สสส.จัดเวทีระดมกึ๋นหมู่บ้านพอเพียง…ตั้งเป้าขยายผลดำเนินงานครอบคลุมทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday August 24, 2010 10:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สสส. สสส.จัดเวทีร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โครงการหมู่บ้านพอเพียงฯ ทั่วประเทศ ต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ให้สมาชิก พร้อมหนุนผู้รับทุนปี 2-3 สร้างเครือข่ายน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รศ.ดร.วงศา เลาหศิริวงศ์ ผู้จัดการโครงการผู้ประสานงานติดตามสนับสนุนและประเมินผลโครงการร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียงเพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้รับทุนโครงการร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียงเพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืนทั่วประเทศจำนวน 106 โครงการ แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 45 โครงการ ภาคใต้ 8 โครงการ ภาคกลาง 14 โครงการ และภาคเหนือ 39 โครงการ ซึ่งหลังจากที่แต่ละโครงการได้รับทุนเพื่อนำไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว แต่ละปี สสส. จะกำหนดจัด “เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนกันและกัน สานสายใยเครือข่ายโครงการร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืน” เพื่อให้เกิดการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ได้รับทุนทั้ง 4 ภาค ซึ่ง สสส. จะเลือกโครงการตัวอย่างที่มีผลการดำเนินงานประสบความเสร็จเป็นที่ยอมรับ จากนั้นจะให้ผู้ได้รับทุนลงพื้นที่มาศึกษาดูงานของโครงการตัวอย่าง และร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ มีการนำเสนอการดำเนินงานของแต่ละโครงการ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุงและนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับโครงการของตนเองต่อไป โดยในปี 2553 สสส. ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้แต่ละภาคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โครงการหมู่บ้านพอเพียงฯ บ้านหวาย และบ้านนาบอน จ.กาฬสินธุ์ ภาคกลาง ที่โครงการหมู่บ้านพอเพียงฯ บ้านหนองข่อย จ.ลพบุรี ภาคใต้ ที่โครงการหมู่บ้านพอเพียงฯ บ้านสวนพลู จ.พังงา และภาคเหนือ ที่ โครงการหมู่บ้านพอเพียงฯ บ้านร่องเคาะ และบ้านหัวทุ่ง จ.ลำปาง ทั้งนี้จากการติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละโครงการที่ได้รับทุน พบว่าแต่ละโครงการ มีความต่อเนื่องและขยายการดำเนินงานจนมีสมาชิกสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้นกว่าแรกเริ่ม โดยแนวทางหนึ่งที่ สสส. ได้ส่งเสริมแต่ละโครงการ คือ ให้ชาวบ้านวิเคราะห์ปัญหาด้วยตัวเอง และหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อขาดเหลือหรือต้องการความช่วยเหลือจึงค่อยร้องขอการสนับสนุนจากทางราชการ ชุมชนจึงสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง โดยโครงการที่ได้รับทุนเป็นปีแรกก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ ส่วนโครงการที่ได้รับทุนเป็นปีที่ 2 และ 3 ก็จะส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ขยายเครือข่ายต่อไป ซึ่งการดำเนินงานของโครงการบางแห่งได้กลายเป็นหลักสูตรชุมชน มีการดึงเด็กและเยาวชนมาเป็นแนวร่วมการดำเนินงาน นอกจากนี้แล้วยังขยายองค์ความรู้ไปยังพื้นที่ข้างเคียง และพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย การดำเนินงานของแต่ละโครงการมีจึงความมั่นคง ซึ่งปีต่อๆ ไปที่ต้องทำ คือ การต่อยอดโครงการ หรือการพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน และการดึงสมาชิกมาเข้าร่วมให้มากที่สุด โดยปัจจัยที่จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน คือ ต้องมีกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สร้างเครือข่ายเพื่อให้แต่และโครงการได้รับศึกษาจนเกิดประสบการณ์ใหม่ๆ เกิดการแลกเปลี่ยน เกิดแนวทางการดำเนินงานใหม่ๆ จนกลายเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นตัวอย่างต่อไปในอนาคต “สิ่งที่คาดหวังจากนี้ไป คือ อยากให้แต่ละโครงการ มีศักยภาพในการเผยแพร่ การดึงคนอื่นให้มาร่วมคิด ร่วมทำ เพราะบางโครงการถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่น่าจะเป็นต้นแบบ ซึ่งเมื่อหากมีการขยายไปทั่วประเทศ หรือแต่ละท้องที่ได้นำไปเป็นแบบอย่าง เชื่อว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะประสบความสำเร็จทั่วประเทศได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นจะต้องทำอย่างไรให้โครงการดีๆ ได้เผยแพร่สู่สาธารณชนให้มากที่สุด ซึ่งง่ายที่สุด คือ การสร้างเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้กับพื้นที่ใกล้เคียงให้ได้มากที่สุด และ สสส. จะเข้าไปขยายผลส่งเสริมแต่ละโครงการให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยใช้ภาพลักษณ์ของ สสส. ที่มีแนวคิด “คิดดี มุ่งดี สุขภาพดี” มาเป็นการแรงดึงดูดให้โครงการนั้นๆ” รศ.ดร.วงศา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