กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
สถาบันสุขภาพเด็กฯ เดินหน้าปกป้องเด็กไทยให้ปลอดภัยจากพิษร้ายของสารตะกั่ว หลังพบปัญหาสารตะกั่วยังมีอยู่และคุกคามสุขภาพเด็กในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก พบเด็ก 1 ใน 4 มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน เร่งประสานงานเครือข่ายพัฒนาแผนดูแลสุขภาพเด็กในพื้นที่เสี่ยง
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะองค์กรที่ดูแลสุขภาพของเด็กไทยในทุกมิติ อันมีบทบาทและหน้าที่ในการปกป้องเด็กให้ปลอดภัย ส่งเสริมให้มีสุขภาพแข็งแรง ฉลาด และอารมณ์ดี ได้มีการจัดทำโครงการ “รณรงค์ป้องกันภัย อาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว” เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปีภายใต้โครงการ “อาหารปลอดภัยเด็กไทยฉลาด” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กไทยฉลาดรู้ ฉลาดเลือก และฉลาดบริโภค ตามข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิเด็กของ UNICEF และ UNEP ที่ระบุว่าเด็กควรได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ถึงแม้ในปัจจุบันพิษภัยของ “สารตะกั่ว” ในประเทศไทยจะไม่ใช่ปัญหาหลักของกระทรวงสาธารณสุข เพราะนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไปเป็นน้ำมันไร้สารตะกั่ว ทำให้ไม่มีปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในอากาศที่เกินมาตรฐาน แต่ปัจจัยที่ยังเป็นความเสี่ยงอยู่คือ “การปนเปื้อนของสารตะกั่วในอาหาร น้ำดื่ม และผงฝุ่น” ที่สำคัญเด็กยังสามารถได้รับและดูดซึมสารตะกั่วที่ปนเปื้อนมากับน้ำและอาหารได้ดีกว่าผู้ใหญ่ 5-10 เท่า
โครงการ “รณรงค์ป้องกันภัย อาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว” ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2552 โดยปีแรกเป็นการทำงานรณรงค์ป้องกันขั้นปฐมภูมิ โดยผลิตสื่อชนิดต่างๆ แจกจ่ายให้กับโรงเรียน 926 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยของสารตะกั่วแก่เด็ก และเพื่อกระตุ้นให้ผู้ปกครองและครูตระหนักถึงพิษภัยของสารตะกั่วที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำ
โดยระดับตะกั่วที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ WHO กำหนดคือ10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร สามารถส่งผลให้เด็กมีระดับสติปัญญาต่ำลง เรียนรู้ช้า และมีปัญหาพฤติกรรมร่วมด้วย เช่น ซน สมาธิสั้น และส่งผลต่อระบบสมองและประสาทที่กำลังพัฒนา หากได้รับพิษจากสารตะกั่วก็จะไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้
โดยในปี 2553 นี้สถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้เน้นการทำงานเชิงรุก การป้องกันในระดับทุติยภูมิในเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสสารตะกั่ว หลังพบรายงานจาก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าร้อยละ 13 ของเด็กผู้อพยพที่มากจากศูนย์พักพิงผู้อพยพนุโพ แม่หล่ะ และอุ้มเปี้ยม ในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่ได้รับการส่งต่อไปยังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2550-2552 นั้นมีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงมากกว่าค่ามาตรฐาน แต่ยังไม่มีการศึกษาสถานการณ์การสัมผัสสารตะกั่วในเด็กไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับศูนย์พักพิงผู้อพยพ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์พิษของสารตะกั่วกับเด็กไทยในพื้นที่ดังกล่าว
แพทย์หญิงนัยนา ณีศะนันท์ กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กฯ รองประธานโครงการฯ เปิดเผยว่า จากรายงานดังกล่าวทำให้คณะทำงานห่วงใยในปัญหาพิษภัยของสารตะกั่วที่อาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กไทยซึ่งอยู่รอบๆ พื้นที่ศูนย์อพยพ จึงลงพื้นที่ทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลเด็กเหล่านี้ว่าจะมีความเสี่ยงเรื่องการสัมผัสสารตะกั่วหรือไม่
