กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--เพนเน็ตเทรท
ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย หน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้เด็กได้มีต้นทุนทางกาย ใจ และพัฒนาการที่ดี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเสวนา โรคแพ้โปรตีนนมวัว (ในเด็ก) ซึ่งงานนี้ได้รับเกียรติจากกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ ได้แก่ พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ จากโรงพยาบาล BNH, พญ.ภาสุรี แสงศุภวานิช คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกรรมการงานวิจัยศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย, คุณวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และตัวแทนครอบครัวที่ประสบปัญหาเรื่องลูกแพ้โปรตีนนมวัว ในวันที่ 27 มิถุนายน 2550 เวลา 13.00 น. ณ ลานกิจกรรม ชั้น 35 สสส.
โรคภูมิแพ้ จัดเป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่งในประเทศไทย จากการศึกษาอัตราความชุกของโรคในประเทศไทย พบว่ามีอัตราความชุกอยู่ระหว่าง 15-45 % โดยประมาณ โดยพบโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีอัตราชุกสูงสุดในกลุ่มโรคภูมิแพ้ นั่นหมายความว่า ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ มีปัญหาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้อยู่
โรคภูมิแพ้ แม้ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงใด ๆ แต่ก็ก่อความรำคาญและทำให้ร่างกายของผู้ที่เป็นโรคนี้อ่อนแอได้ หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจังอย่างไรก็ตาม ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดสำหรับโรคภูมิแพ้ไว้แล้ว นั่นก็คือ น้ำนมจากแม่ เพราะคุณค่าที่แท้จริงของน้ำนมแม่ที่ไม่อาจสรรหาสิ่งใดมาเทียมได้
สถานการณ์ล่าสุดมีข้อบ่งชี้ว่าเด็กไทยเป็นภูมิแพ้มากขึ้น
รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เป็นที่น่าสังเกตว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีเด็กเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 3-4 เท่า โดยเฉพาะข้อมูลโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีการศึกษาเด็กในกรุงเทพฯ พบว่ามีเด็กถึงร้อยละ 40 มีอาการของโรคนี้และในอนาคตอาจมากกว่านี้ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะทุกวันนี้เด็กกินนมแม่น้อยลง เพราะสังเกตว่าคนสมัยก่อนนั้นกินนมแม่กันเยอะ อย่างองค์การอนามัยโลกเองก็ส่งเสริมเรื่องการกินนมแม่อย่างจริงจัง โดยมีงานวิจัยรองรับมากมายว่า การที่เด็กกินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือนนั้นลดการเกิดโรคภูมิแพ้ได้”
ในปัจจุบัน แม่สามารถให้นมลูกบนเตียงคลอดได้เลย หากไม่ปัญหาทางสุขภาพของแม่หรือลูก ซึ่งการให้ลูกได้ดูดนมในลักษณะนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้วงจรกลไกการทำงานของน้ำนมแม่เริ่มทำงานแม้ครั้งแรกที่ลูกดูด อาจจะยังไม่มีน้ำนมไหลออกมาแต่การให้ลูกดูดเพื่อกระตุ้นบ่อย ๆ จะทำให้น้ำนมสามารถไหลออกมาได้ทันกับเวลาที่ลูกหิวพอดี
พญ.ภาสุรี แสงศุภวานิช กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกรรมการงานวิจัยศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ทารกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ คือทารกที่มี บิดามารดา พี่น้องท้องเดียวกันเป็นโรคภูมิแพ้ ควรให้ความสำคัญกับการให้ทารกได้รับนมแม่ ทั้งในระยะกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และให้ต่อเนื่องกับอาหารอื่นตามวัย ซึ่งนมแม่มีกลไกในการป้องกันโรคแพ้อาหาร เนื่องจากการกินนมแม่ช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ที่ร่างกายจะได้รับ เช่น โปรตีนในนมวัว และในนมแม่มีภูมิคุ้มกันช่วยจับสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอาหาร ทำให้สารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของลูก ที่สำคัญการกินนมแม่ช่วยลดการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในวัยทารก”
