กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดมความคิดผู้ประกอบการศึกษาศักยภาพการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ หวังต่อยอดงานวิจัยให้เป็นรูปธรรม ด้านผู้ประกอบการวอนรัฐเร่งผลักดันมาตรฐานคุณภาพพลาสติกไทยให้เป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ แนะให้มีการระบุชื่อบริษัทที่ผลิตพลาสติกย่อยสลายได้เพื่อป้องกันการแอบอ้าง อันทำให้ประชาชนสับสน/ไม่ยอมรับในผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ พร้อมทั้งให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ตรวจสอบ/รับรองคุณสมบัติผลิตภัณฑ์พลาสติกในการย่อยสลายได้จริง
นางสาวพิศมัย เจนวนิชปัญจกุล รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา วว. กล่าวชี้แจงว่า วว. ได้มีแผนการจัดทำงานวิจัยด้านพลาสติกย่อยสลายได้ในปีงบประมาณ 2551 เพื่อให้งานวิจัยออกมาเป็นรูปธรรมสู่เชิงพาณิชย์ วว. จึงได้จัดการประชุมระดมความคิดจากผู้ประกอบการด้านพลาสติก เพื่อศึกษาศักยภาพในการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ของไทยขึ้น ตลอดจนศึกษาข้อมูลผลกระทบเชิงการตลาดและเศรษฐกิจ โดยมีตัวแทนผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและเพื่อการส่งออก ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมจำนวน 11 บริษัท ได้แก่ บริษัทไทยโรตารี่พลาสติก จำกัด บริษัทศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทสหกิม จำกัด บริษัทซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) บริษัทโพลีแมททีเรียลเทคโนโลยี จำกัด บริษัทไบโอแพ็คอินเตอร์เทรด จำกัด บริษัทพีพีแพคเกจจิ้ง จำกัด บริษัทเรืองวาสแตนดาร์ดอินดัสตรี จำกัด บริษัทอิมโก้ฟู้ดแพ็ค จำกัด บริษัทแจ๊สซี่ครีเอชั่น จำกัด และ บริษัทซี.เอ็ม.ที โพลิเมอร์ส จำกัด
ผู้ประกอบการได้แสดงความคิดเห็นว่า จากกลไกและเงื่อนไขทางการตลาดได้ส่งผลให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ที่ต้องส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะให้มีการใช้พลาสติกย่อยสลายได้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาเรื่องการจัดการขยะพลาสติกและและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนราคาของน้ำมันในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นแหล่งวัตถุดิบของการผลิตพลาสติกแบบดั้งเดิมมีราคาที่ผันผวน ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการมีความจำเป็นที่ต้องหันมาใช้พลาสติกย่อยสลายได้แทนพลาสติกแบบดั้งเดิม
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการเสนอให้มีการหาสารตั้งต้นหลายชนิดเพื่อการผลิตพลาสติกที่หลากหลาย โดยอาจมีการใช้แหล่งวัตถุดิบจากภาคการเกษตรที่มีมากภายในประเทศและมีราคาที่ถูก หรือของเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อผลิตสารตั้งต้นของพลาสติกย่อยสลาย เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตจากภาคการเกษตร ตลอดจนลดปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตพลาสติกย่อยสลายจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาในเรื่องกระบวนการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์อันเนื่องจากเครื่องจักรเดิมที่ใช้กับพลาสติกดั้งเดิมกับพลาสติกย่อยสลาย จึงควรมีการจัดทำฐานข้อมูลในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับพลาสติกย่อยสลายได้ในแต่ละประเภท ทั้งนี้เพื่อให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเหมือนพลาสติกดั้งเดิม รวมถึงการหาคู่ผสมที่เหมาะสมและมีความเข้ากันได้ระหว่างพลาสติกชีวภาพและพลาสติกดั้งเดิม เพื่อเป็นการลดต้นทุนโดยยังคงการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและตรงกับความต้องการของตลาด
“ผู้ประกอบการได้แสดงความคิดเห็นถึงการสนับสนุนงานวิจัยจากภาครัฐว่า ควรมีการผลักดันมาตรฐานการรับรองคุณภาพของไทยให้เป็นที่ยอมรับ หรือทัดเทียมกับมาตรฐานของต่างประเทศ ควรมีการวิจัยพัฒนาพลาสติกย่อยสลายได้ให้หลากหลายและครบทุกชนิด ต้องการให้ วว. ทำการวิจัย PLA หรือพลาสติกย่อยสลายประเภทอื่นที่มีคุณสมบัติทดแทนพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายแต่มีการใช้งานมากในปัจจุบัน นอกจากนี้ควรมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบพลาสติกย่อยสลายได้ที่มีการใช้ตามท้องตลาดว่าย่อยสลายได้จริงหรือไม่ ตลอดจนควรมีห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์พลาสติก อาทิเช่น สีและความยืดหยุ่นอันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ผู้บริโภคสามารถสัมผัสได้จากการใช้งาน” รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา วว. กล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการยังได้เสนอว่า ควรมีการดำเนินการจัดการกับพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายควบคู่ไปกับการใช้งานอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางประเภทต้องการช่วงเวลาการใช้งานที่ยาวนาน การใช้พลาสติกที่ย่อยสลายจึงไม่เหมาะสม แต่หากมีการนำเอากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ ตลอดจนกระบวนการจัดเก็บหรือจัดการกับพลาสติกใช้แล้วที่ดี เช่น การ recycle, reuse จะทำให้ปัญหาเรื่องการจัดการกับพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายลดลง ทั้งนี้ หากมีการมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนให้เข้าใจและเห็นความสำคัญในเรื่องวิธีการจัดการพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย รวมถึงข้อดีของการนำพลาสติกย่อยสลายมาใช้งานโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพียงครั้งเดียวและต้องทิ้ง จะมีส่วนช่วยในเรื่องของการลดข้อด้อยของบทบาทการใช้งานพลาสติกในปัจจุบัน และช่วยให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจในเรื่องของราคาต้นทุนที่สูงของพลาสติกย่อยสลาย ตลอดจนรู้วิธีการจัดการกับพลาสติกย่อยสลายให้ถูกต้อง ตรงกับประเภทของพลาสติกย่อยสลายเนื่องจากพลาสติกย่อยสลายแต่ละประเภทจะมีกลไกในการย่อยสลายภายใต้สภาวะที่ต่างกัน