กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “ครีมบำรุงผิวจากเห็ดแครง (Schizoderma beauty cream)” สู่เชิงพาณิชย์ให้แก่บริษัทไนน์ บีบี พลัส จำกัด เพื่อผลิตจำหน่ายในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ระบุผลิตภัณฑ์มีสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอผิวหนังแก่ก่อนวัยและช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนัง
นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า จากการที่ วว. โดยฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ บูรณาการโครงการวิจัยและพัฒนาเวชสำอางจากเห็ดสมุนไพรสำหรับการบำรุงผิวขึ้น และประสบผลสำเร็จในการนำมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการพัฒนาเป็น “ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวจากเห็ดแครง” (ซิโซเดอมา บิวตี้ครีม : Schizoderma beauty cream) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ความอ่อนโยนต่อผิวหนัง โดยเนื้อครีมจะมีสีขาวนวลและมีความชุ่มชื้นสูง หากมีการใช้สม่ำเสมอจะช่วยให้ผิวหนังดูอ่อนวัย อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ เนื่องจากผิวหนังของมนุษย์นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและที่วัยเพิ่มขึ้นนั้น วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ให้แก่บริษัทไนน์ บีบี พลัส จำกัด ซึ่งจะวางผลิตภัณฑ์จำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นการนำผลงานวิจัยฝีมือนักวิจัยไทยสู่การใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งจะช่วยลดดุลการค้าในการนำเข้าเวภัณฑ์จากประเทศได้อีกด้วย
“ภายใต้โครงการบูรณาการวิจัยนี้ วว. นำเห็ดเพื่อบริโภคมากกว่า 10 ชนิด มาทำการวิจัยทดสอบและพบว่าเห็ดแครง (หรือเห็ดตีนตุ๊กแก) เหมาะที่จะนำมาพัฒนาเป็นครีมบำรุงผิว เพราะอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ในปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโลชั่นบำรุงผิวเพื่อผิวขาว (48%) 2,000 ล้านบาท โลชั่นบำรุงผิวทั่วไป (43%) 1,900 ล้านบาท และโลชั่นบำรุงผิวที่มีประโยชน์เฉพาะ (9%) 300 ล้านบาทจากมูลค่าทางเศรษฐกิจ” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวจากเห็ดแครง อยู่ในรูปแบบครีมบำรุง ใช้ทาผิวได้บ่อยตามต้องการ เหมาะกับผิวทุกส่วนของร่างกาย นอกจากจะช่วยในด้านสุขภาพผิวแล้ว ผลงานวิจัยนี้ยังจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเห็ดของไทย เนื่องจากมีเห็ดอีกหลายชนิดที่ยังไม่สามารถผลิตได้ในเชิงการค้า บางชนิดมีการผลิตเพื่อบริโภคเป็นการค้าแต่ยังไม่ได้ถูกพัฒนามาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ถ้ามีการนำมาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เกิดการขยาย ตัวของการเพาะเห็ดในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มและนำเห็ดที่มีราคาไม่สูงมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ก็จะทำให้เกิดการกระจายรายได้ เป็นเครือข่ายการผลิตของอุตสาหกรรม SMEs ที่ต่อเนื่องและยั่งยืนได้
นอกจากการพัฒนาครีมบำรุงผิวจากเห็ดแครงดังกล่าวแล้ว วว. ยังมีโครงการวิจัยและพัฒนาเวชสำอางจากเห็ดสมุนไพร ซึ่งอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาและจะประชาสัมพันธ์เร็วๆนี้ เชื่อมั่นว่าจะช่วยลดการนำเข้าเวชสำอางจากต่างประเทศและเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรด้วย
ครีมบำรุงผิวจากเห็ดแครง มีผลทดสอบทางด้านวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ดี มีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ อีกทั้งผ่านการประเมินความปลอดภัยว่าไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง (Skin Irritation) ตามวิธีทดสอบหมายเลข 404 : OECD Guideline for Testing of Chemicals (2001) และไม่ก่อความเป็นพิษเฉียบพลันต่อผิวหนัง (Dermal acute toxicity) ตามวิธีทดสอบหมายเลข 402 : OECD Guideline for Testing of Chemicals (1987)
เห็ดแครง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Schizophyllum commune Fr. มีชื่อสามัญว่า Split Gill และมีชื่อท้องถิ่นว่า เห็ดตีนตุ๊กแก เห็ดจิก เห็ดยาง (ภาคใต้) เห็ดแก้น เห็ดตามอม (ภาคเหนือ) เห็ดมะม่วง (ภาคกลาง) หรือเห็ดตีนตุ๊กแก เห็ดแครงเป็นเห็ดขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายพัด (fan-shaped) ด้านฐานมีก้านขนาดสั้นๆ ยาวประมาณ 0.1- 0.5 เซนติเมตร หรือไม่มีก้านติดอยู่กับวัสดุที่ขึ้นด้านข้าง ดอกเห็ดมีขนาดความกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวด้านบนมีสีขาวปนเทาปกคลุมทั่วไป ลักษณะดอกเหนียวและแข็งแรง เมื่อแห้งด้านใต้ของดอกเห็ดมีครีบมีลักษณะแตกเป็นร่อง สปอร์มีสีใสรูปร่างเป็นทรงกระบอก เนื่องจากเห็ดแครงมีขึ้นอยู่ทั่วไป ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ลักษณะดอกเห็ดอาจแตกต่างกันในแต่ละท้องที่
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานวิจัย ได้ที่ Call center วว. โทร. 0 2579 3000 หรือที่โทร.0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ E-mail:tistr@tistr.or.th