ในความเป็นจริงแล้ว โรคแพ้โปรตีนนมวัวนี้ ถือเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากมาก บางรายพอได้นมวัวปุ๊บ ก็มีอาการปั๊บ เช่น ปากเจ่อบวม หรือมีผื่นขึ้น แต่บางรายช่วงเดือนแรกที่ดื่มนมวัวยังไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่พอดื่มไปได้สักเดือน 2 เดือน ก็จะมีอาการประเภทเป็นหวัดไม่หาย ท้องเสียบ่อย มีผื่นขึ้นตามหน้า เด็กๆก็จะเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น ดังนั้น บางครั้งเราให้การรักษา ท้องเสีย เป็นหวัด ผื่นแพ้ ก็เข้าใจว่าเป็นโรคธรรมดาในเด็ก และโรคนี้ให้การวินิจฉัยได้ยาก ก็เลยยิ่งทำให้เด็กเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น และไม่รู้สาเหตุ และที่สำคัญคือ การแพ้โปรตีนจากนมวัวในวัยทารกเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเป็นโรคหืดเมื่อเด็กโตขึ้น
นอกจากนี้ ในระยะ 4-6 เดือนแรก เยื่อบุทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และ ระบบน้ำย่อยสารต่างๆ ของทารกยังไม่แข็งแรง ดังนั้นการได้รับ นมผสม หรืออาหารอื่น ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้อาหาร และการกระตุ้นให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง เนื่องจากนมผสม และอาหารอื่น จัดเป็นโปรตีนแปลกปลอม ในระยะที่ทารกยังมีระบบทางเดินอาหารที่ไม่แข็งแรง โปรตีนแปลกปลอมเหล่านี้จึงไม่ถูกย่อย หรือทำลายความแปลกปลอมลงไม่ให้ได้มีโอกาสเล็ดลอดไปก่อให้เกิดการแพ้ได้ง่าย
โดยมีงานวิจัยชัดเจนที่ทบทวนอุบัติการณ์ของโรคแพ้โปรตีนนมวัว พบว่าอยู่ระหว่าง 1.8-7.5% ของทารก และถ้าทารกมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ในครอบครัว การที่ทารกได้รับนมผสมจะมีโอกาสเกิดโรคแพ้โปรตีนนมวัวถึง 20% ในขวบปีแรก แต่ถ้าได้รับนมแม่อย่างเดียวมีโอกาสเกิดเพียง 0.5-1.5%
อีกทั้ง นักวิชาการทั่วอาจจะสงสัยว่า ได้นมแม่อย่างเดียวแล้ว ทำไมยังเป็นแพ้โปรตีนนมวัว พบว่ามีความสัมพันธ์กับการที่แม่ กินนมวัว ระหว่างตั้งครรภ์ หรือระหว่างให้นมลูกมากไป เช่นดื่มกันเป็นลิตรต่อวัน แนะนำว่าถ้าชอบนม ก็ให้ได้นมวันละไม่เกิน 2-3 แก้ว
โลกยืนยันชัดเจนว่า นมแม่เป็นอาหารมหัศจรรย์ที่ดีที่สุดสำหรับทารก โดยเฉพาะระยะ 6 เดือนแรกของชีวิต เพราะทารกที่กินนมแม่จะเจ็บป่วยน้อยกว่าเด็กที่ได้รับนมผสม 2-7 เท่า เพราะนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับทารก ช่วยสร้างเสริม-ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ถ้าเจ็บป่วย ก็จะหายเร็วกว่า เช่น เด็กที่กินนมแม่จะท้องเสียเพียง 3 -4 % ขณะที่เด็กที่กินนมผสมมีโอกาสท้องเสียถึง 15 %
นอกจากนี้ การให้เด็กดื่มนมผสมตั้งแต่แรกเกิดยังทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะได้รับภูมิต้านทานโรคที่ดี ซึ่งมาจากน้ำนม “โคลอสตรัม” น้ำนมที่หลั่งออกมาครั้งแรก ๆ ในระยะหลังคลอด ซึ่งมีภูมิคุ้มกันและวิตามินที่สำคัญสูงกว่านมระยะหลังถึง 10 เท่า เด็กจึงปลอดภัยจากโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ท้องเสีย หรือปอดบวม เนื่องจากระยะแรกเกิดนั้น แม้ในช่วงนี้สมองของเด็กจะมีพัฒนาการที่เร็วมาก แต่ร่างกายก็มีความบอบบางมากเช่นกัน ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และเป็นสิ่งที่นมผสมไม่สามารถเติมสารใด ๆ เลียนแบบได้เลย และการที่ไม่ให้ลูกดื่มนมแม่ตั้งแต่แรก ยังพลาดโอกาสที่สำคัญที่สุดที่จะได้รับอาหารที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางสมอง ซึ่งถือว่า ทารกในช่วง 6 เดือนแรกนี้ สมองจะมีการเติบโตที่รวดเร็วมาก ดังนั้นการให้อาหารที่เหมาะสมกับการเติบโตของสมองทารกจะช่วยให้เด็กมีความเฉลียวฉลาด
ยิ่งไปกว่านั้น การให้ลูกดื่มน้ำนมแม่จากอก ยังเป็นการเพิ่มการโอบกอดสัมผัสที่แม่ได้ให้กับลูกได้มากขึ้น โดยสัมผัสดังกล่าวช่วยให้สมองของทารกมีการเชื่อมต่อ อันส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของตัวเด็ก
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัทเพนเน็ตเทรท จำกัด ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ โทร 02-511-2046-7
กรัณฑฤทธิ 089-777-1735 , จรรยา 081-995-9945
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net