคมในประเทศ 2) การพัฒนาเทคโนโลยี 3) การพัฒนาตลาดในประเทศ 4) การส่งเสริมการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ 5) การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ด้วยเหตุที่อุตสาหกรรม ICT ของประเทศไทยอยู่ในช่วงกำลังเติบโต และในบางสาขาของอุตสาหกรรม ICT ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น มีผู้ประกอบการน้อยราย เติบโตจากการลองผิดลองถูก ขาดการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ แต่ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีของฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารไร้สายและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสมากในทางธุรกิจ หากสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการยกระดับการผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นได้
ตัวอย่างเช่น การผลิตสินค้าฮาร์ดแวร์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้รับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer: OEM) อาจปรับตัวโดยการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเน้นการผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น หรือเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น และ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตเพียง 40-50 ราย และมีเพียง 10 รายที่สร้างตัวละครเอง อาจมุ่งสู่การพัฒนาตัวละคร (character) ของตัวเองเพื่อจะได้สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้
ภาพที่ 1 Smiling Curve (มุมมองใหม่)
ด้านโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์นั้น ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในฐานะเป็นบริการ (SaaS) ผู้ประกอบการไทยอาจขยายตลาดได้ทั่วโลก โดยการมุ่งขายทรัพย์สินทางปัญญา (IP) แทนการขายแรงงาน และในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฝังตัว ผู้ประกอบการไทยควรสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการออกแบบ และเน้นการขายทรัพย์สินทางปัญญา (IP) แทนการขายแรงงาน ส่วนในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่เกิดใหม่นั้น ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการให้บริการเนื้อหาบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุตสาหกรรมเกม ควรมุ่งสู่การขยายตลาดได้ทั่วโลก เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากการขายในประเทศ ส่วนผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น ควรมุ่งขยายตลาดได้ทั่วโลก โดยเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการด้วยการสร้างตัวละครของตนเอง
สำหรับการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรม ICT ไทย การศึกษาให้ข้อเสนอแนะต่อทั้งผู้ประกอบการ และบทบาทภาครัฐ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยควรมุ่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ เพราะตลาดในประเทศมีขนาดเล็ก สร้างสมดุลระหว่างการรับจ้างผลิตและการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา (IP) โดยใช้การรับจ้างผลิตในการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ รักษากระแสเงินสดและการจ้างงาน ในขณะที่ใช้การสร้างทรัพย์สินทางปัญญาในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ควรรวมตัวกันสร้าง app store สำหรับตลาดในประเทศ เพื่อลดต้นทุนในการต้องจ่ายค่าจัดจำหน่ายใน app store ของต่างประเทศ ซึ่งมักอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 30 สมาคมผู้ประกอบการควรเป็นแกนกลางทำหน้าที่ฝึกอบรมบุคลากร ตามความต้องการของอุตสาหกรรม โดยขอรับการอุดหนุนจากรัฐ
บทบาทภาครัฐในด้านการกำหนดกฎกติกา ควรเปิดเสรีโทรคมนาคม และส่งเสริมเทคโนโลยีทางเลือก การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างเป็นธรรม ลดการผูกขาด จะทำให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีราคาถูกลง ทำให้ตลาดเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ก็จะมีอำนาจต่อรองกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น และได้รับส่วนแบ่งรายได้สูงขึ้น รวมทั้งการทำกิจกรรมด้านการตลาดต่างๆ และปรับกฎเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนให้เอื้อธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ปรับลดมูลค่าขั้นต่ำของโครงการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เช่น ลดลงเหลือ 5 แสนบาท เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะในการประกอบการของผู้ประกอบการในประเทศขนาดเล็กที่ใช้เงินทุนไม่มาก เป็นต้น
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม ICT ในประเทศ คือ การใช้ตลาดจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยกำหนดเงื่อนไขให้โปร่งใสและเป็นธรรม เพราะตลาดซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ในประเทศไทยยังมีขนาดเล็ก และส่วนแบ่งตลาดส่วนมากเป็นของบริษัทจากต่างประเทศ ดังนั้น หากภาครัฐใช้ตลาดจัดซื้อจัดจ้างในการส่งเสริมให้มีการใช้ซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น จะเป็นการช่วยขยายตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้มาก
โดยภาครัฐอาจริเริ่มให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ประเภทโอเพน ซอร์ส (Open source software) โดยเริ่มจากซอฟต์แวร์ที่ไม่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก เช่น ซอฟต์แวร์สำนักงาน (Office software) ก็จะสามารถลดต้นทุนของรัฐในการจัดหาซอฟต์แวร์ได้มากและจะช่วยสร้างตลาดให้แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยด้วย รวมทั้งตั้งหน่วยงานส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ โดยกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่เชื่อมโยงกับการส่งออกและขยายตัวของอุตสาหกรรม เพื่อให้ทำหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อย่างมีประสิทธิผล ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม
ส่วนตลาดต่างประเทศควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันในการทำการตลาดต่างประเทศโดยให้เงินสนับสนุนในการเข้าร่วมนิทรรศการระดับนานาชาติภายใต้เงื่อนไขที่ยืดหยุ่นพอ เช่น อนุญาตให้ใช้หรือไม่ใช้ตราสัญลักษณ์ของประเทศไทยก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม เพราะผู้ประกอบการอาจสร้างแบรนด์ตัวเองที่ตรงกับความต้องการของตลาดก็ได้
ดร.เสาวรัจ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การใช้ ICT ในประเทศ แม้ภาครัฐได้มีการพัฒนาแผนแม่บท ICT เพื่อมุ่งส่งเสริมการพัฒนาและการใช้ ICT ในประเทศมาตั้งแต่ปี 2545 แต่การใช้ ICT ในสถานประกอบการของไทยยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ควรมุ่งส่งเสริมในกลุ่มเป้าหมายหลักคือ SMEs และกิจการในภูมิภาค ส่งเสริมการสร้างทักษะด้าน IT ส่งเสริมบรอดแบนด์และเปิดเสรีโทรคมนาคม รวมทั้งการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการคลายกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านข้อมูล ขณะที่การใช้ ICT ของหน่วยงานภาครัฐ ควรส่งเสริมให้มีการบริการและทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับภาคธุรกิจและภาคประชาชนให้มากขึ้น.
เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ โทร.0-2270-1350 ต่อ 113 (ศศิธร)