“จากการศึกษาเด็กจำนวน 220 คนจาก 6 หมู่บ้านพบว่าเด็ก 1 ใน 4 ของเด็กก่อนวัยเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 2-5 ปี มีค่าสารตะกั่วในเลือดเกินมาตรฐาน คิดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์หรือ 57 คน โดยพบว่าเด็กผู้ชายจะมีปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าเด็กผู้หญิง ปัจจัยที่สองคือสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย คือเด็กที่อยู่นอกเขตเทศบาล บ้านที่มีการใช้แบตเตอรี่แบบเติมไฟได้และการใช้น้ำจากแหล่งอื่นๆที่ไม่ใช่น้ำประปาในการอุปโภคบริโภค ซึ่งจากการศึกษาตัวอย่างน้ำที่ใช้ในการบริโภคจากบ้านของเด็กพบว่า บ้านที่มีค่าสารตะกั่วในน้ำสูงเกินมาตรฐานของ WHO เด็กในกลุ่มนี้จะมีค่าเฉลี่ยของสารตะกั่วในเลือดสูงกว่า”
แพทย์หญิงรัตโนทัย พลับรู้การ รอง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ปัญหาและปัจจัยเสี่ยงที่พบในการลงพื้นที่ในอำเภออุ้มผาง จะเป็นข้อมูลสำคัญในการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ว่าในเมืองไทยยังมีปัญหาพิษภัยสารจากตะกั่วอยู่ ซึ่งพิษภัยของสารตะกั่วไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากภายนอก จำเป็นต้องอาศัยการตรวจเลือดเท่านั้น
“ผลการศึกษาในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางหรือนโยบายด้านสาธารณสุขเพื่อที่จะดูแลป้องกันสุขภาพของเด็กไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง หรือกลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่ว เพราะฉะนั้นในปีหน้าหรือปี 2554 จึงจะเป็นการทำงานแบบประสานงานสร้างเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยในเบื้องต้นได้ประสานกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำแนวทางการดูแลเด็กในกลุ่มพื้นที่เสี่ยงว่าเราจะมีแนวทางการดูแลอย่างไร เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องของการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้”
แพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวรณ์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า โครงการรณรงค์ป้องกันภัยอาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่เจาะลึกลงไปทำให้เราทราบว่าปัญหาเรื่องสารตะกั่วยังมีอยู่และเกิดขึ้นจริงในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งเรื่องพิษของสารตะกั่วไม่ได้เป็นปัญหาสาธารณสุขลำดับต้นๆ ของประเทศ แต่เป็นปัญหาที่เมื่อเกิดแล้วจะแผลเป็นที่ลึก สร้างปัญหากับเด็กในด้านสติปัญญาและพัฒนาการ มีค่าใช้จ่ายสำหรับภาครัฐและครอบครัวตามมาอีกมหาศาลในการรักษา ดังนั้นจึงต้องป้องกันไว้ก่อน
“สถาบันฯ จะประสานงานกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อหาแนวทางปฏิบัติสำหรับเด็กในกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้ใช้น้ำประปาในการอุปโภคบริโภค
เลิกใช้แบตเตอรี่ ให้เด็กกลุ่มนี้กินอาหารที่มีธาตุเหล็กเยอะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้สารตะกั่วดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย สิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางเบื้องต้นในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ โดยในปีหน้าทางสถาบันฯ จะเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายการทำงานเพื่อปกป้องเด็กจากพิษภัยของสารตะกั่ว ในทุกด้านๆที่เกี่ยวข้อง และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะต้องขยายผลต่อไปว่าจะมีกลุ่มเสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยงแบบนี้ที่ไหนอีกบ้าง เพื่อที่จะปกป้องเด็กไทยไม่ให้เกิดปัญหาจากสารตะกั่วต่อไปในอนาคต” พญ.ศิราภรณ์กล่าวสรุป